xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ท้ารัฐบาลรับปาก ไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"มาร์ค"เสนอคำแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ไม่แตะ 3 ประเด็นต้องห้าม หมวดกษัตริย์ องค์กรอิสระ และห้ามลบล้างคำตัดสินเดิม เสนอเพิ่ม ส.ส.ร.เป็น 150 คน ดันให้จังหวัดใหญ่เลือกได้ 2 คน ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จส่งกลับสภาเห็นชอบ ก่อนทำประชามติ ปชป.แฉรัฐบาลเตรียมพิมพ์เขียวไว้แล้ว ท้าประกาศไม่แก้เพื่อนิรโทษกรรม "เหลิม"วางแผนรับมือกลุ่มคัดค้าน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงข้อเสนอขอแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมมนูญว่า สาระสำคัญของการเสนอการแปรญัติของตนโดยรวมจะมีทั้งหมด 6 ข้อ คือ

1.กำหนดขอบเขตการทำรัฐธรรมนูญมิให้นำไปสู่ความขัดแย้ง (มาตรา 291/11) โดยให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นำหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญปี 40 มาใส่ไว้ โดยไม่มีการแก้ไข และให้มีหลักประกันว่าจะคงไว้ ซึ่งความเป็นอิสระของตุลาการ และองค์กรตรวจสอบ รวมทั้งไม่มีการลบล้างการใช้อำนาจตุลาการในอดีต ซึ่งถือเป็นหัวใจที่ตนได้แปรญัตติ เพื่อให้การทำรัฐธรรมนูญ จะไม่มีข้อขัดแย้งกันต่อไป และจะได้มุ่งทำเรื่องการปฏิรูปการเมือง โดยไม่มีวาระแอบแฝง

2.เพื่อให้มีกลไกตรวจสอบเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่มีปัญหาในการไม่แตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่กระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรอิสระ หรือลบล้างอำนาจศาลในอดีต

3.เสนอแปรญัตติ มาตรา 291/1 คือให้เพิ่ม ส.ส.ร.เป็น 150 คน ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 125 คน และจากการสรรหา 25 คน โดยในส่วนของการเลือกตั้งในจังหวัดใหญ่ที่มีทั้งหมด 48 จังหวัด ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด จะให้เลือกตั้งส.ส.ร.ได้จังหวัดละ 2 คน อีก 29 จังหวัดที่เหลือ ให้เลือกจังหวัดละ 1 คน แต่ในจังหวัดที่มีสองคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเลือกได้เพียงคนเดียว ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้เกิดการกระจายตัว ทำให้ส.ส.ร.ไม่ถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

4.เสนอให้มีการขยายเวลาในชั้นตอนต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่เร่งรัดจนเกินไป (มาตรา 291/5, 291/11 ,291/13 )

5.แก้ไขลักษณะต้องห้ามของส.ส.ร.ให้เหมาะสม เช่น เรื่องการถูกจำคุกและยังไม่พ้นโทษมาเป็นเวลา 5 ปี ควรกำหนดให้เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ร. (มาตรา 291/3)

6.ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ (มาตรา 291/13) ซึ่งตนพร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติ

**เชื่อรัฐบาลมีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญแล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ และวิปฝ่ายค้าน ได้เตรียมคำแปรญัตติกลางไว้ และ ส.ส.ในส่วนของพรรคก็จะร่วมกันยื่นแสดงคำแปรญัตติทุกคน เพื่อนำไปแสดงความเห็นต่อที่ประชุมรัฐสภา ในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยระยะเวลาการยื่นขอแปรญัตติภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีการลงมติรับหลักการ

อย่างไรก็ตาม วิปฝ่ายค้านได้พูดย้ำหลายครั้งว่า วันนี้รัฐบาลต้องกล้าที่จะประกาศให้ชัด นอกจากการประกาศว่าจะไม่เตะต้องหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ทางวิปฝ่ายค้ายยังเห็นว่าไม่พร้อม รัฐบาลต้องกล้าประกาศให้ชัด และยืนยันในความเป็นอิสระของศาล และองค์กรอิสระ รวมทั้งจะไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อส่งผลให้มีการนิรโทษกรรม ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้ง และการกระทบกระทั่งที่ประชาชนเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงสงสัย

"ขณะนี้เชื่อว่าน่าจะมีพิมพ์เขียวที่มีความชัดเจนว่าเป้าหมายลึกๆ จะมีการแก้ไขประเด็นใดบ้าง ที่รัฐบาลได้เตรียมไว้"นายจุรินทร์กล่าว

