โฆษกเพื่อไทย ปล่อยไก่รีบแสดงความขอบคุณผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีมติให้คำสั่งแต่งตั้ง “นลินี-ณัฐวุฒิ” ไม่ผิดจริยธรรม นั่งเก้าอี้ รมต.ทั้งที่มีมลทิน โดยเมินเสียงกังขาของสังคม และทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิชาติ
วันนี้ (6 มี.ค.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวขอบคุณผู้ตรวจการแผ่นดินในกรณีที่ตัดสิน ว่า นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายยกรัฐมนตรี และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ผิดจริยธรรมในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กลุ่มกรีน ร้องขอ ซึ่งการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเป็นไปตามอำนาจของฝ่ายบริหารแต่งตั้ง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นบรรทัดฐาน ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปร้องเรียน เพื่อเป็นเกมการเมืองอีกต่อไป
ทั้งนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ขอให้มี 2 มาตรฐานในการร้องเรียน เพราะในยุคที่ นายอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาลไม่เคยมีการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกกลุ่มผู้เคลื่อนไหวพยายามดิสเครดิตตลอด
โดยก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจฯ มีคำตัดสินว่า แม้ นางนลินี จะมีคุณสมบัติ และไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฎหมายไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่สถานทูตระบุ นายกฯ ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลรัฐมนตรีให้เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ควรพิจารณาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแต่งตั้งนางนลินี อาจจะกระทบความไม่เชื่อถือศรัทธาในสายตาประชาชน และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติภูมิของชาติหรือไม่ โดยควรนำระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองข้อ 9 10 และ 27 มาใช้พิจารณา”
ขณะที่ การแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ นั้น แม้ว่าคดีก่อการร้ายจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษา แต่เมื่อพิจารณาถึงการกระทำของนายณัฐวุฒิที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาล จึงเห็นว่า นายกฯ ยังไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเห็นควรใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้นายกฯ ไปพิจารณาการแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้ง 2 ตำแหน่งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่ พร้อมกับเสนอให้กำหนดมาตรการ และวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ใช้ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีในคราวต่อๆ ไปโดยต้องคำนึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลอย่างเคร่งครัด
“ผู้ตรวจฯ ได้แยกการพิจารณาการดำเนินการทางกฎหมายและจริยธรรมออกจากกัน ซึ่งหากมองจริยธรรมทางลึกแล้วไม่ถึงขั้นเป็นความผิดร้ายแรงที่ต้องส่งให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถอดถอน แต่อาจจะเพราะนายกฯ ไม่รอบคอบเพียงพอในการแต่งตั้งบุคคลทั้ง 2 เป็นรัฐมนตรี โดยลืมดูไปว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 279 บัญญัติให้การตั้งบุคคลต้องคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรม ทางผู้ตรวจฯ จึงจะมีหนังสือให้นายกฯ ไปพิจารณาการแต่งตั้งบุคคล 2 ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แล้วแจ้งให้ทางผู้ตรวจทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากนายกฯ นิ่งเฉย ตามขั้นตอนทางผู้ตรวจฯ ก็ต้องทำหนังสือเตือน และต่อไปก็ทำรายงานต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี”