xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติก่อนแก้รธน. กกต.ขอ3พันล้านจัดให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กกต.เด้งรับแก้รธน.แนะทำประชามติก่อนแก้ ช่วยลดความขัดแย้งได้ พร้อมจัดให้ ใช้งบไม่ถึง 3 พันล้าน "เจ๊สด" ห่วงแก้ ม.309 โละองค์กรอิสระ ปลดโซ่ตรวน"แม้ว" อาจกระทบชิ่งถึงรัฐบาลได้ "มาร์ค" ดักคอ"ธิดาแดง" แก้ ม.190 ระวังผลประโยชน์ทับซ้อน ใครบางคนจะใช้รัฐบาลไปหาประโยชน์จากเพื่อนบ้าน "เหลิม" ไม่อยากให้แก้ ม.237 กลัว 111 ซากจะฟื้นคืนชีพมาแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี

วานนี้ ( 23 ธ.ค.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย หนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากเห็นว่ามีความจำเป็นหรือแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและบ้านเมือง รวมทั้งเห็นว่าวันและเวลาเหมาะสมแล้ว ก็ควรดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ก็ต้องดูด้วยว่าขณะนี้ประเทศเรามีปัญหามากพอที่ควรแก้แล้วหรือยัง และหากมีการแก้ไขโดยยุบองค์กรอิสระ ตนมองว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งต้องอยู่ในกรอบ

ส่วนการแก้ไขจะเป็นชนวนจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งหรือไม่นั้น ทุกอย่างก็ต้องดูด้วยเหตุผล และความจำเป็น แต่ตนเห็นว่า ควรจะทำประชามติ ก่อนแก้ จะลดความขัดแย้งได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ควรให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการด้วยการวิธีการอย่างไร ทั้งนี้ ตนขอไม่ออกความคิดเห็น หากจะมีการจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาเหมือนเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันอย่างเดียวตลอดไป

**ประชามติใช้งบไม่ถึง 3 พันล้าน

นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งการทำประชามติจะมีการใช้งบประมาณที่น้อยกว่า แต่ก็จำเป็นต้องดู ทั้งข้อดีและข้อเสียว่าจะคุ้มหรือไม่

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากมีการทำประชามติ ก็เป็นครั้งแรกที่ทำประชามติตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งการดำเนินการรูปแบบคล้ายกับการเลือกตั้ง แต่จะมีความแตกต่างในรายละเอียด คือ มีการถามว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเห็นด้วยที่จะแก้ไขทั้งฉบับ หรือบางมาตรา ซึ่ง กกต.พร้อมตลอดเวลาอยู่แล้วหากจะให้มีการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า การแก้ไขฯ หากไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งก็ควรจัดให้มีการทำประชามติก่อน เพราะถ้าแก้ก่อนแล้วค่อยทำประชามติ จะถือว่าเป็นการผูกมัดว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจเกิดปัญหาต่อรัฐบาลได้ ส่วนการตั้งส.ส.ร. 3 ขึ้นมานั้น เป็นหน้าที่ของรัฐสภาว่าจะกำหนดรูปแบบอย่างไร

** เตือนแก้ ม.309 จะกระทบชิ่งรัฐบาล

" ถ้าฝ่ายการเมืองอยากแก้ไขเร็ว ก็ใช้เสียงสภาได้เลย ซึ่งก็แว่วๆว่าจะทำอย่างนั้น แต่อาจเกิดการโต้แย้งกัน เพราะเสียงข้างมากในสภา ก็คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรขึ้นมาอีก เพราะประเทศก็ช้ำกันมามากแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่น่าจะเป็นเหตุ แต่ทั้งนี้เหตุดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลมีปัญหาอยู่ไม่ได้หรือเปล่า เช่น ถ้าจะมีเหตุถูกยุบพรรคขึ้นมาอีก ก็ต้องเร่งแก้ มาตรา 237 เพื่อตัดมาตรานี้ออกไป แต่การจะทำอะไรก็ตาม ก็ต้องแก้มาตราหลัก คือ 309 เสียก่อน ซึ่งตรงนี้ก็มีการพูดว่า จะเป็นการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ทั้งหมด ก็จะมีปัญหาอีกว่า ถ้าลบมาตรานี้แล้วจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกหรือไม่ ตรงนี้ก็ต้องมองกันยาวๆ ว่าหากทำเช่นนั้นคำพิพากษาของศาลต่างๆ ที่มีออกมานั้น จะไม่มีผลไปด้วยหรือไม่ และรัฐบาลนี้จะอยู่ต่อได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่ง กกต.และองค์กรอิสระอื่นก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นการจะแก้ไข ก็ควรพิจารณาให้ดีว่าสมควรหรือไม่"

