xs
xsm
sm
md
lg

42 บริษัทฟ้องศาลระงับขึ้นค่าจ้าง 300

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัดแรงงาน เผย 42 บริษัทฟ้องศาลปกครองปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไม่เป็นตามกฎหมาย ยืนยันบอร์ดค่าจ้างพิจารณาตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายแถมมีมติเอกฉันท์ ห่วงกระทบคุณภาพชีวิตแรงงานกว่า 5.4 ล้านคนเงินเดือนต่ำกว่า 9 พันบาท

วันนี้ (15 มี.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงศาลปกครอง กรณีบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัดกับพวก 42 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ในข้อหาการออกประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีก 40% ทั่วประเทศ ส่งผลทำให้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และ นนทบุรี ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่า ในวันนี้เป็นการไปเบิกความครั้งแรก ซึ่งในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้างก็ได้ชี้แจงว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นไปตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

ทั้งนี้ ในมาตรา 87 ดังกล่าว ว่าด้วยเรื่องการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นๆ โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานและผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) และสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคณะกรรมการได้นำมาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั้งหมด

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ส่วนขั้นตอนการพิจารณาก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบในการพิจารณาเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทุกจังหวัดสำรวจข้อมูล เช่น ค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ ราคาสินค้า นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการวิชาการกลั่นกรองพิจารณาอีกรอบ และในปีนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมการปรับขึ้นมาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เป็นการเฉพาะเพิ่มอีกหนึ่งคณะด้วย ซึ่งหากเทียบกับปีที่ผ่านมาปีนี้การพิจารณาเป็นไปอย่างละเอียดและรอบคอบมากกว่าทุกปี

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น ก็ได้ชี้แจงต่อศาลว่า ในการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างทุกครั้ง นอกจากใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังได้นำข้อมูลในเรื่องนโยบายรัฐบาลเข้ามาประกอบในการพิจารณาด้วย เนื่องจากในการออกนโยบายของทุกๆรัฐบาล จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะฉะนั้น บอร์ดค่าจ้างกลางจำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

ซึ่งนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เพื่อยกระดับค่าครองชีพของประชาชน

ทั้งนี้ การพิจารณาซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนฝ่ายหน่วยงานรัฐ นายจ้างและลูกจ้างในวันที่มีการลงมติมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 14 คนครบองค์ประชุมแยกเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง 5 คน ลูกจ้าง 5 คนและหน่วยงานรัฐ 4 คนโดยไม่นับประธานบอร์ด ซึ่งมติที่ออกมาก็เป็นไปโดยเอกฉันท์ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน ไม่มีเสียงคัดค้าน จนนำไปสู่การประกาศปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มอีก 40% ทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคเอกชนมีข้อกังวลในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างในด้านใดบ้าง ทางภาคเอกชน ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภาคเอกชนโต้แย้งว่า บอร์ดค่าจ้างได้นำอัตราเงินเฟ้อล่วงหน้า 4 ปีมาคำนวณเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องพิจารณาตามสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่คาดการณ์ล่วงหน้า

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นบอร์ดได้นำตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีมาใช้คำนวณซึ่งพบว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย 10 ปี มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางบอร์ดค่าจ้างไม่ได้ดูแค่อนาคต แต่เราได้นำข้อมูลในอดีตมาเปรียบเทียบด้วย ก็ได้พบว่าอัตราค่าจ้างก็ยังอยู่ในอัตราต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างมาก

“ผมยืนยันว่า ไม่หนักใจกับเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องปกติหากมีฝ่ายใดไม่เข้าใจ ก็ต้องทำหน้าที่ในการชี้แจงตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้ค่าจ้างอัตราบังคับใช้ได้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานกว่า 5.4 ล้านคนที่รอรับค่าจ้างอัตราใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอัตราเงินเดือนต่ำกว่า 9 พันบาท” นพ.สมเกียรติ กล่าว