** "เต้น"ซัดส.ส.ร. 50 ต้นตอความขัดแย้ง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง กล่าวถึงกรณี สมาชิกชมรมส.ส.ร. 50 ออกแถลงการณ์ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของรัฐบาลเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลได้แก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291 ตามที่มีการบัญญัติเปิดช่องเอาไว้ ไม่ใช่การล้มล้างรัฐธรรมนูญแบบที่ ส.ส.ร. 50 รับเหมามาจากพวกที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 40 ทำ แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วยการบรรจุ มาตรา 309 และมาตรา 237 เข้าไปในรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ ส.ส.ร. 50 เป็นคนร่างแบบแปลนเอาไว้ และมีการเปิดช่องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แล้วพอเราจะแก้ ก็บอกว่าแก้ไขไม่ได้ ตนคิดว่า ส.ส.ร.50 ควรจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขครั้งนี้ อย่างน้อยก็เพื่อจะลบรอยตราบาปที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง มาจนถึงทุกวันนี้

"ผมไม่เห็นว่า ส.ส.ร.50 จะคิดเหมือนกับกลุ่มที่ออกมาต่อต้านทุกคน เพราะการที่ส.ส.ร. 50 บางคนออกมาคัดค้านครั้งนี้ ก็เพราะจะรักษาประติมากรรมชั้นเยี่ยมของตัวเองที่เป็นความอัปลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ไม่มีใครรับได้หรอก และมาไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย แม้แต่การโหวตเป็นรายมาตราในสภาองค์ประชุม ก็ยังไม่ครบเลย"นายณัฐวุฒิกล่าว

** "เหลิม"ถกหน่วยข่าวรับมือกลุ่มคัดค้าน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้ช่วย ผบ.ตร. เดินทางเข้าพบว่า เป็นการหารือถึงงานด้านการข่าวที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งหารือกันหลายคน ตนต้องมาประมวลความคิดกัน พล.ต.ท.วรพงษ์ ก็เป็นตัวแทนสตช. พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ก็ตัวแทนนครบาล และยังมีสันติบาล เลขาธิการสมช. ผอ.สำนักข่าวกรอง ก็มาพบกันวิเคราะห์ข่าว

ทั้งนี้ ตนได้ให้แนวนโยบายว่าการแก้ไขปัญหาการชุมนุมว่า อย่าใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ต้องใช้การเจรจา ม็อบจะเคลื่อนไหว ถือเป็นสิทธิ ถ้าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ประชาชนก็จะปฏิเสธ

สำหรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คงจะมีการแสดงความเห็นออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นไปในลักษณะคาดคะเน เพราะยังไม่มี ส.ส.ร. ถ้าหากมี ส.ส.ร.แล้ว ยกร่างแล้ว มีเนื้อหาแล้วตรงนั้นก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรฯ นัดชุมนุมวันที่ 10 มี.ค. ที่สวนลุมพินี ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะเขานัดที่สวนลุมพินี แปลว่า เข้าที่ปกติ เขาก็ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนเหมือนกัน ตนประเมินว่าคงไม่มีอะไร เรียบร้อยดี วันนี้สังคมต้องอยู่ด้วยเหตุผล ไม่อย่างนั้นประชาชนไม่เอาด้วย

**ผู้ตรวจแผ่นดินหารือแก้รัฐธรรมนูญ

นายสุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมคณะคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ว่า ที่ประชุมได้ตั้งประเด็นพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถทำให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้มีการอภิปรายทั้งในมุมกฎหมาย ปกครอง และอำนาจอธิปไตย มีการหยิบประวัติศาสตร์มาดู มีการดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข 2550 ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ รวมถึงการที่กรณีถอดถอน ส.ส.และส.ว. ที่เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรณีที่มีการร้องให้ยุบพรรคด้วย ซึ่งก็มีกรรมการทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ โดยเป็นข้อยุติในเชิงวิชาการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวให้กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะน่าจะอยู่นอกเหนืออำนาจที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (3) ให้กับผู้ตรวจฯ ในการติดตามประเมินผล และทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น จึงได้ข้ามเรื่องไปพิจารณาในประเด็นที่ว่า ควรจะมีหลักประกันในเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อย่างไร เพื่อให้สภาและคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาใช้เป็นกรอบการพิจารณา โดยจะมีการหารือให้แล้วเสร็จอีกครั้ง ในวันที่14 มี.ค.นี้

โดบตัวอย่างที่ได้หยิบยกมาหารือเบื้องต้น เช่น เรื่องในรูปแบบของรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรมีการแก้ไขหรือไม่ สภาจะกำหนดให้มีสภาเดียว หรือสองสภา จำนวนส.ส.ร. ควรมีเท่าใด และการปกครองท้องถิ่นควรเป็นอิสระหรือไม่ อย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะมีความเป็นรูปธรรมหรือไม่ ก็อยู่ที่เมื่อคณะกรรมการเสนอไปยังผู้ตรวจฯ แล้วผู้ตรวจเห็นด้วย และเสนอต่อไปยังกรรมาธิการฯ แล้วเอาด้วยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น