xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ปูแดงผ่านร่างแก้รธน. มธ.กลับลำให้นิติราษฎร์ใช้ ผบ.ทอ.ปลุกประชาชนร่วมปกป้องสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน- ครม.ผ่านร่างแก้รธน. มาตรา 291 ตั้ง 99 ส.ส.ร."ยิ่งลักษณ์" อ้างรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเสนอแก้ รธน.เอง เพราะกลัวเสียสิทธิ์และได้แถลงเป็นนโยบายไว้แล้ว ส่วนจะเอื้อประโยชน์ให้ "แม้ว" หรือไม่ เป็นเรื่องของ ส.ส.ร. รัฐบาลไม่เกี่ยว ปชป.จับตาแก้ไขให้ผู้ที่ถูกยึดทรัพย์ เป็นนายกฯได้ มธ.กลับลำให้นิติราษฎร์ใช้พื้นที่ได้ ด้าน ผบ.ทอ.ปลุกประชาชนร่วมปกป้องสถาบันฯ

วานนี้ (13 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ทั้งหมด 99 คน ว่า มติครม.ผ่านแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขมาตรา 291 เพียงมาตราเดียว เพื่อที่จะเข้าไปสู่กระบวนการของ ส.ส.ร. โดย ส.ส.ร.จะมาจากกระบวนการที่คัดเลือกจากภาคประชาชน ส่วนเนื้อหาก็เป็นเรื่องของส.ส.ร.ที่จะไปพิจารณาเองทั้งหมด รัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนแรกรัฐบาลบอกว่าจะไม่มีการเสนอแก้ไข แต่ทำไมถึงกลับลำมาเป็นผู้เสนอเอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตนนำร่างนี้มาเสนอในส่วนของรัฐบาล เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนที่เราแถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งจริงๆ ภาระกิจรัฐบาลอย่างแรก คือ การฟื้นฟูและเรื่องความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน แต่วันนี้เนื่องจากขบวนการต่างๆ ภาคประชาชนก็มีการเสนอแล้ว และส.ส.ก็เสนอเข้าสภาแล้ว ถ้าหากว่ารัฐบาลไม่เสนอ ก็เกรงว่าตัวร่างนี้จะไม่ถูกนำเข้าไปพิจารณาด้วย จึงคิดว่าควรจะใช้สิทธิ์เสนอเข้าในรอบนี้ไปพร้อมกัน

ส่วนที่มีการวิพากวิจารณ์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ยืนยันว่าไม่มีหรอก เพราะ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน และทางด้านรัฐสภา ก็จะเลือกนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญอีก 22 คน เชื่อว่า ทุกคนก็จะต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ รัฐบาลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และสุดท้ายก็ต้องมีการทำประชามติด้วย ดังนั้นกระบวนการทุกอย่างจะเป็นไปเพื่อส่วนรวมเป็นหลักอยู่แล้ว และตนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในส่วนนี้

เมื่อถามว่า จะมีการตัดสินใจแก้ไข มาตรา 309 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของส.ส.ร. แต่สุดท้ายแล้ว ก็เรียนยืนยันว่าอยากให้ทำประชามติกับประชาชน เพราะร่างนี้จะเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องพิจารณา ก็อยากให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

** ชำเเหละร่างรธน.ฉบับครม.ปูแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของครม. ที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสนอร่างนั้น มีหลักการ และเหตุผลในการเสนอแก้ไขดังนี้

1. เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยที่เป็นการสมควรให้มีวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการเมือง โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายสาขาอาชีพเป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุมัติรัฐธรรมนูญ โดยการออกเสียงประชามติได้ด้วย ทั้งนี้โดยร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำไม่ได้

2. สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1 ) กำหนดให้รัฐสภาประชุมร่วมกันในกรณีการให้ความเห็นชอบส.ส.ร.ซึ่งมาจากการคัดเลือก โดยที่ประชุมรัฐสภา และกรณีการให้ความเห็นชอบญัตติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่
2 ) กำหนดให้มีส.ส.ร.ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีสมาชิกทั้งหมด 99 คน ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน จำนวน 77 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของรัฐสภา จำนวน 22 คน โดยแบ่งเป็นสามประเภทคือ