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หากศาลมีคำพิพากษาอย่างไรก็พร้อมน้อมรับเพราะเคารพในคำตัดสินของศาล แต่ก็เชื่อว่า ศาลจะให้ความกรุณา อย่างไรก็ตาม จะให้กระทรวงแรงงาน แจ้งไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้รับทราบ และหากเป็นไปได้ จะเสนอเรื่องนี้เป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรในช่วงเดือน มี.ค.นี้ที่ จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ บริษัทที่ยื่นฟ้องศาลมี 42 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 2.โรงงานพิพัฒน์เจริญ 3.บริษัท วังทองผลพืช จำกัด 4.บริษท พี.อี.เทคนิค จำกัด 5.บริษัท สตาร์โพลีเมอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด 6.บริษัท เคอร่าไทล์ เซรามิก จำกัด 7.บริษัท ธำมรงค์ จำกัด 8.บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอ จำกัด 9.บริษัท ไทยโตชิบา อุตสาหกรรม จำกัด 10.บริษัท ไทยคาเนตะ จำกัด

11.บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด(มหาชน) 12. บริษัท กุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด 13.บริษัท กุลธรสตีล จำกัด 14.บริษัท ราชาเซรามิค จำกัด 15.บริษัท ราชาปอร์ชเลน จำกัด 16.บริษัท ราชาโซล่าร์ แมททีเรียล จำกัด 17.บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด 18.บริษัท ราชาชูรส จำกัด 19.บริษัท เซ็นเตอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด 20.บริษัท เอ็ม เอ็ม พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

21.บริษัท ลักกี้แคนเนอรี่ จำกัด 22.บริษัท กรีนสเตย์ จำกัด 23.บริษัท ไทยเอ็นเนอร์ยี่คอนเซอร์เวชั่น จำกัด 24.บริษัท ปาริสา อินดัสตรีส์ จำกัด 25.บริษัท ทวีไทยอีเล็คโทรนิค พลาสติกและโมลด์ จำกัด 26.บริษัท ไทยฟอร์จจิ้งเอนจีเนียริ่ง จำกัด 27.บริษัท เอส.พี.บี. เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด 28.บริษัท อินทริ-เพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด 29.บริษัท เอ็มเอ็มไอ พรีซีซั่น ฟอร์มิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด 30.บริษัท สเปเชียล บิซิเนส จำกัด

31.บริษัท เอส.พี.บี.เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด 32.บริษัท นิปปอน ซุปเปอร์ พรีซิชั่น จำกัด 33.บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด 34.บริษัท แวนด้าโฟรเซ่น จำกัด 35.บริษัท แวนด้าพรีเสิร์ฟฟู้ด จำกัด

36.บริษัท เอ็มบีพี เลเธอร์ อินดัสทรีส์ จำกัด 37.บริษัท อลูคอน จำกัด (มหาชน) 38.บริษัท กัลฟ์ โคชท คแร็บ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 39.บริษัท ตราดมั่นคงวัสดุก่อสร้าง(2552) จำกัด 40.บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด 41.ห้างหุ้นจำกัดปัตตานีคอมเมอร์เชียล และ 42.บริษัท โกลด์เด้น ซีฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แต่แรงงานไม่เห็นด้วยที่นายจ้างจะมาฟ้องร้องในช่วงนี้ เพราะแรงงานกำลังลำบาก เนื่องจากค่าครองชีพและราคาสินค้าแพงขึ้นมาก

ประธาน คสรท.กล่าวอีกว่า ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน ทางแรงงานก็จะไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางและออกประกาศเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน แรงงานก็จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งจะต้องทำให้เกิดผลจริง ไม่ใช่หาเสียงไว้แล้วทำไม่ได้ ทั้งนี้ นโยบายนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของแรงงานทั่วประเทศเพราะขณะนี้แรงงานกำลังเดือดร้อนหนักจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและราคาสินค้าแพงขึ้น

“ตอนนี้ผมได้แต่ภาวนาให้ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน เพราะตอนนี้ค่าครองชีพ ข้าวของสินค้าต่างๆ มีราคาแพงขึ้นมาก พวกเราฝ่ายแรงงานเดือดร้อนหนัก แต่รัฐบาลกลับไม่ได้มีมาตรการดูแลควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพอย่างจริงจัง หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้าง พวกเราก็จะหารือกันว่านอกจากการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จะเคลื่อนไหวกันอย่างไรต่อไป รวมทั้งจะดูท่าทีการเคลื่อนไหวของฝ่ายนายจ้างและรัฐด้วย อาจจะต้องมีการชุมนุมเพื่อกดดันให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายให้เกิดผลจริง ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉย รวมทั้งไม่ยอมแก้ปัญหาราคาสินค้า หลังศาลมีคำตัดสินก็จะมีการเคลื่อนไหว” นายชาลี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น