xs
xsm
sm
md
lg

พิษน้ำท่วม6แสนคนตกงาน ลดสปส.-แจก3พันอุ้มเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - สรุปวิกฤตน้ำท่วมทำคนตกงาน 6.2 แสนคน “เพื่อไทย” ไม่กล้าประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลัวทหารได้หน้า รมว.แรงงานชงแพ็คเกจช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ลูกจ้าง ชูมาตรการรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง 3 พันบาทช่วงวิกฤติ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดเงินสมทบเข้าประกันสังคม จนกลายเป็นอีกประชานิยม ฟากคสรท.ไม่เห็นด้วยชะลอขึ้นค่าจ้าง

วานนี้ (20 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ได้จัดการประชุมโดยมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว. แรงงาน เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบว่า จากการประเมินพบว่ามีผู้ใช้แรงงานราว 6.2 แสนคนที่ได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้ เบื้องต้นนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการฝึกอาชีพระยะสั้นในระหว่างว่างงาน รวมถึงการสำรวจข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือ จากผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ เพื่อนำมาประมวลผลในภาพรวมทั้งหมด ทั้งนี้ยังมีส่วนของกองทุนประกันสังคมที่จะชดเชยรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบถึงขั้นเลิกจ้าง โดยจะได้รับค่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ของกองทุนประกันสังคม คือ ร้อยละ 50 ของรายได้ ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง

**ศธ. ของบ 1.4 พันล้านซ่อมโรงเรียน

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งให้ตั้งแต่วันที่ 20 - 30 ต.ค.นี้ ข้าราชการให้หยุดทำงานประจำ และให้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประภัยน้ำท่วม ส่วนความเสียหายของสถานศึกษาในสังกัด ล่าสุดมีจำนวน 2,396 แห่ง เบื้องต้นในการประชุม ครม.วันที่ 25 ต.ค.นี้ จะมีการเสนอของบประมาณเป็นจำนวน 1.4 พันล้านบาทเพื่อซ่อมแซม

**ไม่กล้าใช้พรก.ฉุกเฉินกลัวทหารใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงกรณีที่ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายวรวัจน์ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงกรณีดังกล่าว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหากให้ทหารเข้ามีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหา ก็คงจะไม่สามารถแก้วิกฤตนี้ได้ อีกทั้งหากให้เจ้าหน้าที่ทหารลงปฏิบัติงานในพื้นที่ อาจทำให้เกิดกระกระทบกระทั่งกับประชาชนได้ เนื่องจากทหารส่วนใหญ่ยึดติดระบบทหารและเอาแต่ใจ ซึ่งในพื้นที่ใดที่มีความเครียดอยู่แล้ว ก็อาจเพิ่มความตรึงเครียดให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลยังรับมืออยู่

**คลังช่วยเหลือ SME ถูกน้ำท่วม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า เตรียมสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เสนอคณะรัฐมนตรี โดยจะจัดทำเป็นแพ็คเกจ ทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ขยายกำลังการผลิต และฟื้นฟูกิจการ

**ทส.พบพื้นที่น้ำเน่ากว่า 2 ล้านไร่

นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ประสบอุทกภัยว่า ข้อมูลเบื้องต้น พื้นที่น้ำเน่าเสีย ประมาณ 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น บ่อกำจัดขยะที่ถูกน้ำท่วม น้ำเน่าเสียใกล้เขตชุมชน และน้ำเน่าเสียในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งทางกระทรวง ร่วมกับกองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

**ชงแพ็คเกจอุ้มลูกจ้าง-นายจ้าง

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ โดยมีสภาพัฒน์ฯ ร่วมอยู่ด้วย จะพิจารณา และสรุปผล เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งในวันอังคารที่ 25 ต.ค.นี้

กระทรวงแรงงานเสนอแบ่งเป็น 2 เรื่องคือ มาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการ แยกเป็น 1.โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ให้สถานประกอบการกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่ 3 ปี ผู้ประกันตน รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี คงที่ 2 ปี

2.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เห็นชอบหลักการ อนุมัติเงินฝาก 1 หมื่นล้านบาท ให้ธนาคารปล่อยกู้ให้สถานประกอบการ 3.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน จากเดิมที่กำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% และสถานประกอบการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นอัตราดอกเบี้ย 0.1% เป็นระยะเวลา 1 ปี 4.การลดเงินสมทบประกันสังคม อยู่ระหว่างการพิจารณา

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกจ้างที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง จัดให้มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน จัดหาตำแหน่งงานรองรับให้แก่ลูกจ้างที่เดือดร้อน เข้าทำงานในสถานประกอบการใกล้เคียง เป็นการชั่วคราว 18,857 อัตรา, โครงการป้องกันและชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐบาลจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขนายจ้างต้องทำ MOU ว่าจะไม่เลิกจ้าง และจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง โดยมีเป้าหมาย 6 แสนคน จะเสนอของบกลางจากรัฐบาล 5,400 ล้านบาท

กลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ประกอบด้วย 1.ให้มีการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2.ใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยให้ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ โดยจะพิจารณาจ่ายไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างรายวัน ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงิน 259 ล้านบาท

3.ประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม โดยจ่าย 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน และ 4.จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 99,245 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการบริการ การผลิต และช่าง อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในวันนี้ (21 ต.ค.)

**โต้สภาอุตฯชะลอขึ้นค่าจ้าง300บ.**

นายเผดิมชัย กล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอมาตรการ 3 แนวทาง เพื่อช่วยเหลือสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วม โดย 1.ให้ชะลอหรือเลื่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ออกไปเป็นต้นปี 2556 เพื่อให้สถานประกอบการมีเวลาฟื้นฟู 1 ปี 2.เว้นการส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สปส. 5% เป็นเวลา 1 ปี โดยยังคงสิทธิประโยชน์ และ 3.ให้กระทรวงแรงงานนำเงินกองทุนประกันการว่างงาน สปส.ที่มีอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท มาจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ว่า ในเรื่องของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นมติของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งได้มีมติไปแล้ว ฝ่ายการเมืองไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้

ส่วนเรื่องการเว้นส่งเงินสมทบและการใช้เงินกองทุนประกันว่างงาน สปส.นั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ สปส.จะต้องพิจารณา และอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำหนดกรอบการใช้เงินไว้

**คสรท.ไม่เห็นด้วยชะลอขึ้นค่าจ้าง**

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ข้อเสนอที่ ส.อ.ท.เสนอขอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยการชะลอหรือเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงจากวันที่ 1 เมษายน 2555 ออกไปเป็นต้นปี 2556 นั้น ทาง คสรท.ไม่เห็นด้วย ขณะนี้ค่าครองชีพก็สูงขึ้น ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องหารมาตรการในการช่วยเหลือต่อไป

สำหรับข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการส่งเงินสมทบเป็นเวลา 1 ปี โดยลูกจ้างยังได้รับสิทธิประโยชน์ดังเดิมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม ที่จะพิจารณาซึ่งตนมองว่าก็ต้องแยกเป็นรายกรณีที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่ใช่เหมารวมนายจ้างทั้งหมด

ส่วนการเสนอขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณานำเงินกองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน มาจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงปิดกิจการรอการฟื้นฟู เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยไม่มีการเลิกจ้างนั้น นายชาลี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปดูข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น