xs
xsm
sm
md
lg

“สภาซ้อนรัฐสภา ”นี่หรือ ! คือประชาธิปไตยของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

โดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ได้เกิด “รัฐสภาไทย” ทำหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว แต่รัฐสภาไทยก็สามารถออกกฎหมายด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนาจรัฐสภาไทยจัดตั้งสภาขึ้นใหม่ คือ “ สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “ ส.ส.ร” เป็น “ สภาซ้อนรัฐสภา” และให้มีอำนาจหน้าที่ที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไทยที่จะกระทำได้ คือ ให้มีอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550

จึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในโลกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐสภาไทยใช้เสียง 399 เสียง สามารถจัดตั้ง “ สภาซ้อนสภา” ให้ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติที่ “ รัฐสภาไทย” ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ตามรัฐธรรมนูญ


“ รัฐสภาไทย ” มาจากการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปไม่มีอำนาจการปกครองที่เด็ดขาดของรัฐบาลในขณะนั้น แต่การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภาใหม่ เป็นการเลือกตั้งในขณะที่รัฐสภาและรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการใช้อำนาจรัฐทั้งทางนิติบัญญัติและทางบริหาร การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงอาจมิใช่เป็นการเลือกตั้งที่มาจากการเลือกตั้งโดยอำนาจของประชาชนที่แท้จริง สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงอาจเป็นเพียง “ สภาเงา” ของ “รัฐสภาไทย” และให้ทำหน้าที่ที่รัฐสภาไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้ตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้แก่ฝ่ายบริหารซึ่งมีเสียงข้างมากใน “รัฐสภาไทย” เท่านั้น

และด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงต่อสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีอายุการใช้งานในรัฐสภามาเป็นเวลานาน หรือสมาชิกรัฐสภาที่ขันอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ย่อมจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งใน “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ของวิชาการในการปกครองบ้านเมือง ทั้งทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐประศาสโนบาย เป็นอย่างดีโดยจะต้องรู้ว่า รัฐสภานั้นมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตราใด มาตราหนึ่ง หรือจะแก้ไขทุกมาตราเป็นรายมาตราก็กระทำได้ หรือจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 มาตราใดมาตราหนึ่งเป็นรายมาตรา ก็ย่อมกระทำได้เช่นเดียวกัน

ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 หมวด 7 เรื่องการเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 86 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ การแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญ ให้ระบุมาตราที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกไว้ในหลักการ หรือระบุไว้ในเหตุผลด้วยก็ได้ ”

ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 86 ดังกล่าวย่อมเป็นการยืนยันได้ว่า รัฐสภาได้ทราบเป็นอย่างดีว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และไม่มีอำนาจจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ และไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จะตั้งสภาอื่นหรือ “ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ” ขึ้นทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อล้มเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เลย


การใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสภาใหม่ เพื่อให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ไม่ใช่เป็นอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา แต่เป็นการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญในคราบของรัฐสภา เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นิติบัญญัตินอกรัฐธรรมนูญและเหนือรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ย่อมเป็นการฉ้อฉลโดยรัฐสภาเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ตามความประสงค์ของเสียงข้างมากในรัฐสภา

มีปัญหาว่า การที่รัฐสภาโดย 399 เสียง ได้ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญแฝงทางรัฐสภาในการตั้งสภาใหม่ซ้อนรัฐสภา เพื่อให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น จะเกิดผลในทางกฎหมายอย่างไร

1. สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และได้รับมอบหมายจากปวงชนชาวไทยให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ( Legislative power ) คือ การออกกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และยกเลิกกฎหมาย โดยหลักการแล้วอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัตินั้น เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของรัฐสภา โดยรัฐสภาจะมอบหมายอำนาจดังกล่าวให้ผู้อื่น หรือองค์กรอื่นทำแทน หรือจะยัดเยียดอำนาจดังกล่าวให้ผู้อื่นทำแทนไม่ได้ ( delegated legislation ) ซึ่งต่างกับอำนาจบริหาร ( Executive power ) ที่สามารถมอบหมายอำนาจการบริหารให้ผู้อื่น หรือองค์กรอื่นทำหน้าที่ในการบริหารได้ ( Decentralization ) เมื่ออำนาจในทางนิติบัญญัติเป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐสภาแล้ว รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติที่จะออกกฎหมายให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติแทนรัฐสภาได้เลย การที่รัฐสภาออกกฎหมายเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ซ้อนกับรัฐสภา จึงเป็นการที่รัฐสภาได้กระทำการอันเป็นการขัดต่ออำนาจหน้าที่ของตนเอง ที่ต้องกระทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา

สภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น จึงไม่มีผลเป็นสภานิติบัญญัติและไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เลย
ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น “สภาเถื่อน”

คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจดำเนินการเลือกตั้งได้ เพราะเป็นการดำเนินการเลือกตั้งโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการออกกฎหมายให้มีการจัดการเลือกตั้งก็ตาม กฎหมายที่ออกมานั้นก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย การดำเนินการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะกลายเป็นการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ได้

2. รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในตัวเองที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 เท่านั้น เมื่อรัฐสภาไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา 291 ด้วยอำนาจของตนเองแล้ว อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าโดยการออกกฎหมายให้อำนาจสภาร่างรัฐธรรมนูญกระทำก็ตาม และไม่อาจทำได้โดยการมอบอำนาจให้สภาร่างรัฐธรรมนูญกระทำการดังกล่าวได้ การกระทำการดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากปวงชนชาวไทยในฐานะเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เพราะปวงชนชาวไทยเลือกตั้งให้รัฐสภามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ได้ให้รัฐสภามามีอำนาจมอบหมายอำนาจนิติบัญญัติให้สภาอื่นมาทำหน้าที่แทนรัฐสภาได้ การที่รัฐสภาออกกฎหมายโดยพิจารณาให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฯ เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่นิติบัญญัตินั้น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

