“วิทยา” เผยผลฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดของ สธ.คืบหน้า 20 วัน ผ่านเกณฑ์ปลอดภัยแล้ว 1,169 แห่ง เผยแผนฟื้นฟู 4,690 ตำบลหลังน้ำลดคืบหน้าไปมาก หลังเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 10 พ.ย. มีพื้นที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานปลอดภัยครบ 10 ตัว ชี้วัดแล้ว 1,169 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 25 ของเป้าหมาย มั่นใจครบ 100 เปอร์เซนต์ก่อนปีใหม่
วันนี้ (30 พ.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยและมอบเวชภัณฑ์ยารักษาโรคหลังน้ำลดใน 23 ตำบล ที่ อ.บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น ต.ช้างใหญ่ ต.โคกช้าง ต.บ้านม้า ต.ไม้ตรา ต.บางไทร ต.กกแก้วบูรพา ต.ช่างเหล็ก ต.บ้านกลึง ต.กระแชง ต.บ้านแป้ง เป็นต้น และติดตามผลความคืบหน้าของการดำเนินการกิจกรรมการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีน้ำท่วมทั้งหมด 16 อำเภอ รวม 194 ตำบล เพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติและปลอดภัย
นายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมมากว่า 4 เดือน จนถึงขณะนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น เข้าสู่ระยะการฟื้นฟูคือระยะที่ 3 โดยมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 64 จังหวัด รวม 4,690 ตำบล เป็นวาระเร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขฟื้นฟูเยียวยา 5 เรื่องสำคัญ เพื่อสร้างมั่นใจ ความปลอดภัยทางสุขภาพแก่ประชาชนทั้งไทยหลังน้ำท่วมประกอบด้วย บริการทางการแพทย์ การควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด การฟื้นฟูความสะอาดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมทั้งสุขา ขยะ การคุ้มครองดูแลความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่ม จะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยเหมือนกันทุกพื้นที่ รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งขณะนี้พบว่ามีผู้ประสบภัยที่มีปัญหาด้านจิตใจ ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 3 กลุ่ม รวม 17,546 ราย ประกอบด้วยเครียดสูง 7,091 ราย ซึมเศร้า 8,885 ราย และมีความเสี่ยงต่อการคิดสั้น 1,570 ราย จะต้องเยียวยาจนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 669 ล้านกว่าบาท
ทั้งนี้ ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการในพื้นที่รายจังหวัด และรายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์ กำหนดให้ทุกตำบลบรรลุเป้าหมายภายใน 45 วันหลังลงมือ ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 20 วัน ผลดำเนินการน่าพอใจ ได้รับรายงานมีความคืบหน้าแล้ว 1,169 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการบรรลุตามเป้าแล้วเสร็จก่อนปีใหม่นี้
นายวิทยากล่าวอีกว่า ในการเยียวยาฟื้นฟูครั้งนี้ได้ระดมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขที่มี 2 ล้านคนทั่วประเทศ ร่วมดำเนินการ โดยทุกพื้นที่จะต้องผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดความสำเร็จ 10 ตัว จึงจะประกาศเป็นพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติและปลอดภัย ได้แก่ 1.สถานบริการที่ถูกน้ำท่วมเสียหายสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ 2.มีผลดำเนินการซ่อมแซมสถานบริการ 3.จัดหน่วยแพทย์บริการเชิงรุกในกลุ่มผู้ป่วยในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้พิการ ทั้งในและนอกสถานที่ 4.ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพจิตต่อเนื่องครอบคลุมกว่าร้อยละ 80 5.มีการเฝ้าระวังโรคในศูนย์พักพิงและในโรงพยาบาล 6.มีกิจกรรมป้องกันโรคโดยเฉพาะโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษ โรคไข้หวัดใหญ่ 7.มีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติงานควบคุมโรคได้ทันทีเมื่อเกิดโรคและภัยสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง 8.มีการควบคุมคุณภาพอาหารและน้ำ ล้างตลาดสดทุกแห่งและควบคุมคุณภาพน้ำประปาให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก 9.มีการกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลและน้ำเน่าเสียให้กลับคืนปกติ 10.มีการปฏิบัติงานของ อสม.ทุกตำบลในการดูแลสุขภาพประชาชนต่อเนื่อง