xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯรุกปลด"ณัฐวุฒิ-นลินี" ระบุ"ปู"แต่งตั้งไม่รอบคอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ชี้ว่าการแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรี ไม่ขัดจริยธรรมถึงขั้นต้องถอดถอน เพียงแต่ไม่รอบคอบ และกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมองว่า พฤติกรรมที่มีการร้องเรียนบุคคลทั้งสอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนดำรงตำแหน่งจึงไม่พิจารณา แต่คนแต่งตั้งคือ นายกรัฐมนตรี ขาดความรอบคอบ จึงให้กลับไปพิจารณาและชี้แจงกลับไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายใน 30 วัน ซึ่งตนเห็นว่า การชี้ถูกผิดเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย หรือต้องยึดกับเรื่องของการถอดถอนออกจากตำแหน่งเสมอไป เพราะในรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดขั้นความผิดสูงสุด โดยเขียนว่า ต้องผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินใช้ดุลพินิจว่า ยังไม่ถึงขั้นถอดถอน แต่มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรี ควรต้องทบทวน ก็น่าจะเริ่มต้นจากตรงนี้ ไม่ใช่ยึดแค่ว่า ถอดถอนหรือไม่ถอดถอน แล้วจบกันไป คงไม่ใช่ เพราะการทำผิดจริยธรรมสามารถแสดงความรับผิดชอบในทางอื่นได้ เช่น การตำหนิ หรือ การขอโทษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มติของผู้ตรวจการแผ่นดินไร้เดียงสาเกินไปหรือไม่ ที่ส่งเรื่องจริยธรรมกลับไปให้นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับด้านจริยธรรมเป็นคนพิจารณาจริยธรรมของตัวเอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บังอิญว่านายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ก็คงไปที่อื่นไม่ได้ ดังนั้นนายกฯ จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถ้าไม่ทำอะไรหรือเพิกเฉย ก็เป็นตัวบ่งบอกถึงมาตรฐานจริยธรรมของนายกฯ จึงอยากให้นายกฯ และทุกฝ่ายในสังคมจริงจังกับการวางบรรทัดฐานด้านจริยธรรม เพราะอย่างน้อยที่สุด การชี้ถูกชี้ผิด ต้องมี ซึ่งสังคมต้องร่วมกันพิจารณา เพราะมีสื่อบางฉบับ ซึ่งตนไม่อากเอ่ยชื่อ เสนอความเห็นว่า เป็นรื่องเล็กน้อย เห็นว่าเรื่องจริยธรรมไม่สำคัญ เพราะสื่อมวลชนดังกล่าว ถูกสอบจรรยาบรรณ ก็ยังไม่ยอมรับผลที่ออกมา ใช้วิธีการลาออกจากองค์กรที่สอบ
ดังนั้น ถ้าสังคมยังเป็นอย่างนี้ หากไมให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม ก็ต้องพิจารณาว่า จะปล่อยให้สังคมเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือเปล่า

