xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง 70 สสร.นอมินี “พท.”ปัด “ปชป.”ดักคอทำสัญญาประชาคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 7 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติพรรคเพื่อไทย และนปช.ที่จะยื่นมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ว่า จากที่ได้เห็นในสื่อต่าง ๆ มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)โดยตรง หากไม่สามารถขจัดการครอบงำจากพรรคการเมืองได้ จะไม่ได้ ส.ส.ร.ที่หลุดจากการครอบงำของพรรคการเมือง ส่วนระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดูรวบรัด ที่ผ่านมาเวลามีการยกร่างรัฐธรรมนูญกัน จะใช้เวลาอย่างน้อย 9 เดือน ถึง 1 ปี นี่พยายามจะบีบให้ได้ภายใน 6 เดือน และเข้าไปสู่การประชามติทันที และที่แปลกคือประชามติแล้วยังไม่จบ หากประชามติแล้วยังไม่ผ่าน ยังมีการให้โอกาสที่ 2 อีก และยังมีรายละเอียดอีกมาก
ตนว่าวันนี้ มีประเด็นซึ่งเราต้องการเป็นสัญญาประชาคมว่า จะแก้รัฐธรรมนูญกันเพื่อปรับปรุงระบบการเมือง ไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง และนำไปสู่ความขัดแย้ง แล้วแน่นอนประเด็นความละเอียดอ่อนในเรื่องของสถาบันหลักของชาติ ตรงนี้พูดกันให้เรียบร้อย ทำตามความตกลงอย่างนี้แล้ว กระบวนการก็เดินได้ จะลดความกังวลลงไปมาก แต่ตราบเท่าที่ตรงนี้ยังมีความคลุมเครือ ตนยังเป็นห่วงว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะนำไปสู่การเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ในสังคม สำหรับจุดยืนของปชป. และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการนำเสนอร่างที่เป็นเป็นประเด็นสำคัญ และต้องมีการเตรียมการแต่เนิ่น ๆ เพราะรัฐบาลมีแนวโน้มเร่งรัดในเรื่องนี้

**ปชป.ดักคอให้ทำสัญญาประชาคม
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคปชป. กล่าวว่า อยากให้ทำเป็นสัญญาประชาคม เพราะการแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้คัดค้าน แต่รัฐบาลก็ควรพูดให้ชัดว่าการแก้จะไม่ทำเพื่อประโยชน์บุคคลใดหรือของพวกพ้อง อย่างไรก็ตามในสาระของ ส.ส.ร.ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ มีหลายจุดน่าสงสัยว่าใช้หลักการหลักคิดอะไร อาทิ หากไม่ผ่านประชามติ แล้วยังกลับเข้าสภาฯได้อีก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฯ ฝ่ายค้าน) แถลงผลการประชุม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงเหตุผลในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมสภาฯ ให้สาธารณชนรับทราบในข้อเท็จจริงและชัดเจน เนื่องจากวิปฯ รัฐบาลมองว่าการเสนอแก้ไขเรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่จำไปสู่ความขัดแย้ง
วิปฯ ฝ่ายค้านมีความเป็นห่วงใน 3 เรื่อง คือ 1. เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีสิ่งซ่อนเร้น ที่นำไปสู่การล้างความผิดให้บุคคลๆ เพียงคนเดียว โดยอ้างประชาธิปไตยบังหน้า 2. ไม่มีหลักประกันใดที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ทั้ง 99คน จะไม่ใช่ร่างทรงของรัฐบาล อีกทั้งกังวลว่าส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นคนของพรรครัฐบาลเข้ามาส่วนใหญ่ สำหรับประเด็น ส.ส.ร.ที่มาจากนักวิชาการจำนวน 22 คนนั้น ที่ระบุว่าให้รัฐสภาเป็นผู้คัดเลือก เชื่อได้ว่ารัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาฯ สามารถชี้ให้ใครเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ก็ได้
3. ไม่มีหลักประกันใดที่ ส.ส.ร. จะไม่ร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการแก้ไข หรือ แตะ หมวด2เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ , ยกเลิกองค์กรอิสระ, แก้ไขมาตรา 309 หรือมาตรา 102 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่ว่าจะเป็น (5) เป็นเรื่องของบุคคลที่มีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คือเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปและได้รับการพ้นโทษมาไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือ (7) เคยต้องห้ามพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจะผิดปกติ ซึ่งหากเป็น ส.ส.ไม่ได้ก็เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้