นางสดศรี ยังกล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้ได้ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะก่อให้เกิดผลอย่างไรบ้าง เราไม่อยากให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นมาอีก เพราะไม่มีผลดีต่อบ้านเมือง กกต.เองไม่ได้กังวลว่าจะถูกยุบ หรือถูกให้เลิกไป เพราะอะไรที่ตั้งมาแล้วเลิกไปแต่มีประโยชน์ต่อประชาชนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว และจัดศาลเลือกตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะการทำงานที่ไม่ได้รับการยอมรับก็จะ

**"มาร์ค"หนุนประชาพิจารณ์แก้รธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวถึงกรณี ที่ประธาน กกต. เสนอให้ทำประชามติก่อนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมว่า ตนกำลังรอดูว่า ข้อเสนอเรื่องส.ส.ร.เป็นอย่างไร ซึ่งตนค่อนข้างจะเห็นด้วยว่า ถ้าอยากจะแก้ไขปรับปรุงแล้วผ่านประชามติก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตนไม่ได้ติดใจขั้นตอนการทำมติ ว่าจะก่อนหรือหลังการแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนที่พรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เรื่องนี้ถูกระบุอยู่ในนโยบายของรัฐบาล เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเป็นรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนนโยบายของเขาเอง
ส่วนที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่มนปช. ต้องการที่จะให้แก้ไขมาตรา 190 ด้วยนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงแล้วมาตรา 190 แก้ไขไปรอบหนึ่งแล้ว และที่มาของมาตรา 190 ก็เพราะในอดีตมีปัญหาเรื่องการไปทำสัญญาต่างๆ และกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม ขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าของประเทศ และที่ได้แก้ไขไปเป็นเพราะถ้อยคำไม่เอื้อต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งเราก็ได้แก้ตามสมควรแล้ว ที่จะสามารถออกกฏหมาย และรัฐบาลมีความคล่องตัว การมีส่วนร่วม และโปร่งใสมากขึ้น ก็น่าจะพอดีแล้ว แต่หากมีข้อเสนอที่ดีกว่า ก็ต้องระบุออกมาว่า เป็นอย่างไร

** ระวังแก้ม.190 เอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน

ต่อข้อถามว่า มาตรา190 อาจจะเป็นอุปสรรคต่อบางคน ที่ทำธุรกิจข้ามชาติแล้วอาศัยรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า การดำเนินนโยบายต้องระมัดระวังอย่างมาก ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และถ้าเอาสถานะของความเป็นรัฐไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนๆหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สุดท้ายก็จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่รมว.ต่างประเทศ พูดว่าทุกอย่างดีหมด ที่จริงแล้วใม่ใช่ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯคือ สมัยที่มีการเผาสถานทูต และเกิดปัญหาทางการเมืองทั้งในพม่า และประเทศไทย สืบเนื่องมาจากการไปทำธุรกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทั้ง 2 ประเทศ

**ไม่มีรธน.ฉบับไหนทำเพื่อคนคนเดียว
 

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตส.ส.ร. ระบุว่าหากแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนเพียงคนเดียว จะเกิดปัญหาแน่นอนว่า ท่านวิจารณ์อย่างนี้มาตลอด อย่าไปพูดถึงท่านเลย ท่านเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้อาวุโสทางการเมือง จะเป็นไปได้อย่างไร ที่ไปแก้เพื่อคนๆ เดียว มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าพูดไปก็ว่าเฉลิม สู่รู้ทุกเรื่อง ก็มาถามเรื่องกฎหมาย ผมไม่รู้ได้อย่างไร ก็เรียนมาทางนี้

