xs
xsm
sm
md
lg

“เผดิมชัย” ส่งทีมเจรจานิคมอุตฯ เปิดช่องยืมตัวแรงงานน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน เร่งระดมความช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วม ส่งทีมเจรจานิคมอุสาหกรรมในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ย้ายงานไปจังหวัดใกล้เคียงได้ โดยไม่ถูกเลิกจ้าง พร้อมเปิดตำแหน่งงานว่างกว่า 5.7 หมื่นอัตรารองรับ ด้านปลัดแรงงานไม่ชะลอปรับค่าจ้าง คาดสถานการคลี่คลายก่อน 1 ม.ค. 55

วันนี้ (10 ต.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวภายหลังการประชุมช่วยเหลือวิกฤตน้ำท่วม ว่า จากการประเมินตัวเลขความเสียหายล่าสุด พบว่า ที่ จ.อยุธยา แห่งเดียว มีสถานประกอบการ และแรงงานได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีแรงงานกว่า 1 แสนรายที่ต้องหยุดงานไปแล้ว ดังนั้น กระทรวงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ

โดยมีคำสั่งให้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน เร่งเข้าไปเจรจากับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะนิคมฯใน จ.อยุธยา จ.ลพบุรี จ.ชัยนาท และ จ.นครสวรรค์ ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานให้สามารถย้ายงานไปทำงานที่อื่นได้โดยยังคงสภาพการจ้างงานที่บริษัทเดิมเอาไว้ ซึ่งหลังจากน้ำลดแล้วลูกจ้างสามารถกลับมาทำงานที่บริษัทเดิมได้ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน

“โดยการเสนอโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบไปทำงานในจังหวัดที่ใกล้เคียง อาทิ ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร และ สมุทรปราการ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยไม่มีการเลิกจ้าง ซึ่งล่าสุด มีโรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี แจ้งว่า สามารถรับแรงงานที่ประสบน้ำท่วมมาทำงานชั่วคราวได้จำนวน 700 คน” รมว.แรงงาน กล่าว

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าไปตั้งศูนย์ช่วยเหลือในการประกอบอาหารในพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา วันพรุ่งนี้ เพื่อส่งแจกจ่ายเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้วันละ 10,000 กล่อง ขณะนี้ได้สั่งการให้อาสาสมัครแรงงานในจังหวัดที่น้ำท่วม เป็นศูนย์กลางสำรวจและให้การช่วยเหลือประชาชน ทั้งส่งอาหารและถุงยังชีพเข้าไปช่วยเหลือ รวมไปถึงให้สำนักงานประกันสังคมประสานโรงพยาบาลคู่สัญญา ส่งทีมแพทย์ไปให้การช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดที่ประสบภัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

สำหรับมาตรการช่วยเหลือในระยะยาวนั้น นายเผดิมชัย กล่าวว่า มอบหมายกรมการจัดหางานเตรียมหาตำแหน่งงานว่างที่ใกล้เคียงให้ผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบในกรณีถูกเลิกจ้าง ซึ่งขณะนี้มีอัตราว่างรองรับแล้วกว่า 57,000 ตำแหน่ง ในจังหวัดที่ใกล้เคียง ได้แก่ ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ รวมไปถึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมเข้าซ่อมแซมบ้านเรือน วัด สถานที่สาธารณะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรทางการเกษตร ให้กับประชาชนหลังน้ำลด

ขณะเดียวกัน ได้ให้ทางสำนักงานประกันสังคม เตรียมเงินกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตน เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน ในวงเงินกู้ 8,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 คงที่ 2 ปี และสถานประกอบการ เพื่อฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรม ในวงเงินกู้ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 3 ปี

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ ที่เข้าร่วมโครงการปล่อยกู้ มี 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยสามารถกู้ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2555

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ใน 58 จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมี 30 จังหวัดที่มีสถานประกอบการ 9,369 แห่ง และผู้ใช้แรงงาน 160,915 คน ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการไม่กระทบแต่ลูกจ้างเดือดร้อน 636 แห่ง ลูกจ้าง 244,819 คน ส่วนสถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวัง 269 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 187,285 คน และมีสถานประกอบการ 2 แห่ง ลูกจ้าง 4,224 คน ที่ไม่ประสบน้ำท่วมแต่กระทบเพราะมีการปิดนิคมอุตสาหกรรมในอยุธยา

ด้านนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นางสาวส่งศรี บุญบา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน จัดสรรเจ้าหน้าที่ในสังกัดแต่ละหน่วยงานของกระทรวง ไปประจำที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อให้คำแนะนำกับผู้ใช้แรงงาน หรือสถานประกอบการต่างๆในมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะโครงการกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม จากสำนักงานประกันสังคม รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ผู้ใช้แรงงานจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างจากกรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การหางานว่าง จากกรมการจัดหางาน และการฝึกอาชีพระหว่างรองาน จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน


ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเสนอของผู้ประกอบการที่กังวลว่าหากมีการปรับค่าจ้างยิ่งจะเป็น การซ้ำเติมสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมว่าควรชะลอหรือผ่อนผันการปรับค่าจ้าง ในส่วนของผู้ที่กระทบก่อน ว่า ในเรื่องนี้ต้องนำหารือในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ก่อน อย่าง ไรก็ตามเชื่อว่าเมื่อมีการปรับค่าจ้างและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 นั้นสถานการณ์จะคลี่คลาย ผนวกกับมาตรการช่วยเหลือต่างๆจากภาครัฐ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถจ่ายค่าจ้างได้
กำลังโหลดความคิดเห็น