**'ดร.เสรี'เชื่อ 70 คนเป็นนอมินี
นายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวในรายการวิทยุ คลื่นเอฟเอ็ม 101 ต่อประเด็นเปิดทางให้มี สสร. ว่า เชื่อว่า จำนวน สสร. 99 คนนั้น จะเป็นคนของนักการเมืองประมาณ 70 คน โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด นักการเมืองซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะมีการต่อรองเพื่อส่งคนของตนเองเข้ามาเป็น อาทิ จ.ฉะเชิงเทรา ตระกูลฉายแสง จะส่งคนของตนเองมาเป็น จ.พิจิตร จะเป็นคนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ แกนนำ พรรคชาติไทยพัฒนา จ.สระแก้ว เป็นคนของ นายเสนาะ เทียนทอง เป็นต้น
“เมื่อดูจากพื้นที่ ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เชื่อว่า พื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และ กลางหลายจังหวัด จะเป็นของเพื่อไทย ส่วนว่าที่ สสร. ที่เป็นภาคนักวิชาการ หากเขาไม่เหนียม จะมีสัดส่วน 15 คนเป็นของเขา และ 7 คนจะเป็นบุคคลที่เป็นกลาง” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นแบบนี้ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่า เป็นการเซ็นเช็คเปล่า เนื่องจากไม่มีสาระของการแก้ไขระบุไว้ ดังนั้นเมื่อ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะอ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีสิทธิ์จะแก้ไขมาตราใดๆ ก็ได้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เช่น มาตรา 309 , การทำหน้าที่ในสภา, การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ การแก้ไขเพื่อให้มีนิรโทษกรรม เป็นต้น อีกทั้งขณะนี้สภาพการเมือง ที่เป็นเผด็จการสภาฯ คงยากที่ฝ่ายค้านจะมีเสียงคัดค้าน หรือ ลงคะแนน ว่าไม่เห็นด้วย

**พท.แถลงโต้'เสรี'ยันไม่มีล็อกสเปก
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ไม่มีการล็อกสเปกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ตามที่ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการ ระบุว่า สสร. ทั้ง 99 คน จะเป็นคนของนักการเมืองประมาณ 70 คน อย่างแน่นอน เนื่องจาก สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คน ซึ่งผู้เข้ารับการเลือกตั้ง ต้องมีอายุ 35 ปี ขึ้นไป และต้องไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ พร้อมขอให้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม อย่าวิจารณ์ทั้งที่ไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ และคาดว่าร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้ จะสามารถยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้
ตัวแทนพรรคการเมือง หรือ ส.ส.ระบบปาตี้ลิสต์ลำดับท้ายๆ จะไม่ลาออกไปลงสมัครอย่างแน่นอน ส่วนการจัดการเลือกตั้งนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างราบรื่น

**คนเพื่อไทยปัดล็อกสเป็ก ส.ส.ร.
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่กกต.ระบุว่าไม่มีอำนาจในการจัดเลือกตั้งสสร.ว่า ก็ไม่เป็นไรยังมีเวลาปรึกษาหารือกันได้ ปัญหามีไว้ให้แก้ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม อย่าไปมองว่าทุกอย่างยากเย็น ถ้ามีเรามีจิตบริสุทธิ์ตั้งใจจริงๆมันทำได้หมด
ส่วนความเคลื่อนไหวของคนที่เคยเคลื่อนไหวกับพรรคเพื่อไทย กลุ่มส.ส.สอบตก จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร. เป็นการล็อคสเปคหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ วิธีการเลือกประชาชนเขาเลือกไม่เหมือนกัน เขาเลือกท้องถิ่นแบบหนึ่ง นายกฯอบจ.ก็แบบหนึ่ง เลือกส.ส.ก็แบบหนึ่ง สสร.ก็แบบหนึ่ง ไม่เหมือนกันหรอก อย่างไรก็ตามหากมีการเลือกตั้งสสร.ก็ถือว่าอ่านใจประชาชนยาก เพราะเมื่อครั้งที่แล้วทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงิน โกงแล้วยังได้มา 265 เสียง เพราะเขาดูคนทำงาน
นายชวลิต วิชยสุต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ(กมธ.ปรองดอง) กล่าวว่า การล๊อคสเป็ก เป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้คนอาจมองว่าพรรคเพื่อไทยมีเสียงส่วนใหญ่จึงอาจจะทำให้มีการคาดการกันไปเอง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่า เรื่องนี้จะไปดูถูกความคิดของประชาชนนั้นคงไม่ได้