ก. ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 6 คน
ข. ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน
ค. ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน

3) กำหนดคุณสมบัติเละลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.
4) กำหนดให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจังหวัดละ 1 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน โดยให้ตราเป็นพ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ภายใน15 วัน นับแต่วันเลือกตั้งโดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัด เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นส.ส.ร.ของจังหวัดนั้น

5 ) กำหนดให้รัฐสภา มีการดำเนินการคัดเลือกส.ส.ร. ซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา จำนวน 22 คนให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีกระบวนการดังนี้

ก.ให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาของสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเศรษฐกิจสังคม และองค์กรภาคเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนดคัดเลือกบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นส.ส.ร.ประเภทละไม่เกินสองคน และส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง
ข. ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นส.ส.ร. แล้วส่งผลให้ประธานรัฐสภา เพื่อเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติคัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อฯ โดยลงคะแนนเป็นการลับ

6 ) กำหนดเหตุที่สมาชิกภาพของส.ส.ร.สิ้นสุดลง ในกรณีต่างๆ และการจัดให้ได้มาซึ่งส.ส.ร. แทนตำแหน่งที่ว่างลง
7 ) กำนหดให้ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคด้วย ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้

8 ) เมื่อส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ให้เสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งไปยังกกต. ซึ่งต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน ว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ โดยประกาศวันออกเสียงประชามติ ต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และนำหลักเกณฑ์ และวิธีการออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาใช้บังคับ ในกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวายโดยนำมาตรา150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
9 ) ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ครม.หรือ ส.ส.หรือ ส.ว.และส.ส.ตามจำนวนที่กำหนด มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้มีมติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกได้ และบุคคลที่เคยเป็นส.ส.ร.ชุดเดิม จะเป็นส.ส.ร.อีกไม่ได้ นอกจากนี้ เมื่อรัฐสภามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะมีการเสนอญัตติในเรื่องนั้นอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่

** ส.ส.ร.ไม่ต้องจบปริญญาตรี

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรธน. ที่ครม.ยึดเอาร่างของรัฐบาล แทนที่จะเอาร่างของพรรคเพื่อไทย ตามที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลก็คือพรรคเพื่อไทย ไม่มีอะไรแปลกใหม่

ทั้งนี้การแก้ไขรธน. ทุกอย่างต้องเสร็จภายใน 240 วัน คือ ยกร่าง 180 วัน จากนั้นจึงไปทำประชามติอีก 60 วัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อาทิ หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตก แล้วเสียงสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 บอกว่า ควรยกร่างใหม่ โดยมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ยกร่างใหม่ ก็สามารถยกร่างใหม่ได้ และต้องมีการเลือก ส.ส.ร. ขึ้นมาใหม่

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายอยากให้ได้ส.ส.ร.ที่เป็นกลาง และสังคมยอมรับ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า มันพูดยาก เพราะเราไม่รู้ว่าประชาชนจะเลือกใคร ไปบังคับเขาไม่ได้

เมื่อถามว่า ร่างรัฐบาลไม่ได้กำหนดว่า ส.ส.ร.ต้องจบปริญญาตรีหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มี เราต้องเปิดกว้างปริญญาตรีไม่ได้ฉลาดเสมอไป เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะขึ้นป้ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และบอกว่าเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า มันยังไม่รู้ว่าใครเป็นส.ส.ร. และยังไม่รู้ว่าจะร่างอย่างไร แล้วจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่างไร

"ผมอยากถามกลับพรรคประชาธิปัตย์ คุณชอบรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติใช่หรือไม่ เลือกตั้งรอบหน้าจะได้ฉลองศรัทธา ก็พวกผมบอกมาตลอดว่า เราไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติ และหากได้รับเสียงข้างมาก เราจะแก้ แต่เราไม่แก้เอง แก้เองจะถือว่าเสียงข้างมากทำอะไรก็ได้ ก็เปิดให้มีการเลือกส.ส.ร.พอร่างเสร็จ ก็ให้กกต.ทำประชามติ หากประชาชนเขาเห็นด้วย แล้วประชาธิปัตย์จะมาคัดค้านอย่างไร เชิญขึ้นป้ายเลย"