** จี้นายกฯเปลี่ยนดุลพินิจใน 30วัน

ด้านนายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การวินิจฉัยกรณีการแต่งตั้งนางนลินี และนายณัฐวุฒิ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่า มีลักษณะกำกวมเหมือนกลัวๆ กล้าๆ ไม่กล้าตัดสินใจว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการฯ มีความชัดเจนอยู่ในตัวเอง และอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ แต่ยอมรับว่า ในข่าวที่แถลงไปนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว จึงทำให้มีความรู้สึกว่ากำกวม ขัดแย้งกันได้
นายประวิช กล่าวว่า เนื่องจากผู้ร้องเรียนในเรื่องนี้ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำ รวม 4 คน ในการพิจารณาวินิจฉัย ผู้ตรวจการฯ จึงต้องวินิจฉัยตามประเด็นการร้องเรียน กรณีร้องเรียนนางนลินี และนายณัฐวุฒิ ว่าฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองนั้น ผู้ตรวจการฯ เห็นว่าการกระทำที่เป็นมูลเหตุแห่งการร้องเรียนในประเด็นนี้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่บุคคลทั้งสองจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงมิอาจนำกรณีการกระทำดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัย ให้ยุติเรื่อง
ส่วนการร้องเรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้น นายอำพล กิตติอำพน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่เคยปฏิบัติมา เป็นมาตรฐานเดิมทุกครั้ง จึงเห็นว่าไม่ผิด แต่ขอให้ไปแก้ไขวิธีการใหม่ ให้ครอบคลุมถึงเรื่องพฤติกรรมทางจริยธรรม ตามมาตรา 279 วรรค 4
นายประวิช กล่าวว่า ส่วนที่เป็นประเด็นคือ การร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งอยู่ตอนท้าย คือ
1. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งคำถามกับนายกฯว่า แม้นางนลินี จะมีคุณสมบัติครบตามกฎหมายไทย เป็นรัฐมนตรีได้ แต่การที่มีปัญหาอยู่กับทางสหรัฐฯนั้น อาจก่อให้เกิดเป็นภาระในการบริหารราชการแผ่นดินได้ ควรที่นายกฯจะต้องพิจารณาการแต่งตั้งนางนลินี ด้วยความระมัดระวังยิ่งหรือไม่
2. กรณีของนายณัฐวุฒิ ไม่เหมือนนางนลินี เพราะนายณัฐวุฒิ อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี ตามกฎหมายไทย อัยการสั่งฟ้องและศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว แม้คดียังไม่มีคำพิพากษาแต่นายกฯ จะต้องนำพฤติกรรมของนายณัฐวุฒิ ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาว่า จะให้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตรวจการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นายกฯ ยังไม่ได้พิจารณาพฤติกรรมของนายณัฐวุฒิ ด้วยความรอบคอบเพียงพอ
จึงขอให้นายกฯ พิจารณาทั้ง 2 กรณีให้รอบคอบใหม่ และขอคำตอบใน 30 วัน โดยขณะนี้ได้ส่งหนังสือไปให้นายกฯแล้ว และรอคำตอบให้นายกฯใช้ดุลพินิจใหม่ หากนายกฯเพิกเฉย ก็จะมีการมาตรการต่อไป และเรื่องนี้จะต้องมีการรายงานต่อรัฐสภาด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเมืองแทรกแซงในการตัดสินของผู้ตรวจการฯ หรือไม่ นายประวิช กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระไม่เกี่ยวกับการเมือง และในการเสนอแนะให้นายกฯ ทบทวนดังกล่าว เป็นการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อันนี้เป็นเรื่องตรงไปตรงมา ปลอดการเมือง

** แนะ"ผู้ตรวจการฯ" ควรชี้ให้ชัด

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกประจำตัวนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่ผู้ตรวจการฯ ระบุให้นายกฯ ทำกรอบจริยธรรมในการตั้งรัฐมนตรีให้ชัดว่า ตอนที่นายกฯ ตั้ง รัฐมนตรีทุกคน รวมทั้ง นางนลินี และนายณัฐวุฒิ ณัฐวุฒิ ก็พิจารณา 2 ส่วน คือ
1. เรื่องคุณสมบัติที่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2 . เรื่องการบริหาร ซึ่งเกี่ยวกับความเหมาะสม ตำแหน่ง ว่าทำงานได้ไหม ส่วนเงื่อนไขทางการเมือง ก็อยู่ที่ความเหมาะสมว่าทำงานได้ไหม รวมถึงจริยธรรมด้วย บางคนที่ไปฟังผู้ตรวจการแผ่นดินแถลง ก็บอกว่าสีเทา จริงๆนายกฯได้พิจารณา และดูแล้วว่าที่ตั้งไป ไม่มีปัญหา ต่อจากนี้ก็ต้องดูว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หรือหากคดีตัดสิน ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร หากดูตามมาตรฐาน นายกฯ ก็คงต้องปรับออกไป
นายสุรนันทน์ กล่าวด้วยว่า การมาตีความ คำจำกัดความถูกหรือผิด เช่น คำว่าภาพพจน์ ก็ต้องมาดูกัน ตนไม่ได้ดูว่าผู้ตรวจการฯ ผิดหรือถูก แต่การวางมาตรฐานการวินิจฉัย อยากให้ชัดเจนมากกว่านี้ แต่หากผู้ตรวจการฯ ต้องการหามาตรฐาน ก็อาจเสนอ ส.ส.ร. ที่กำลังจะมี เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ หากจะเสนอเป็นกฎหมายอื่น ก็สามารถเสนอได้ว่า มีช่องโหว่อย่างไร
"ควรเสนอมาเลยว่า คดีประเภทไหนว่าควรรับ หรือไม่ควรรับ อย่างกรณีของคุณนลินี ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะไม่ผิดทั้งกฎหมายไทย หรือกฎหมายสหรัฐอเมริกา" นายสุรนันทน์ กล่าว
นายสุรนันทน์ กล่าวอีกว่า เราจะวางมาตรฐานจริยธรรมไว้แค่ไหน เราเองเป็นเรื่องของสังคม แต่ละคนต่างกัน มีมุมมมองที่ต่างกัน เราเป็นนักการเมืองมานาน ไม่มีหรอกคำจำกัดความตรงนั้น ตนไม่อยากให้ผู้ตรวจการฯ มีดุลพินิจมาก เพราะคุณมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายคน เอาตามความจริงนายกฯ ก็มีจริยธรรมไม่ด้อยไปกว่าคนที่อ้างว่ามีจริยธรรมดี
กำลังโหลดความคิดเห็น