**“ประเกียรติ”ปัดลงสมัครสสร.
นายประเกียรติ นาสิมมา อดีตผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสสร.ว่า ยืนยันว่าตนจะไม่ไปลงสมัครเป็นสสร.อย่างแน่นอน ขอเป็นแค่ผู้ดูอยู่ข้างนอกดีกว่า จะร่างกันอย่างไรก็ร่างกันไป ส่วนตัวแล้วมีอุดมการณ์ชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

**เริ่มต่อสายผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ส.ส.ร.
ก่อนหน้านี้มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้บุคคลที่ทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยบางคน เริ่มเคลื่อนไหวต่อสายถึงผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อให้ช่วยผลักดันให้ได้รับการคัดเลือกเป็นส.ส.ร.ของจังหวัดที่ตัวเองสังกัดกันบ้างแล้ว
ทั้งนี้พรรคจะมีร่างแก้ไขอย่างน้อย 4 ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยฉบับแรกเป็นของรัฐบาล ฉบับที่ 2 เป็นของพรรคเพื่อไทย และฉบับที่ 3 และ 4 นั้นเป็นฉบับของภาคประชาชน ซึ่งในส่วนของพรรคนั้นจะเสนอแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจังหวัดละ 1 คนรวมทั้งหมด 77 คน ส่วนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นจะให้มีการสรรหาโดยสถาบันอุดมศึกษาทั้งในสายรัฐศาสตร์ กฎหมายมหาชน และอื่นๆมาให้สภาฯ เลือกจำนวน 22 คน รวมแล้วจะมีส.ส.ร.ทั้งหมด 99 คนเหมือนสมัยที่ยกร่างปี 40

**มติเพื่อไทยยื่นแก้รธน. 9 ก.พ.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมส.ส.พรรคได้มีมติเห็นชอบให้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสสร.ต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 9 ก.พ. โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) พร้อมทั้งส.ส.ของพรรค จะเดินทางไปยื่นในเวลา 10.00 น.

**นปช.ยื่นร่าง 9 ก.พ.เหมือนกัน
นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ รักษาการโฆษกแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า แกนนำนปช.ได้ย้ำว่ามีจุดยืนที่ชัดเจน มีเจตนารมย์ในการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยจะมีการยื่นแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 291 ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ เวลาประมาณ 11.00 - 12.00 น.

**ชทพ.ส่อค้าน ม.291ของพท.
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวภายหลังการประชุมกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค ว่า พรรคยังไม่มีข้อสรุปหรือมติของพรรคเพื่อไทย ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง และได้มอบหมายให้ส.ส.ของพรรค ที่เป็นกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เข้าไปเจรจากับวิปรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ทำการหาเสียงไว้
อีกทั้งพรรคชาติไทยพัฒนาจะเสนอร่างแก้ไขในนามของพรรค โดยยึดแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ สสร. 40
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านั้นนายบรรหารระบุว่า “ผมไม่รู้ ผมไม่ทราบเรื่องจริงๆ ไม่ได้ศึกษา จะแก้ก็แก้ ไม่แก้ก็ไม่แก้ ผมไม่สนใจแล้ว หากอยากรู้ให้ถาม ท่านสมศักดิ ปริศนานันทกุล จะรู้ดี”
ขณะที่นายชุมพลอ้างว่า “มาตรา 291 ก็เหมือนกับมาตรา 211 สมัยที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน จะมาบอกว่าเป็นนอมินีนักการเมืองได้อย่างไร”ก่อนจะเดินทางออกจากพรรคด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 มาตรา 211 ที่พรรคชาติไทยเตรียมเสนอให้ วิปฯรัฐบาลพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ส.ร. นั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 76 คน แบ่งเป็นจังหวัดละ 1 คน เลือกได้คนละไม่เกิน 3 คน เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 10 อันดับ

