xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชี้ “ปู” ตั้ง “นลินี-ณัฐวุฒิ” ไม่รอบคอบ จี้พิจารณาใหม่ 30 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายเนื่องจากเป็นแกนนำการชุมนุมก่อความรุนแรงในปี 2552 และ 2553
ผู้ตรวจฯ ชี้ “นลินี-ณัฐวุฒิ” นั่ง รมต.ไม่ผิด แต่นายกฯ ไม่รอบคอบ ตั้งคนติดแบล็กลิสต์-ผู้ต้องหาก่อการร้ายเป็นรัฐมนตรี ทำเสื่อมเสียเกียรติภูมิชาติ-ปชช.ไม่เชื่อถือศรัทธา ส่งหนังสือถึง “ยิ่งลักษณ์” ให้พิจารณาใหม่ใน 30 วัน พร้อมจี้ปรับปรุงหลักเกณฑ์-คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครอบคลุมถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมด้วย


วันนี้ (6 มี.ค.) การประชุมคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธาน ได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการพิจารณาคำร้องของกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) ที่ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็ฯรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภายหลังการประชุม นางผาณิตแถลงว่า กรณีร้องเรียนนางนลินี จากข้อเท็จจริงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า นางนลินีเป็นผู้ถูกกำหนดชื่อใน Specially Designated National (SDN) ตั้งแต่ปี 2551 โดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา(Office of Foreign Assets Control (OFAC), U.S. Department of the Treasury)

ส่วนกรณีร้องเรียน นายณัฐวุฒิ ที่เคยเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ข้อเท็จจริงพบว่า ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงในคดีก่อการร้าย และขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งทางผู้ตรวจฯ เห็นว่า ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั้งสอง เกิดขึ้นและเป็นการกระทำก่อนที่บุคคลดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง 2551 จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมตามระเบียบ จึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณา

สำหรับกรณีร้องเรียน นายอำพน ตามข้อเท็จจริงพบว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำการตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้ง โดยยึดตามแบบแสดงประวัติผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย (แบบ รมต.1) และแบบแสดงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีใช้ตรวจสอบและรับรองตนเอง (แบบ รมต.2) เท่านั้นและถือปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด ผู้ตรวจฯ การจึงเห็นว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการตรวจสอบคุณสมบัติของนางนลินีและนายณัฐวุฒิเลขาฯ ครม.ปฏิบัติแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมาจึงให้ยุติเรื่อง

แต่ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติให้การแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐต้องคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคล ผู้ตรวจฯ จึงเห็นควรใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้เลขาฯ ครม.ปรับปรุงวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีให้ครบถ้วน ครอบคลุมถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคราวต่อๆ ไป

ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีนั้นผู้ตรวจฯ เห็นว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งรัฐมนตรี กฎหมายไม่ได้กำหนดเพียงให้พิจารณาแค่เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 174 เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 279 วรรคสี่ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมจริยธรรม เข้าไปดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ ไม่ใช่ได้แต่เพียงคนเก่ง ซึ่งในกรณีการแต่งตั้งนางนลินีนั้น นางนลินีมีชื่อในบัญชีของสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ กระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา แม้จะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวของสหรัฐ แต่ก็ส่งผลให้ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีดังกล่าวถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงินกับพลเมืองชาวอเมริกัน ถูกอายัดทรัพย์สินที่มีอยู่ในเขตอำนาจของสหรัฐฯ ไม่สามารถติดต่อธุรกรรมประเภทที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเงินจากสหรัฐ และถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐฯ อีกทั้งประกาศบัญชีรายชื่อนี้ไม่มีกำหนดวันหมดอายุของการบังคับใช้ และไม่มีกำหนดเวลาในการทบทวนรายชื่อ เพียงแต่นางนลินีสามารถอุทธรณ์หรือแสดงหลักฐานเพื่อโต้แย้งได้โดยตรงกับสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ สหรัฐฯ

“ตรงนี้ผู้ตรวจฯ เห็นว่า แม้นางนลินีจะมีคุณสมบัติ และไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฎหมายไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่สถานทูตระบุ นายกฯ ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลรัฐมนตรีให้เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ควรพิจารณาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแต่งตั้งนางนลินี อาจจะกระทบความไม่เชื่อถือศรัทธาในสายประชาชน และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติภูมิของชาติหรือไม่โดยควรนำระเบียบสำนักนายกว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองข้อ 9 10 และ 27 มาใช้พิจารณา”

ขณะที่ การแต่งตั้งนายณัฐวุฒินั้น แม้ว่าคดีก่อการร้ายจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษา แต่เมื่อพิจารณาถึงการกระทำของนายณัฐวุฒิที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล จึงเห็นว่านายกฯ ยังไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเห็นควรใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้นายกฯ ไปพิจารณาการแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้ง 2 ตำแหน่งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่ พร้อมกับเสนอให้กำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ใช้ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีในคราวต่อๆ ไปโดยต้องคำนึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลอย่างเคร่งครัด

“ผู้ตรวจฯ ได้แยกการพิจารณาการดำเนินการทางกฎหมายและจริยธรรมออกจากกัน ซึ่งหากมองจริยธรรมทางลึกแล้วไม่ถึงขั้นเป็นความผิดร้ายแรงที่ต้องส่งให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถอดถอน แต่อาจจะเพราะนายกฯ ไม่รอบคอบเพียงพอในการแต่งตั้งบุคคลทั้ง 2 เป็นรัฐมนตรี โดยลืมดูไปว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 279 บัญญัติให้การตั้งบุคคลต้องคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรม ทางผู้ตรวจฯ จึงจะมีหนังสือให้นายกฯ ไปพิจารณาการแต่งตั้งบุคคล 2 ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แล้วแจ้งให้ทางผู้ตรวจทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากนายกฯ นิ่งเฉย ตามขั้นตอนทางผู้ตรวจฯ ก็ต้องทำหนังสือเตือน และต่อไปก็ทำรายงานต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี”

เมื่อถามว่าการให้นายกฯ พิจารณาการแต่งตั้งบุคคลทั้งสองเป็นรัฐมนตรีมีความหมายถึงการให้บุคคลทั้งสองออกจากการเป็นรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นางผาณิตเลี่ยงที่จะตอบ โดยกล่าวเพียงว่า ให้นายกฯ พิจารณา ซึ่งผู้ตรวจฯ อยากให้การแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้าไปใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่บัญญัติไว้ และอยากให้ถือว่าการพิจารณากรณีนี้เป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลถือปฏิบัติในการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในคราวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น