xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ถ้า ม.112 ดำรงอยู่ มันจะไปกระทบกับการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอะไรนักหนา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กล่าวสำหรับสถานการณ์การเมืองไทย ปี 2555 หลายฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกันว่ายังเป็นปีแห่งความสุ่มเสี่ยงทางการเมือง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริง ณ ปัจจุบัน ก็ดูจะเข้าเค้าเอาด้วยหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายก็เกรงว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้างคดีความของทักษิณ ชินวัตรในที่สุด ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 กรณีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ที่กลุ่มคนเสื้อแดงและคณะนิติราษฎร์ได้เดินคู่ขนาน เพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากประชาชน ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ที่แน่นอนว่าอาจจะต้องไปกระทบกับกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนชนวนร้อนที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองได้ทุกเมื่อเช่นกันและดูเหมือนจะมีความร้อนแรงคุกรุ่นกันตั้งแต่ต้นปี 2555 เลยทีเดียว จึงถือได้ว่าสถานการณ์การเมืองในปีนี้มีเรื่องให้น่าติดตามไม่น้อยเช่นกัน

ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ได้ให้สัมภาษณ์กับ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ถึงประเด็นทางการเมืองในปี 2555 ที่หลายฝ่ายจับตาว่ามีความเสี่ยงทางการเมืองว่าจะเดินไปในทิศทางใด

**ในทัศนะของอาจารย์ การเมืองในปี 2555 มีแนวโน้มจะเป็นไปในลักษณะใด

รัฐบาลคงจะต้องมุ่งไปที่การที่รัฐบาลมีแนวคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคงเป็นประเด็นหลักที่จะต้องมีอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าคุณเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี) บอกว่าจะไม่มีทางแตะมาตรา 112 คือเรื่องดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชทายาท แต่ก็ไม่แน่ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดยคุณธิดา ถาวรเศรษฐ จะยอมตรงจุดนี้หรือไม่ อาจจะรวมไปถึงกลุ่มเสื้อแดงอีกหลายกลุ่มจะยอมตรงนี้ด้วยหรือไม่ ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี จะออกมาบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไม่ได้ เป็นเรื่องของรัฐสภา ซึ่งความเป็นจริงก็คือ แกนนำ หรือ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นคนเคลื่อนไหวก็เป็นของรัฐบาลทั้งสิ้น คุณยิ่งลักษณ์จะมาบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นคงไม่ได้

อีกเรื่องที่จะส่งผลให้การเมืองร้อนแรงก็ยังมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการยื่นสู่สภาอีก เพราะว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวง่ายๆ คือต้องการให้คุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) กลับมาขึ้นศาล คงจะต้องออกมาต่อต้าน และในขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความต้องการให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอาจนำไปสู่การปะทะทางการเมืองได้

นอกจากนั้นแล้ว ความไม่มีฝีมือของรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาล อาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ไม่อยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับ นี่คือที่เห็นเบื้องต้นจากความน่าจะเป็นของการเมืองในปี 2555

**ดูเหมือนว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีความพยายามที่จะแก้มาตรา 112 อยู่ตลอดเวลา จะทำให้มีปัญหากับกองทัพมากแค่ไหน

ถ้าคนเสื้อแดงเกิดไปแตะมาตรา 112 ขึ้นมาเมื่อไหร่รับรองว่ามีปัญหาขึ้นมาทันที และคงจะไม่มีใครยอม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร กลุ่มประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบัน ถ้าเราจะตั้งคำถามกับกลุ่มคนที่มุ่งจะแก้กฎหมายมาตรา 112 เหมือนกันว่า ถ้ากฎหมายนี้ยังดำรงคงอยู่มันจะไปกระทบกับการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นอะไรนักหนา หรือว่าเขาเหล่านั้นอยากจะตำหนิหรืออยากจะด่า พระราชวงศ์แค่ไหน ถึงอยากจะเอากฎหมายนี้ออก ซึ่งเชื่อว่าถ้าคนเสื้อแดงไปแตะเมื่อไหร่เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นแน่นอน