" รัฐธรรมนูญมันเป็นกติกา ของระบอบประชาธิปไตย เป็นกฎหมายสูงสุด เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม แล้วจะแก้เพื่อคนๆ เดียวตรงไหน ยกตัวอย่างดูซิ ผมจะได้อธิบายได้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ส่วนที่กังวลกันว่า หากแก้รัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่ความวุ่นวายนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าจะวุ่นวาย หากแค่แล้วเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนรวม แต่เห็นว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามา ยังไม่ถึงปีตามที่หาเสียงไว้ แต่หากเสียงส่วนใหญ่บอกเอา ก็เอา แต่ถามตนว่าควรแก้หรือไม่แก้ เมื่อไร ก็ตามนโยบายที่พูดไว้ ตนหาเสียงก็บอก 1 ปี แถลงนโยบาย 1 ปี ช้า 9 เดือน ก็ไม่ถือว่าผิดสัญญา

** ไม่จำเป็นต้องแก้ม.237

เมื่อถามว่า มาตรา 237 จำเป็นต้องเร่งแก้ไขหรือไม่ เพราะเดือนพ.ค. 55 ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ 111 คน ก็จะออกมา ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า หลายคนเข้าใจผิด ถ้าเราไม่ทำผิด จะยุบพรรคได้อย่างไร อย่าไปเอาเรื่องเล็กๆน้อยๆ มาหักหลักการ ซึ่งระบบมันไม่ได้ พวกทำผิดแต่พวกเยอะ ก็ไม่ถูกยุบเหมือนกัน มันมี 2 มุม

" บางคนไปเขียนกระทั่งคนอ่านแล้วตกใจว่า เดี๋ยวถ้าบ้านเลขที่ 111 กลับมาแล้วจะทำอย่างไร ก็ 111 ออกหมดแล้ว ในพรรคเหลือนิดเดียว ไปเขียนวิเคราะห์คนนั้นเป็นเกจิการเมือง อีกคนจะมาเป็นนายกฯ จะมาเป็นอย่างไร นายกฯยิ่งลักษณ์ ยังอยู่ แล้วบางคนก็ออกจากพรรคไปแล้ว เข็มทิศก็ไม่มี เดินกลับพรรคไม่ถูกแล้ว แล้วจะมาเป็นไร ก็ออกจากพรรคไปอยู่ที่อื่นเยอะแยะ อย่าไปเขียนการเมืองให้มันแรง พอ พฤษภาฯ ต้องอย่างนี้ แล้วจะมีอะไรพฤษภาฯ พฤษภาฯ ก็หลังเมษาฯ และก็ก่อนมิถุนาฯ ไม่มีอะไรเลย ผมจะวิเคราะห์ให้ฟัง ก็มันออกไปหมดแล้ว ไม่ได้อยู่ในพรรคเพื่อไทย ก็มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายวราเทพ รัตนากร ก็มี 4-5คน ส่วนอื่นก็ไม่มี เชื่อผมเถอะ พฤษภาฯ ก็ก่อนเมษาฯ หลังมิถุนาฯ เท่านั้นเอง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

เมื่อถามว่าหลังจากบ้านเลขที่ 111 ออกมา จะทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแกร่งขึ้นหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พวกนั้นเก่งทั้งนั้น แต่ตนถามว่าจะไปลงสมัครส.ส.แทนใคร ใครจะลาออกให้ลง
"ผมจะวิเคราะห์ให้ฟัง พอหลังเสร็จเรียบร้อย เอามาเป็นรัฐมนตรีนะมี ประเมินการเพราะเก่ง แต่ถามว่าจะเป็นส.ส.ได้มั้ย ได้ยังไง คนเป็นอยู่เขาไม่ลาออก เมื่อไม่เป็นส.ส.แล้วจะมีบทบาทในสภาได้หรือไม่ ก็ลำบาก และอำนาจก็อยู่ที่นายกฯ ผมไม่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ เดี๋ยวถูกดุ กลัวอย่างเดียวกลัวนายกฯดุเอา " ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

เมื่อถามว่าแสดงว่าพ.ค.นี้ จะมีการปรับครม. ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่กล้าพูด นึกยังไม่เคยนึก เพราะไม่มีหน้าที่ใดๆทั้งสิ้น

