อธิบดี กสร.เผย ยอดสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ล่าสุด สูงถึง 1,215 แห่ง ลูกจ้าง 41,099 คน ในพื้นที่ 33 จังหวัด “นิคมโรจนะ” จ่อท่วมอีก 179 โรงงาน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างอยู่ได้ คาด อุ้มได้แค่ 2 เดือน พร้อมเตรียมมาตรการหลังน้ำลดเยียวยา ชี้แรงงานอาจถูกเลิกจ้าง ปลัดแรงงานคาดนิคมอุตสาหกรรมรัตนนครเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายอาทิตย์ อิสโม ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลให้สถานประกอบการในพื้นที่ประสบปัญหาต้องหยุดการดำเนินงาน และส่งผลกระทบให้ลูกจ้างขาดรายได้ จากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่ กสร.เมื่อวันที่ 5 ต.ค.พบว่า มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัย และได้รับผลกระทบ 43 จังหวัด โดยภาพรวมสถานประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมด 1,215 แห่ง ลูกจ้าง 41,099 คน ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดพิจิตร มีลูกจ้างได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้านและถนน จำนวน 1,061 คน จากสถานประกอบการ 62 แห่ง ส่วนจังหวัดพิษณุโลก มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 178 คน จังหวัดนครสวรรค์ มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 52 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,620 คน จังหวัดปราจีนบุรี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 11 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5,086 คน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 349 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบกว่า 20,000 คน โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมรัตนนคร 49 แห่ง และสถานประกอบการอื่นๆ ในอำเภอบางปะหัน อำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง จำนวน 300 แห่ง นอกจากนี้ ในวันนี้ (6 ต.ค.) น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งมีโรงงานอยู่ 179 แห่ง และมีแรงงานอยู่กว่า 1 แสนคน ซึ่งสถานประกอบการอยู่ระหว่างการสร้างแนวการป้องกันน้ำท่วม จังหวัดเชียงใหม่ มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 30 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 522 คน
จังหวัดสิงห์บุรี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 49 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 547 คน จังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 21 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 176 คน จังหวัดอ่างทอง มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 6 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 353 คน จังหวัดอุทัยธานี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 391 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3,549 คน จังหวัดนครสวรรค์ มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 52 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,620 คน
จังหวัดสระบุรี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,831 คน จังหวัดชัยนาท มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 202 คน จังหวัดลพบุรี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 23 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5,773 คน จังหวัดอุบลราชธานี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 39 คน จังหวัดอุตรดิตถ์ มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 19 คน จังหวัดนนทบุรี มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 1 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 12 คน
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า กสร.ได้ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จากนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีที่ที่อยู่อาศัยของลูกจ้างถูกน้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ ขอความร่วมมือจากนายจ้าง ให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นความผิด 2.ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ร่วมมือกับนายจ้างในการตรวจสอบความเรียบร้อยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ในโรงงาน เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
3.ให้คณะกรรมการสวัสดิการของสถานประกอบการ ร่วมกับนายจ้าง ดูแลและสนับสนุนในการจัดสวัสดิการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างตามความเหมาะสม และ 4.ขอให้ที่ปรึกษาแรงงานหญิง เครือข่ายด้านแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน ติดตามผลกระทบและประสานเพื่อขอความช่วยเหลือ ตลอดจนให้สหภาพแรงงาน สภาองค์กรลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งผู้ประกอบการ หารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหา
“ขณะนี้กระทรวงได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมขึ้นทุกจังหวัด และได้ประสานขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ ขอให้ดูแลช่วยเหลือแรงงานเท่าที่จะสามารถทำได้ ยังไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับ เพราะเข้าใจดีว่าเดือดร้อนทั้ง 2 ฝ่าย ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับในการที่ช่วยเหลือดี โรงงานบางแห่งยังจ่ายค่าจ้างให้พออยู่ได้ ทั้งที่โรงงานได้หยุดงานไปแล้ว ซึ่งทางโรงงานก็บอกว่าจะพยายามให้ความช่วยเหลือ คาดว่าจะช่วยได้ประมาณ 1-2 เดือน” นายอาทิตย์ กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการระยะยาวหลังน้ำลด คาดว่า มีบางโรงงานอาจต้องเลิกจ้าง เนื่องจากได้รับความเสียหายหนัก กระทรวงแรงงานได้เตรียมจัดหางานรองรับ และมีการฝึกอบรมอาชีพ รวมทั้งขยายโครงการเงินกู้ของประกันสังคม ช่วยเหลือสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับความเสียหายที่ได้รับรายงานจากเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครนั้น คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้สั่งปิดนิคมฯไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-9 ต.ค.2554 และได้ให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือแก่สถานประกอบการ ตลอดจนลูกจ้างแล้ว