**มองว่าเป้าประสงค์ลึกๆ ของกลุ่มที่ต้องการให้แก้มาตรา 112 คืออะไร

กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีพวกอดีตคอมมิวนิสต์อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็อาจมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์เจือปนอยู่ อีกทั้งก็ยังมีขบวนการครอบงำทางความคิด ยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านเสื้อแดง ตรงนี้จึงทำให้มีการเกิดการจาบจ้วงให้ร้าย จนอาจคิดเลยเถิดไปว่าหากไม่มีมาตรานี้ก็จะสามารถแสดงออก พูดจาอะไรกันได้อย่างเต็มที่ วันหนึ่งได้เคยฟัง อาจารย์วันชัย สอนศิริ ซึ่งได้พูดถึงกรณีนี้ได้ดีมาก โดยมีการตั้งคำถามว่า ในหลวงหรือพระบรมวงศานุวงศ์ หากถูกใครจาบจ้วง นินทาว่าร้าย ต่างๆ นานา จะสามารถมาฟ้องหมิ่นประมาทใครได้ ซึ่งพระองค์ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะมาเป็นความกับใคร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรา 112 เอาไว้

**มองว่าเป้าประสงค์ของกลุ่มนิติราษฎร์คืออะไร

เคยฟังหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ เคยบอกว่า กฎหมายมาตรา 112 เป็นกฏหมายแบบราชาธิปไตย ซึ่งไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลที่ฟังโดยรวมแล้วก็ฟังไม่ขึ้น คงต้องถามคำถามเดิมว่าฎฏหมายมาตรานี้มันทำลายชีวิตเขาขนาดไหนกันหรือ ถึงขนาดต้องยกเลิกกัน หรือจะเป็นเพราะอาการคันปากอยากพูด ที่มาอ้างว่าเป็นการปิดกั้นความเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่เคยดูหลักของความเป็นจริง อย่างที่อาจารย์วันชัย ได้เคยยกตัวอย่างไว้ ว่าพระองค์ท่านคงไม่มีทางไปฟ้องร้องใครในเรื่องหมิ่นประมาท

** กรณีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าต่อจากนี้จะเป็นไปในลักษณะใด

การที่รัฐบาล พยายามจะโยนหินเพื่อให้มีการตั้ง สสร.ขึ้นมา คิดว่าต้องการให้พ้นจากข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง และโดยส่วนตัวเคยอยู่ในแวดวงตรงนี้มาพอสมควร ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็เห็นไม่พ้นกลุ่มนักการเมืองก็จะทำการล็อบบี้ เล่นพรรคเล่นพวกเอาคนตัวเองไว้ก่อนเท่านั้นเอง ทั้งที่เป็นแบบเลือกตั้งและแบบแต่งตั้ง กล่าวสำหรับเลือกตั้งจะเป็นไปลักษณะเช่น คนที่เป็นแบรนด์ประจำท้องถิ่น ก็จะเป็นคนส่งคนของตัวเองขึ้นมา เช่น คุณเสนาะ เทียนทอง เป็นคนจังหวัดสระแก้ว ก็จะมีการเสนอคนของตัวเองเข้ามา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็หนีไม่พ้นโควตาก็เป็นของคุณเสนาะ ซึ่งไม่มีทางหนีไปไหนพ้น ขณะเดียวกันการเลือกตั้ง ส่วนตัวก็ได้เห็นนักการเมืองเขาก็คุยกันนอกรอบว่าคนนี้เอา คนนี้ไม่เอา เขาก็จะคุยกันก่อน เหมือนกับมีโพลกางออกมาเลยว่าจะให้เป็นบ้าง ฉะนั้นถ้าสมมุติว่าเรายังหนีวงจรอุบาทว์ของนักการเมืองไม่พ้น ถามว่าทำไมเราต้องยอมเสียเงินเพื่อไปตั้ง สสร.ขึ้นมาอีกเพื่ออะไร พวกนักการเมืองก็ทำการร่างขึ้นมาเองเลยว่าจะเอาใครแล้วก็ส่งประชาวิจารณ์ไป

**พรรคเพื่อไทย บอกว่าการตั้ง สสร.ขึ้นมาเพื่อจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม

ต้องบอกว่านักการเมืองเป็นพวกที่เขียนกฎหมายต่างๆ มาเพื่อตัวเองได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าที่สุดแล้ว สสร.ที่จะตั้งขึ้นมานั้น 70-80% ต้องเป็นคนของรัฐบาล สสร.ร่างขึ้นมาก็เพื่อให้ดูมีความชอบธรรมแค่นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันสามารถกำหนดได้เลยว่าพื้นที่ตรงนี้ จังหวัดนี้ จะให้ใครเป็น อย่างเช่น กรณีที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ขณะที่ สสร.สายวิชาการ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันก็คือ ต้องมีการคุยกันก่อน เขาก็โทรศัพท์คุยกัน ว่าจะเอาใคร ไม่เอาใคร ไม่ได้ต่างกันซักเท่าไหร่เลย