เมื่อถามว่า หากให้ส.ส.ร.ยกร่างแก้ไข ก็เหมือนโละรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ใช่ แต่เดิมรัฐธรรมนูญปี 50 มีวรรคหนึ่ง ที่ให้รัฐบาลเสนอแก้ ส.ส.เสนอแก้ เสียง 1ใน 5 และ ส.ส.- ส.ว.เสนอแก้ ประชาชน 5 หมื่นคน เสนอแก้ แต่ ส.ว.อย่างเดียวเสนอแก้ไม่ได้ เมื่อเราต้องการให้มันเป็นประชาธิปไตย ก็เลยแก้ มาตรา 291 ให้มี ส.ส.ร. เชื่อว่าจะไม่มีความขัดแย้ง มีแต่ขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์นี่แหละ มั่นใจว่าจะไปตลอดรอดฝั่ง เพราะเราจะทำให้ดีขึ้น

**แก้ให้คนถูกยึดทรัพย์ก็เป็นนายกฯได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกมาตั้งข้อสังเกตุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 ( 7 ) ที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้าม ของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และ ส.ส. ว่าต้องไม่ใช่ผู้ที่เคยถูกยึดทรัพย์ เพื่อเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจอีกครั้งว่า ทางพรรคมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่แล้ว และจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคจับตาดูอยู่ เพราะมีข่าวในทำนองนี้มาโดยตลอด

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ดูจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอกันมา พบว่ากระบวนการตั้งส.ส.ร. จะมีการล็อกเสปก ถูกครอบงำจากพรรคการเมืองใหญ่ และยังมีการระบุว่า หากไม่ผ่านการทำประชามติ ก็สามารถนำเข้ามาพิจารณาใหม่ได้ แสดงว่ามีการดึงดัน ตั้งธงที่จะแก้ไขให้สำเร็จหรือไม่ และมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีการลดทอนอำนาจองค์อิสระในการตรวจสอบ และยืนยันได้หรือไม่ว่า จะไม่แก้ไข มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค มาตรา 309 การล้มล้างผลปฏิวัติ หรือมาตรา 102 (7) เรื่องลักษณะต้องห้ามของผู้ที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ ครม. และส.ส. ว่าต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยถูกยึดทรัพย์ เพื่อเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาสู่การเมืองอีกหรือไม่ และจะแก้เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อปูทางการทำธุรกิจหรือไม่ รวมถึงมาตรา 190 การทำสนธิสัญญากับต่างชาติด้วยหรื อไม่

ดังนั้นขอให้กลับไปคิดใหม่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีผลประโยชน์แอบแฝง จะเป็นจุดเริ่มต้นในความขัดแย้งครั้งใหม่แน่นอน

** "เทพไท"ชี้ปมแก้รธน.เพื่อ"ทักษิณ"

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขรธน.ครั้งนี้ ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ

1. กลุ่มที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ล้วนแต่เป็นกลุ่มบุคคลในระบอบทักษิณทั้งสิ้น
2.การแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ล้วนแล้วแต่เป็นการล็อกสเปกให้กับคนในระบอบทักษิณทั้งสิ้นเช่นกัน อาทิ การเคลื่อนไหวจัดเตรียมแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง ในจังหงวัดต่างๆ เพื่อเข้ามาเป็น ส.ส.ร. และมีการใช้ทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง ( เอเชีย อัพเดท) เคลื่อนไหวหาเสียงให้กับแกนนำคนเสื้อแดง ที่จะลงสมัครเป็นส.ส.ร.ในจังหวัดต่างๆ ส่วนส.ส.ร.สรรหา ก็มาจากการคัดเลือกของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งชัดเจนว่า เสียงส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงของรัฐบาล จึงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า จะต้องเลือกคนของตัวเองเข้ามาเป็นส.ส.ร.สรรหา

3. การให้มี ส.ส.ร.ชุดนี้ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ โดยไม่ต้องกำหนดกรอบ หรือประเด็นใดๆ ในการแก้ไข เปรียบเสมือนการให้ “เช็คเปล่า” หรือ “แบล็งค์เช็ค” ซึ่ง ส.ส.ร.จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ โดยประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้ ในการแก้ไข และไม่มีหลักประกันใดๆว่า การแก้ไขครั้งนี้จะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ อย่างไร