**แก้รธน.จุดใหน ต้องชี้แจงให้ชัด

นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พูดถึงกันมากว่า อยากขอร้องให้ผู้นำเสนอที่จะปรับแก้รัฐธรรมนูญออกมาพูดให้ชัดว่า ปัญหาอุปสรรคของรัฐธรรมนูญต่อการพัฒนาประเทศอยู่ตรงไหน หรือมีปัญหาในทางการเมืองเรื่องใด มีจุดใดที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมหรือไม่

ขณะนี้มีแต่คนออกมาบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีใครมาบอกให้ชัดเจนว่าจะแก้อย่างไร หรือเพื่ออะไร รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร คนเสนอจึงต้องพูดให้ชัดเจนด้วยว่า จะแก้เรื่องอะไร อาทิ การอธิบายคำจัดความของพรรคการเมืองให้ชัด การให้เอกสิทธิ์ของส.ส.มากเกินไปจนไม่อยู่ในความดูแลของพรรคการเมือง หรือ การให้สิทธิ์องค์กรอิสระต่างๆ ที่มีอำนาจในการตัดสินตัวแทนประชาชนหรือไม่ เหล่านี้ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างประเทศมีความพิกลพิการ ดังนั้นผู้เสนอจึงต้องอธิบายความให้ถูกต้อง

เมื่อถามว่า หากฝ่ายการเมืองจัดทำประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา ก็เหมือนเป็นการชี้นำการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.ล่วงหน้า นายเจริญ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะออกความเห็น ส่วน ส.ส.ร.จะเห็นด้วย หรือนำไปใช้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเรายอมรับกติกาว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย ทุกคนก็สามารถออกมาแสดงความเห็นได้ คงไม่ได้เป็นการชี้นำอะไร

ส่วนที่มีความกังวลว่าฝ่านการเมืองจะเข้าไปครอบงำที่มาของ ส.ส.ร.นั้น ตนมองว่าหากทุกคนยอมรับระบบการเลือกตั้ง เป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่จะเสนอตัวบุคคล แต่เมื่อเสนอไปแล้วคนเลือกคือประชาชน ผลเป็นอย่างไร ก็ยังไม่มีใครรู้

" จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีฝ่ายใดยื่นเรื่องขอแก้ไขเข้ามายังสภา มีเพียงการออกมาวิจารณ์เท่านั้น ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าเรื่องนี้ ก็คงจะมีการประชุมเพื่อออกมาเป็นมติพรรคอีกครั้ง หลายคนก็อาจจะออกมาให้ความเห็นว่า จะแก้อย่างนั้น อย่างนี้ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีมติพรรคก็ยังต้องถือว่าไม่ได้เริ่ม" นายเจริญ ระบุ

** ชทพ.พูดเอาเท่ไม่แก้เพื่อแม้ว

นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนให้สังคมเข้าใจว่าจะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง ควรให้ผู้มีต้นทุนในสังคมเป็นผู้เสนอต่อสังคม เพื่อให้สังคมมั่นใจ และเชื่อถือว่าจะดำเนินการอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญจะต้องไม่ใช่การแก้ไขเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ส่วนแนวทางการแก้ไขพรรคเห็นว่าการมีส.ส.ร. เป็นแนวทางที่ดีที่สุด

ทั้งนี้การแก้ไขจะต้องหลีกเลี่ยงมาตรา 309 และมาตรา ที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะมาตรา 112 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นกฎหมายอาญาไม่ควรนำไปพูด

" เพื่อความชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรพูดถึงการแก้ไข เพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมา เพื่อให้บรรยากาศในการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง หากทำได้เช่นนี้ พรรคจะสนับสนุนการแก้ไข โดยพรรคแกนนำต้องมีเอกภาพ เราพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขเต็มที่" นายชุมพล กล่าว

ส่วนประเด็นที่พรรคชาติไทยพัฒนาอยากเสนอแก้ไข คือประเด็นที่เกี่ยวกับวุฒิสภา และประเด็นที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าไปได้ มาตรา 237 และ มาตรา 68
กำลังโหลดความคิดเห็น