3. รัฐสภาย่อมต้องทราบดีว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่อง“ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ” ไว้ต่างหากจากมาตรา 291 โดยได้นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 136 (16 ) และ “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291” ตามมาตรา 136 (16) นั้น ก็ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดที่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการ การเสนอ การพิจารณา การออกเสียงเกี่ยวกับ “ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291” ไว้เลย ทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) ก็ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภา “ ให้ความเห็นชอบ” ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไว้แต่อย่างใด

ซึ่งต่างกับบทบัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 145 หรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามมาตรา 153 วรรคสอง ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 136 (9) (11) ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการ การเสนอ การพิจารณา การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 139 ถึงมาตรา 152 และมาตรา 136 (9 ) ( 11 ) ก็ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจ “ให้ความเห็นชอบ” ในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นได้

การที่รัฐสภาโดย 399 เสียงที่ได้ออกเสียงให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่…….)พ.ศ. ….. นั้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 (16) อย่างชัดแจ้ง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291ได้
ดังเช่นที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 136 ( 9 ) ( 11 )

การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไว้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้เลย ไม่ว่ากรณีใด การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา291 ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของประชาชนโดยตรงที่จะให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้หรือไม่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา291 เป็นช่องทางที่จะยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ ทั้งเป็นช่องทางของการแสวงหาอำนาจ แสวงหาประโยชน์จากอำนาจให้กับตนเอง ( รัฐสภา) ได้ และถ้ารัฐบาลมีเสียงข้างมากในรัฐสภาโดยระบบพรรคการเมืองแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นช่องที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพื่อการรักษาอำนาจเบ็ดเสร็จของพรรคการเมืองซึ่งนำไปสู่ระบบเผด็จการได้ หากรัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) รัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้เลย รัฐสภาจะพิจารณาได้แต่วิธีการและหลักเกณฑ์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้เท่านั้น แต่จะให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภากระทำได้ รัฐสภาจะต้องดำเนินการตามบริบท ( Preamble) ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยต้องทำประชามติเห็นชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการและหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้หรือไม่ และจะให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวได้หรือไม่ เท่านั้น เมื่อทำประชามติแล้วก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291
โดยต้องเพิ่มเป็นหมวดใหม่ เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16 ) เป็นคนละเรื่อง คนละความหมายกับหลักเกณฑ์ และวิธีการของมาตรา 291

รัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) เป็นบทบัญญัติที่บ่งชี้ได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก ( Rigid Constitution ) เพราะไม่ได้ให้อำนาจรัฐสภาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้เลย

4. แม้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่….) .พ.ศ …. จะผ่านรัฐสภาไปแล้วก็ตาม และถึงแม้จะผ่านการพิจารณาไปครบวาระออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่1 ) พุทธศักราช 2555 ก็ตาม ก็ไม่มีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นการพิจารณาของรัฐสภาโดยที่รัฐสภาไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะให้ความเห็นชอบได้ตามมาตรา 136 (16) ทั้งจะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตั้งแต่ยังไม่คลอด เมื่อลูกในท้องไปท้องนอกมดลูกของแม่ ลูกก็จะต้องแท้งตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และไม่สามารถคลอดออกมาได้เลย ต้องถูกทำแท้งเท่านั้นเพื่อรักษาชีวิตแม่คือรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ กระบวนการใดที่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ( หากผ่านรัฐสภาไปแล้ว ) ก็เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง การดำเนินงานร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ การพิจารณาของรัฐสภาภายหลังการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะทั้งสิ้น

การพิจารณาให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯของรัฐสภาเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนรัฐสภา เป็นการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญและทำหน้าที่ที่นอกขอบเขตของการเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ทั้งเป็นการกระทำเพื่อให้อำนาจแก่ตนเองในการแต่งตั้งหรือเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือแต่งตั้งสมาชิกสภาใหม่ได้ ( ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 3 ) และให้อำนาจตนเองเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเองได้ ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ได้จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญตกไป ( ร่างรัฐธรรมนูญฯมาตรา 291/16 ) จึงเป็นการออกกฎหมายให้อำนาจให้แก่ตนเอง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยขัดกันแห่งผลประโยชน์ของตนเอง และมิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย การกระทำของรัฐสภา ซึ่งมีผลก่อให้เกิดสภาซ้อนรัฐสภา และเป็นสภาที่ทำหน้าที่ที่เหนือกว่ารัฐสภาโดยล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 และจัดทำฉบับใหม่ขึ้นได้ การกระทำขอรัฐสภาโดย 399 เสียง จึงเป็นการกระทำของรัฐสภา ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

การกระทำของรัฐสภาที่ให้มีสภาซ้อนรัฐสภา เพื่อให้มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้นั้น มิใช่เป็นการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยในสากลโลก ทำให้เป็นที่เสื่อมเสียซึ่งเกียรติศักดิ์ และศักดิ์ศรีของการเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นรัฐสภาไม่อาจตั้งสภาอื่นขึ้นทำหน้าที่แทนรัฐสภา ในกรณีที่รัฐสภาไม่มีอำนาจกระทำการนั้นๆได้ การดำเนินการของรัฐสภา ประเทศไทยจึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดูถูก ถูกเหยียดหยามและดูแคลนจากนานาอารยประเทศได้ การกระทำของรัฐสภายังเป็นการกระทำที่เข้าข่ายของการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ อันเป็นความผิดอาญาในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับความเสียหาย และมีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบได้

9 มี.ค. 55
กำลังโหลดความคิดเห็น