xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำ รง.โวย รัฐช่วยนายจ้างจ่ายค่าแรง 2 พัน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาลี ลอยสูง (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
แกนนำแรงงาน ชี้ มาตรการช่วยนายจ้างจ่ายค่าแรง 2 พัน ไม่ตรงจุด เผย นายจ้างเลิกจ้างคุ้มกว่า ไม่ต้องแบกภาระจ่ายเงินเดือน 75% แนะ ให้จ่ายกับแรงงานโดยตรง เอางบประชานิยมช่วยอุ้ม เหมือนจำนำแรงงานแทนจำนำข้าว ด้าน ก.แรงงาน ขู่ มาตรการทางสังคมสำคัญกว่า กม.ทอดทิ้งแรงงาน ระวัง! ไม่มีลูกจ้าง แนะลูกจ้างเรียกค่าชดเชยเต็มจำนวนหากถูกไล่ออก แจงรัฐจ่ายตรงแรงงานไม่ได้ เหตุต้องอุ้มนายจ้าง-ลูกจ้าง ร่วมกัน

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานที่เดือดร้อนน้ำท่วมแทนนายจ้างรายละ 2,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขให้สถานประกอบการที่จะร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และต้องเซ็นลงนามเอ็มโอยู ด้วยเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และยังคงสภาพการจ้างงานอยู่ เพื่อชะลอการเลิกจ้างและเป็นการช่วยรักษาสภาพการจ้าง ว่า มาตรการนี้มีเจตนาการช่วยเหลือที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นผู้ที่รับผลประโยชน์โดยตรง คือสถานประกอบการมากกว่า แทนที่จะเป็นลูกจ้าง

นายชาลี กล่าวว่า อยากเสนอให้ทางกระทรวงแรงงาน ไปคุยกับทางสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ว่า มีแรงงานจำนวนเท่าไหร่ที่เดือดร้อน แล้วให้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่แรงงานโดยตรง ไม่ต้องผ่านทางนายจ้าง โดยมีเงื่อนไขให้นายจ้างต้องรักษาสภาพการจ้างงานของลูกจ้างไว้ เพราะตอนนี้มาตรการนี้ช่วยเหลือเงิน 2,000 บาท ได้ประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ สถานประกอบการที่คิดว่าการคงสภาพการจ้างงาน พร้อมกับต้องจ่ายค่าจ้าง 75% ของเงินเดือน เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานไว้ และรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 2,000 บาทนั้น ไม่คุ้มค่า เท่ากับการเลิกจ้าง ที่สถานประกอบการไม่ต้องแบกรับต้นทุนเงินเดือนในขณะที่โรงงานไม่มีการผลิต

“มาตรการนี้ทำให้ลูกจ้างที่เดือดร้อน ไม่สามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง เพราะต้องขึ้นกับนายจ้าง หรือสถานประกอบการว่าจะยอมทำตามเงื่อนไข เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท จากรัฐบาลหรือไม่ หากนายจ้างคิดว่าไม่คุ้มค่า และไม่ต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็เท่ากับว่าลูกจ้างถูกตัดสิทธิ์จากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปโดยปริยาย” นายชาลี กล่าว

นายชาลี กล่าวอีกว่า การที่รัฐให้เงินช่วยเหลือตรงนี้ ก็เหมือนกับการจำนำข้าว แต่ตอนนี้เราเกิดปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำท่วม ก็อยากให้นำงบของประชานิยม มาใช้ในส่วนนี้ ซึ่งเหมือนเป็นการจำนำแรงงานแทน
นายอาทิตย์ อิสโม
ด้าน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า หากนายจ้างคิดว่าการที่เลิกจ้างลูกจ้างคุ้มค่ากว่าการรับมาตรการช่วยเหลือ 2,000 บาท นั้น คิดว่าไม่คุ้ม เพราะต่อไปลูกจ้างก็จะไม่เข้ามาสมัครงานกับโรงงานนั้นอีก มาตรการทางสังคมนั้นสำคัญมากกว่ามาตรการทางกฎหมาย ส่วนสถานประกอบการไหนที่ให้เงินเดือนลูกจ้างเต็ม 100% ทาง ก.แรงงาน ก็มอบเกียรติบัตรยกย่อง แต่ถ้าสถานประกอบการใดเลิกจ้าง ก็ขอให้ลูกจ้างเรียกร้องให้ทางนายจ้างจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนแก่แรงงานด้วย และยังมีในส่วนของประกันสังคมที่จะช่วยประกันการว่างงานด้วยการให้เงิน 50% เงินเดือน จำนวน 6 เดือน

ส่วนข้อเสนอที่จะให้กระทรวงแรงงาน จ่ายตรงให้กับแรงงานเลยนั้น คิดว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะจุดประสงค์ของมาตรการนี้ คือ อยากให้นายจ้างกับลูกจ้างไปร่วมกัน เพราะไม่อย่างนั้นทางกระทรวงแรงงาน ก็ไม่สามารถต่อรองหรือบังคับนายจ้างให้คงสภาพการจ้างได้ เพราะการช่วยเหลือเงิน 2,000 บาท ในระยะเวลา 3 เดือน เป็นการช่วยให้สถานประกอบการจ่ายเงินให้ครบตามกฎหมาย คือ 75% ในกรณีที่สถานประกอบการต้องมีเหตุให้ต้องหยุดการผลิตหรือปิดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” นายอาทิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ จากมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้าง 2,000 บาท ให้แก่แรงงาน ที่ได้ประกาศเมื่อ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 21 พ.ย.มีสถานประกอบการจำนวน 198 แห่ง ใน 6 จังหวัด ที่ประสบภัยน้ำท่วม มีลูกจ้างกว่า 132,022 คน ที่แจ้งเข้ามาเพื่อขอเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือนี้ จากเดิมที่ได้มีการกำหนดจำนวนลูกจ้างไว้ที่ 1 แสนคน จากงบประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเสนอขอเพิ่มงบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น