**กกต.จี้รัฐบาลเอาให้ชัดเรื่องสสร.
นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้ทางกกต.เป็นผู้ดำเนินการเลือกส.ส.ร.ขึ้นมา ว่า กรณีดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของทางรัฐสภาและรัฐบาลซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีส.ส.ร. เคยดำเนินการมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อปี 2549 มาตรา 19 โดยระบุว่า ให้มีการจัดตั้งส.ส.ร. ขึ้นมา ซึ่งได้ให้อำนาจคมช.จัดตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ หลังจากนั้นทางสมาชิกสมัชชาแห่งชาติก็จะเลือกสรรกันเองเหลือ 200 คน สำหรับการแก้ไขมาตรา 291 หากจะให้กกต.จัดการเลือกส.ส.ร.ก็จำเป็นต้องแก้มาตรา 291 ดังกล่าวนี้ก่อน เพื่อให้อำนาจกกต.จัดเลือกตั้งส.ส.ร.ทั่วประเทศ 77 จังหวัด นอกจากนี้ จะต้องไปดูกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. เพราะกกต.มีอำนาจเพียงเลือกตั้งส.ส.สว. เท่านั้น หากแก้ไขมาตรา 291 ก็อาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปว่า ให้ส.ส.ร. เลือกตั้งโดยกกต.มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกได้ด้วย
ส่วนการออกเสียงประชามติ ขณะนี้เรามีพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติปี 2552 อยู่แล้ว ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้อาจมีขั้นตอนมากมาย และตามที่ปรากฏเป็นข่าวออกมานั้นจะให้มีการทำประชามติภายในระยะเวลา 60 วันนั้น ก็จะขัดกับพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติปี 2552 ได้ระบุว่า จะต้องทำการออกเสียงประชามติไม่ต่ำกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งวิธีการน่าเชื่อได้ว่า หากแก้ไขมาตรา 291 คงจะให้ส.ส.ร. เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยให้กกต.เป็นผู้จัดทำ โดยมีตัวอย่างจากการับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถ้าทำด้วยความรวดเร็วคงจะไม่ยึดตามพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติปี 2552 น่าจะทำโดยส.ส.ร.เองมากกว่า โดยกกต.สามารถจัดทำได้เร็วที่สุด ถ้าบอกล่วงหน้าก็จะทำได้ตามกำหนดระยะเวลา
"เราพร้อมเหมือนคนที่ออกศึกอยู่แล้ว และเร็วๆ นี้ก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นงานที่หนักมาอยู่แล้ว ก็อาจจะให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ก็อยากให้มีการเขียนกฎหมายให้ชัดว่าจะให้ส.ส.ร.หาเสียงได้เหมือนนักการเมืองหรือไม่ หรือสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่าส.ส.ร. มาจากพรรคใดอยู่แล้ว พร้อมทั้งอยากให้มีการระบุคุณสมบัติผู้สมัครสสร ให้ชัดเจน เพื่อที่กกต.จะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ "นางสดศรี กล่าว

**ยะใส จวกแค่ทำคลอด “ฉบับเอาคืน”
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เพื่อเปิดทางตั้ง สสร.3 แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในขณะนี้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ที่ยังมีความขัดแย้งแตกแยก ปัญหาวิกฤติอุทกภัยที่ยังรอความชัดเจนในการเยียวยาและการรับมือกับน้ำท่วมรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาข้าวยากหมากแพงอันเกิดจากการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ควรยุติการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน
หากจะแก้ไขจริงๆ ควรทำประชามติถามความเห็นของประชาชนว่าสมควรแก้ไขหรือไม่ พรรคเพื่อไทยอ้างเสียงส่วนใหญ่แต่ทำไมไม่กล้าเปิดให้มีการลงประชามติให้ประชาชนตัดสินใจ
แม้อ้างว่าจะให้ สสร.3 เป็นเจ้าภาพก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันดีว่าที่มาของ สสร.ทั้งในส่วนตัวแทนจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญ จะถูกคนของเพื่อไทยยึดกุมหมด เพราะในขณะนี้ทราบมาว่าบางจังหวัด นปช.และพรรคเพื่อไทยเตรียมคนไว้พร้อมแล้วด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะแกนนำ นปช.ระดับจังหวัดมีการวิ่งเต้นกันเพื่อขอเป็น สสร.กันแล้ว
ผมไม่เชื่อว่าคุณทักษิณและบริวารจะหลุดพ้นอคติที่มีต่อตุลาการภิวัฒน์ สถาบัน และฝ่ายตรงกันข้าม และร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป้าหมายปฏิรูปประเทศไทยได้ย่างแท้จริง แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นแค่ “รัฐธรรมนูญฉบับเอาคืน” เท่านั้น เปลืองงบประมาณ เสียเวลา และสุมไฟความแตกแยกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น