xs
xsm
sm
md
lg

กกต.จ่อตั้ง กก.ไต่สวนกรณี “ชัยวัฒน์” - ชี้จะจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.ต้องแก้ ม.291 ระบุให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“สดศรี” เผยที่ประชุมเล็งตั้ง กก.ไต่สวน “ชัยวัฒน์” ลาออกรักประเทศไทย เผยได้หนังสือพร้อมหลักฐานแล้ว แต่ของ “โปรดปราน” ยังไม่ได้ ชี้อาจต้องพิสูจน์ลายมือ ระบุอาจมีผลถึงพรรค โยน ป.ป.ช.สอบใช้งบไม่ถูกต้อง - เห็นชอบร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ... ชี้หากให้จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.และทำประชามติต้องระบุในร่างแก้ ม.291 ให้ชัด แต่เชื่อมีแต่ฝ่ายการเมืองนั่งตัวแทน

วันนี้ (7 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การประชุม กกต.วันที่ 8 ก.พ.นี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะได้มีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการลาออกจากสมาชิกพรรครักประเทศไทยของนายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ หลังจากที่ด้านกิจการพรรคการเมืองได้รับหนังสือชี้แจงจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ยืนยันว่านายชัยวัฒน์ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว โดยมีการส่งหลักฐานการประชุมกรรมการบริหารพรรค พร้อมรูปถ่ายมาประกอบการยืนยัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายโปรดปราน โต๊ะราหนี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครักประเทศไทย ที่นายชูวิทย์ระบุว่าได้มีการยื่นลาออกการเป็นสมาชิกพรรคด้วยนั้น ขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้รับเรื่อง และถ้าหากมีการยื่นเรื่องมาและมีปัญหาคัดค้านการลาออกในทำนองเดียวกับนายชัยวัฒน์ ก็คงจะมีการดำเนินการไต่สวนไปพร้อมๆกัน

นางสดศรียังกล่าวอีกว่า การพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวนจะใช้เวลาแค่ไหนก็ขึ้นกับหลักฐานการลาออก หากต้องมีการพิสูจน์ลายมือของนายชัยวัฒน์ ก็อาจต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ในเรื่องของข้อกล่าวหาว่านายชัยวัฒน์ นำงบประมานไปใช้จ่ายไม่ถูกต้องนั้น เป็นที่ ป.ป.ช.เป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของ กกต. ทั้งนี้ ขณะนี้ถือว่านายชัยวัฒน์ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ จนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะได้ข้อยุติในปัญหาที่เกิดขึ้นและมีการลบชื่อนายชัยวัฒน์ ออกจากระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคของ กกต.

“เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของพรรค ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในพรรค กกต.คงจะดำเนินการในส่วนที่มีการร้องเรียนมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ขัดต่อข้อบังคับพรรคหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีผลไปถึงสภาพความเป็นพรรคในอนาคตด้วยว่าจะเป็นอย่างไร” นางสดศรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากรณีดังกล่าวหากผลการตรวจสอบออกมาว่านายชัยวัฒน์ไม่ได้ยื่นลาออกจาการเป็นสมาชิกพรรคจริง ก็จะมีผลให้นายชูวิทย์อาจถูกดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ขณะเดียวกัน อาจมีผลให้พรรคถูกยุบตามมาตรา 94 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากหลักฐานที่นายชูวิทย์นำมาแสดง กกต.นั้นระบุว่า กรรมการบริหารพรรคทุกคนรู้เห็นกับการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของนายชัยวัฒน์ ตามที่นายชูวิทย์อ้าง

นอกจากนี้ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ... หรือร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ที่ออกมาเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 โดยร่างระเบียบดังกล่าวจะมีเนื้อหาในการกำหนดให้ผู้ที่เสนอขอออกเสียงประชามติ ได้แถลงถึงข้อดีข้อเสียของเรื่องที่จะมีการทำประชามติ ซึ่งถ้ามีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไข ร่างระเบียบฉบับนี้จะเป็นเหมือนการจัดเวทีให้ผู้ที่ทำประชามตินำเสนอข้อมูลให้กับประชาชนถึงเรื่องที่จะลงประชามติ แต่ก็คิดว่าหากมีการทำประชามติโดยยึด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของระยะเวลา เพราะตาม พ.ร.บ.กำหนดไว้ว่าให้มีการจัดการออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา แต่ข่าวที่ออกมาทางฝ่ายการเมืองอยากให้มีการทำประชามติภายใน 60 วัน ซึ่งจะขัดต่อ พ.ร.บ.นี้

นางสดศรีกล่าวอีกว่า แต่ก็ไม่แน่ที่ฝ่ายการเมืองอาจจะใช้วิธีทำประชามติเหมือนที่เคยทำประชามติในปี 50 คือ ไม่มีการอาศัย พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2540 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น แต่ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลดำเนินการทั้งหมด โดย ส.ส.ร.ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วมาจ้างให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการออกเสียง ซึ่งก็เป็นวิธีการที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหากมีการทำประชามติภายใน 60 วัน แล้วให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด การให้ความรู้กับประชาชนก่อนที่จะลงประชามติอาจทำได้ไม่ทั่วถึงและสมบูรณ์นัก เพราะในปี 50 ส.ส.ร.ในขณะนั้นเป็นผู้ให้ความรู้ยังมีประชาชนไม่รู้เลยว่าแต่ละมาตราในร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง

นางสดศรีกล่าวด้วยว่า แต่หากให้ กกต.ดำเนินการทั้งเลือกตั้ง ส.ส.ร. และออกเสียงประชามติก็ให้แก้รัฐธรรมนูญ 291 โดยให้มีการใส่ในรายละเอียดกำหนดว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นการเลือกตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ด้วยหรือไม่ และจะให้มีการเลือกในลักษณะ ส.ส.หรือ ส.ว หรือจะให้มีลักษณะพิเศษอย่างไร แต่ถ้าเลือกในลักษณะจังหวัดละ 1 คน ก็จะใช้งบประมาณใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง ส.ว.ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งตนเห็นว่าที่ฝ่ายการเมืองใช้วิธีให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.นั้น ก็เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่ากำลังเข้าระบบประชาธิปไตยเต็มที่ จะได้ไม่มีการโต้แย้งว่า ส.ส.ร.เหล่านั้นไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน แต่การที่ ส.ส.ร.เหล่านั้นจะเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองหรือไม่ น่าจะไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพราะแน่นอนว่าถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง ฝ่ายการเมืองก็ต้องเอาคนของตนเองเข้าไปทำหน้าที่ ส่วน ส.ส.ร.อีก 22 คน ที่ระบุว่าจะเป็นนักวิชาการ ก็คงจะคัดเลือกจากสภามหาวิทยาลัย ซึ่งน่าจะเข้ามาทำหน้าที่ของผู้ยกร่าง โดย ส.ส.ร.ที่เป็นตัวแทน 77 จังหวัดก็จะเป็นองค์ประกอบหรือเป็นผู้ที่จะให้มาความรู้ก่อนทำประชามติ

นางสดศรีเชื่อว่า แม้จะใช้วิธีเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็จะไม่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ยุติลง เพราะจริงๆ กฎหมาย ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะทำให้ยุติความขัดแย้งได้ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งถ้าพูดว่าออกกฎหมายแล้วมันจะอำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายบริหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น