ส่วนการอ้างว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยการทำประชามตินั้น ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ โดยใช้กลไกของรัฐ ควบคุม และเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว ก็เปรียบเหมือน “ผีถึงป่าช้า” ประชาชน ต้องจำยอมเหมือนถูกมัดมือชก

** มธ.กลับลำให้นิติราษฎร์ใช้พื้นที่ได้

วานนี้ (13 ก.พ.) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ได้เรียกประชุม คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (กบม.) เพื่อยุติปัญหา กรณีที่ทางมหาวิทยาลัย มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ไม่อนุญาตให้กลุ่มนิติราษฎร์ ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรม เพื่อเสนอให้มีการแก้ไข บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากมติดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุน และนักศึกษาที่เห็นว่า มติที่ออกมาเป็นการละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพ และแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติของ กบม.จึงได้ยืนหนังสือเพื่อขอให้มหาวิทยาลัยทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้ง

ทางคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาความเห็นของทุกฝ่ายแล้วเห็นว่า มหาวิทยาลัย จะยึดมั่นในหลักการของความมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า การแสดงความคิดเห็น หรือการจัดกิจกรรมจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย โดยผู้ใช้สถานที่ จะต้องขออนุญาตกับทางมหาวิทยาลัย หรือเจ้าของสถานที่ พิจารณาอนุญาตก่อนทุกครั้ง ขณะที่ผู้กลุ่มผู้จัดงาน จะต้องรับผิดชอบ มิให้มีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ อันเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการจัดกิจกรรม จะต้องยุติในเวลาที่กำหนด หรือได้ขออนุญาตไว้ และจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อน ต่อเส้นทางสัญจรของประชาชนภายหลังยุติกิจกรรมทั้งภายในมหาวิทยาลัยและพื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบมหาวิทยาลัย

สำหรับมติดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะบังคับใช้ กับทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยประเมินจากสถานการณ์แล้วว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์คลี่คลายลง มหาวิทยาลัย ก็จะให้กลับมาใช้พื้นที่ได้ตามปกติ

** ผบ.ทอ.ปลุกให้ร่วมปกป้องสถาบันฯ

พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึง การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ และกลุ่มเสื้อแดง ที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ไม่ใช่เฉพาะทหารจะออกมาป้องกันอย่างเดียว แต่มีหลายกลุ่มออกมาแสดงความคิดเห็น แน่นอน เราเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรายอมไม่ได้ เรื่องหมิ่นสถาบันฯ ไม่ต้องถามความเห็นอย่างไร เราปกป้องเต็มที่อยู่แล้ว สิ่งที่ทุกคนพูดว่า กลุ่มที่ออกมาไม่ทราบว่าเขาต้องการอะไร กฎหมาย มาตรา 112 ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต้องดูว่ากฎหมายทั่วไป กฎหมายอาญา ยังมีเรื่องหมิ่นประมาท ดังนั้นจึงเป็นการปกป้องประชาชนทั่วไป หากมีคนพูดจาให้ร้าย หรือทำให้เสียหาย ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้อง แต่การที่จะให้สถาบันฯ ลงมาฟ้องร้อง ท่านคงไม่ทำ ดังนั้นคนไทยต้องช่วยกันปกป้อง จึงมีความจำเป็นว่าทำไมที่ต้องมีกฎหมายมาตรานี้

ส่วนกรณีที่มีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุน และต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ออกมาเคลื่อนไหวนั้น ถ้าทุกกลุ่มมีการแสดงออกอยู่ในกรอบกฎหมาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่เป็นห่วงคือ จะใช้การชุมนุมเป็นการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นตำรวจต้องดำเนินการ หวังว่าเหตุการณ์จะไม่บานปลาย การเคลื่อนไหวอยากให้คำนึงถึงสิทธิของคนอื่นด้วย เขาก็อยากจะอยู่อย่างปกติสุข ดังนั้น อย่าสร้างเงื่อนไขอะไรต่างๆ ทำให้ประเทศชาติต้องมีปัญหา และเกิดวิกฤติ ขึ้นมาอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น