“พิชาย” แจงข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของนปช.ล้วนแล้วแต่เพื่อช่วย “ทักษิณ” พ้นผิด แต่อ้างประชาธิปไตยบังหน้า ชี้เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งในสังคม เตือนอย่าคิดว่าประชาชนหนุนเยอะ ถึงเวลาคนต้านอาจแห่ออกมามากมายอย่างคาดไม่ถึง
วันที่ 22 ธ.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายพิชายกล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ตนไม่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยากแก้หรือไม่ เพราะที่เขาอยากได้มากกว่าคือพาสปอร์ตซึ่งได้ไปแล้ว อีกอย่างก็คือนิรโทษกรรม เพราะถ้าได้ 2 ตัวนี้ก็เป็นอิสระ ปลอดจากความผิดทันที เรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้สำเร็จก่อนพฤษภาคมปีหน้า เพราะหลังพฤษภาคม บ้านเลขที่ 111 จะหลุดจากโทษ ซึ่งแต่ละคนก็มีศักยภาพ พวกนี้อาจมากดดันตำแหน่งรัฐบาล และถ้าได้ตำแหน่งด้วยแล้ว ความสามารถสูงกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยิ่งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หมดบทบาทลง จึงไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่ออำนาจในการควบคุม
ทีนี้เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องระยะยาว แต่ก็จำเป็นสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อกระชับอำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้บรรดาพวกทุนต่างๆถูกตัดทอนลงไป มันไม่ปลอดภัย เลยจำเป็นต้องแก้ให้อำนาจเหลือแค่กลุ่มเดียว แต่ทั้งหมดนี้จะทำในนามอย่างอื่น เช่นการช่วยให้พ้นโทษก็ทำในนามของการปรองดอง การแก้รัฐธรรมนูญก็ทำในนามของประชาธิปไตย
นายสุรชัยกล่าวว่า กรณีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ เสนอแก้มาตรา 309 มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่รองรับการกระทำที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 ความจริงมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 49 ความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เกิดขึ้นตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 ฉะนั้นจึงเป็นเกณฑ์ในการร่างกฎหมายที่สืบต่อมาจากปี 49 ถามว่าถ้าตัดไปแล้วจะมีผลลบล้างการกระทำต่างๆ หรือไม่ ทางนิติศาสตร์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะผลบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 นั้นมีอยู่ เว้นแต่จะไปใช้แนวคิดของนิติราษฎร์ นั่นก็สุดแล้วแต่
แต่เชื่อว่าต้องการมากกว่าสิ่งที่นำเสนอ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลบล้างการกระทำต่างๆที่มาจากคณะรัฐประหาร รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ เช่น คตส. แท้ที่จริงแก้ก็เพื่อต้องการลบล้างผลการสืบสวนของ คตส. ถ้าทำได้สำเร็จก็จะถูกอ้างไปเป็นประโยชน์ให้นักการเมืองที่โดนคดีโดย คตส. นี่คือความต้องการซ่อนเร้น
ส่วนที่อ้างว่าจะไม่ล้มล้างคดี โดยจะให้รื้อขึ้นมาสอบสวนใหม่ นายสุรชัยกล่าวว่า มันเป็นไปได้หรือ ระบบการเมืองของประเทศไทย นักการเมืองที่ทุจริตจะถูกดำเนินคดีในตอนที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ มันเคยมีหรือ
นายพิชายกล่าว่า ตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณโดนไปแล้ว 1 คดี เหลืออีกหลายคดียังรออยู่ แต่ถ้าแก้มาตรา 309 คดีที่รอยู่หายวูบเลย ไม่จำเป็นต้องดำเนินการแล้ว เพราะกฎหมายที่เป็นประโยชน์จะยกให้จำเลย แค่มาตรา 309 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประโยชน์เต็มๆไม่ต้องนิรโทษกรรมด้วย ส่วนที่ตัดสินไปแล้วก็อาจขอพระราชทานอภัยโทษ
นายสุรชัยกล่าวว่า ที่เสนอแก้มาตรา 36-37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 ความจริงแล้วเมื่อประกาศรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีผลยกเลิกแล้วเรียบร้อย ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมาเขียนยกเลิกอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นยิ่งยุ่ง เพราะเท่ากับไปฟื้นรัฐธรรมนูญปี 49 ขึ้นมา แต่ให้ยกเลิกแค่ 2 มาตรา แล้วมาตราอื่นให้มีผลบังคับใช้อย่างนั้นหรือ
ในกรณีที่นางธิดาเสนอตั้ง ส.ส.ร.3 นายพิชายกล่าวว่า บริบทสังคมไทยตอนปี 40 กับตอนนี้มันต่างกันมาก ตอนปี 40 ยังไม่มีกลุ่มมีฝ่าย ทุกคนร่วมมือกัน การตั้งสสร.มันก็เป็นไปตามกลไกของมัน แต่ปัจจุบันถ้าจะแก้อีก ต่างก็รู้แล้วว่าต้องการแก้ไปในแนวทางไหน เขาก็รู้แล้วว่าจะให้ใครมาเป็น ส.ส.ร. เขาก็เอาคนของเขาไปสมัคร แล้วก็บล็อกโหวต ฉะนั้นกลไกที่มาของ ส.ส.ร. เพื่อไทยสามารถคุมได้ ดังนั้นก็ไม่ยากที่จะควบคุมทิศทางการร่างทั้งหมด
ข้อเสนอของนางธิดา ทุกมาตราเป็นการเพิ่มอำนาจให้ ส.ส. เช่นให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ ให้อำนาจไปจัดการฝ่ายบริหาร ที่สำคัญคือระบุว่าให้ตุลาการเชื่อมโยงกับประชาชน ในต่างประเทศก็คือการคัดเลือกตุลาการต้องผ่านสภา แต่ในเมื่อเพื่อไทยคุม ส.ส.ได้ ต่อไปก็จะคัดเลือกตุลาการได้เองอีก ทีนี้ก็จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเลย
นายพิชายกล่าวอีกว่า การแก้รัฐธรรมนูญมันเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และพ.ร.บ.ปรองดอง 2 เรื่องนี้ก็เป็นการจุดชนวนความขัดแย้ง ถือเป็นการข่มขู่ระบบนิติรัฐ แม้เพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก แต่หากมีประเด็นเกี่ยวกับการทำลายระบบนิติรัฐเพื่อช่วยคนคนเดียวให้พ้นผิด คงมีคนออกมาต้านเยอะ ถึงตอนนั้นอาจมีคนออกมาค้านมากมายอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ทำลายกฎหมาย ทำลายประเทศชาติ