xs
xsm
sm
md
lg

“อภิชาต” หนุนทำประชามติก่อนแก้ รธน. “เจ๊สด” แนะดูให้ดีสมควรแก้หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
ปธ.กกต.ถามชาติวุ่นจนต้องแก้ รธน.แล้วหรือยัง หนุนทำประชามติก่อนแก้ ไม่วิจารณ์ตั้ง ส.ส.ร.3 ด้าน “สดศรี” เห็นพ้อง “อภิชาต” หวั่นถ้าทำก่อนรัฐจะมีปัญหาแน่ ยิ้มจะได้ใช้กฎหมายลูกประชามติแล้ว ยันพร้อมจัดตลอดเวลา แต่แนะดูให้ดีๆ ว่าสมควรหรือไม่ หนุนตั้งศาลเลือกตั้ง

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยหนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากเห็นว่ามีความจำเป็นหรือแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและบ้านเมือง รวมทั้งเห็นว่าวันและเวลาเหมาะสมแล้วก็ควรดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ก็ต้องดูด้วยว่าขณะนี้ประเทศเรามีปัญหามากพอที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยุบองค์กรอิสระ ตนมองว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งก็ต้องอยู่ในกรอบ

ส่วนการแก้ไขจะเป็นชนวนจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งหรือไม่นั้น นายอภิชาตกล่าวว่า ทุกอย่างก็ต้องดูด้วยเหตุผลและความจำเป็น แต่ตนเห็นว่าควรจะทำประชามติ ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะพอจะลดความขัดแย้งได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ควรให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการด้วยการวิธีการอย่างไร ทั้งนี้ ตนขอไม่ออกความคิดเห็นหากจะมีการจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาเหมือนเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2540 และ 2550 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันอย่างเดียวตลอดไป นอกจากนี้ จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้มีการใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งการทำประชามติจะมีการใช้งบประมาณที่น้อยกว่า แต่ก็จำเป็นต้องดูทั้งข้อดีและข้อเสียว่าจะคุ้มหรือไม่

ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้หากมีการทำก็เป็นครั้งแรกที่ทำประชามติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งการดำเนินการรูปแบบคล้ายกับการเลือกตั้ง แต่จะมีความแตกต่างในรายละเอียดคือมีการถามว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเห็นด้วยที่จะแก้ไขทั้งฉบับหรือบางมาตรา ซึ่ง กกต.พร้อมตลอดเวลาอยู่แล้วหากจะให้มีการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขฯ หากไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งก็ควรจัดให้มีการทำประชามติก่อนจะแก้ไข เพราะถ้าแก้ก่อนแล้วค่อยทำประชามติจะถือว่าเป็นการผูกมัดว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจเกิดปัญหาต่อรัฐบาลได้ ส่วนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) ขึ้นมานั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภาว่าจะกำหนดรูปแบบอย่างไร

“ถ้าฝ่ายการเมืองอยากแก้ไขเร็วก็ใช้เสียงสภาได้เลย ซึ่งก็แว่วๆ ว่าก็จะทำอย่างนั้น แต่อาจเกิดการโต้แย้งกันเพราะเสียงข้างมากในสภาก็คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรขึ้นมาอีก เพราะประเทศก็ช้ำกันมามากแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าจะเป็นเหตุ แต่ทั้งนี้เหตุดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลมีปัญหาอยู่ไม่ได้หรือเปล่า เช่นถ้าจะมีเหตุถูกยุบพรรคขึ้นมาอีก ก็ต้องเร่งแก้มาตรา 237 เพื่อตัดมาตรานี้ออกไป แต่การจะทำอะไรก็ตาม ก็ต้องแก้มาตราหลักคือ 309 เสียก่อน ซึ่งตรงนี้ก็มีการพูดว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทั้งหมด ก็จะมีปัญหาอีกว่าถ้าลบมาตรานี้แล้วจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกหรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องมองกันยาวๆ ว่หากทำเช่นนั้นคำพิพากษาของศาลต่างๆ ที่มีออกมานั้นจะไม่มีผลไปด้วยหรือไม่ และรัฐบาลนี้จะอยู่ต่อได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่ง กกต.และองค์กรอิสระอื่นก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นการจะแก้ไขก็ควรพิจารณาให้ดีว่าสมควรหรือไม่” นางสดศรีกล่าว

นางสดศรียังกล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดผลอย่างไรบ้าง เราไม่อยากให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นมาอีก เพราะไม่มีผลดีต่อบ้านเมือง กกต.เองไม่ได้กังวลว่าจะถูกยุบหรือถูกให้เลิกไป เพราะอะไรที่ตั้งมาแล้วเลิกไปแต่มีประโยชน์ต่อประชาชนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว และจัดศาลเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะการทำงานที่ไม่ได้รับการยอมรับก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ประธาน กกต.ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดอบรมหลักสูตรโครงการพัฒนาบุคคลากรของพรรคการเมืองหลักสูตรการพัฒนาการ และการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 3 ปี 2554(พตส.) ว่า จากการประเมินผลการอบรมทั้งรุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทุกคนที่ได้รับการอบรมตั้งใจศึกษากันอย่างเต็มที่ อีกทั้งโครงการต่างๆ มีบุคลากรของพรรคการเมือง ผู้บริหารระดับสูงของรัฐและเอกชนเข้ามาอบรม จึงเชื่อว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศได้ อีกทั้งบุคลากรที่ได้เลือกสรรค์เข้ามาอบรมก็เป็นบุคคลที่มีศักยภาพ หรือความรู้ความสามารถ จึงเชื่อว่าจะนำความรู้ไปถ่ายทอดที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้

นายอภิชาตกล่าวว่า ขณะที่การอบรมรุ่นที่ 3 จะแตกต่างจากรุ่น 1 และ 2 โดยจะมีบุคคลภายนอกเข้ามาประเมินผลภายหลังจบหลังสูตรด้วย ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้กำหนดหลักสูตร ต้องการอยากให้เห็นผลดำเนินการในหลายแง่หลายมุม คาดหวังว่าอยากให้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมครั้งนี้ นำความรู้ไปปรับปรุงและแก้ไขช่วยเหลือพัฒนาประเทศชาติให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต เชื่อว่าทุกคนได้เข้าอบรมจะมีความสามัคคี ไม่แตกแยก แม้จะมาจากต่างที่ ต่างสีก็ตาม ส่วนที่มีหลายฝ่ายกังวลว่า พตส.รุ่นที่ 3 มีแกนนำ นปช. เข้ามาร่วมอบรมด้วยนั้นจะก่อให้เกิดความแตกแยก ตนคิดว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะเรื่องดังกล่าวทางพรรคการเมืองเป็นผู้พิจารณาส่งตัวแทนเข้ามาอบรม ยืนยันว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น