**แสดงว่าถึงที่สุดแล้วประชาชนยังไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในเรื่องการตั้ง สสร.

มันเป็นเรื่องของนักการเมืองที่จะกำหนดกันเองอยู่แล้ว ส่วนที่บอกว่ามีการเลือกโดยประชาชน หรือรัฐธรรมนูญมาจาก ส.ส.ร่วมกันโหวต ซึ่งก็รวมไปถึงพวกนักวิชาการ กระบวนเหล่านี้เขาก็ได้มีการเตรียมคน คุยกันมาก่อนแล้ว สุดท้ายก็ไปจบเหมือนเดิมที่เป็นคนของนักการเมืองกว่า 70% ยกตัวอย่างตอน คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ถูกตั้งขึ้นมา ใครที่เป็นคนตั้งก็จะมีคนของเขารวมอยู่เต็มไปหมด อย่างไรก็ดี ประเด็นการคัดค้านการตั้ง สสร.คงจะไม่ทำให้เกิดความรุนแรงเท่าไหร่ คงมีแค่การถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเท่านั้น ซึ่งแน่นอนจะต้องต่างจากการแก้ไข มาตรา 112 กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เชื่อว่าจะมีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น ยิ่งขณะนี้ดูตามคิวแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีการลงชื่อล่า 5 หมื่นชื่อ ผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ อีกสายมีการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับที่อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 เป็นคิวยาวไป อันนี้ที่ส่วนตัวมองว่าการแก้มาตรา 112 และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คนเสื้อแดงต้องการอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้

** ช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ที่คนเสื้อแดงจะจัดระลึกชุมนุมใหญ่ ซึ่งอาจมีการทวงถามความคืบหน้าของการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง มองว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร

เท่าที่สังเกตคนเสื้อแดง เขาได้มีการส่งคนของเขาไปกระจายตามสื่ออย่าง วิทยุต่างๆ และมีการประโคมข่าวว่าพวกคนเสื้อแดงได้มีการติดคุกไปหลายต่อหลายคนแล้ว แต่ทางฝั่งรัฐบาลช่วงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งทหาร ส่งคนมาปราบปราม มาสลายม็อบ ทำไมถึงไม่ติดคุกบ้าง จะว่าไปแล้วกลุ่มคนเสื้อแดงจะมาพูดแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันชัดเจนว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรง มีการจุดไฟเผา ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี มีการขโมยของจากห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็ผิดชัดเจนจนต้องติดคุกอยู่ขณะนี้ แต่จะมาบอกว่าการที่ทหารปราบประชาชน มันยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ในขั้นตอนสืบสวนสอบสวน จะมาอ้างว่าฝ่ายตัวเองติดคุกอยู่ฝ่ายเดียวซึ่งจะมาอ้างแบบนี้ไม่ได ซึ่งก็ต้องบอกแบบมีเหตุผลว่ากระบวนการทางกฎหมายมันยังไม่จบ ส่วนที่จะไปกระทบกับรัฐบาลหรือไม่นั้น คงจะไม่เกิดอะไรไปกระทบรัฐบาลเพราะเขาก็เป็นพวกเดียวกัน ถ้าเกิดพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลอยู่คงเป็นอีกแบบ

นี่สมมุติว่าเป็นการทวงถามรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ คงจะเป็นการทำเป็นพิธี ไม่มีอะไรมากมาย คงไม่ถึงขนาดว่ามาเดินขบวนจนรัฐบาลสั่นคลอนคงเป็นไปไม่ได้ แต่เป้าหมายน่าจะเป็นที่การทำเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเขาคือคนเสื้อแดงติดคุกแล้วนะ แต่ฝ่ายสั่งการทำไมยังไม่ติดคุกเลย ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดสรุปเลยว่าเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนจนเสียชีวิต

**หากสมมุติว่ารัฐบาลชุดที่แล้วถูกตัดสินว่าผิด มองว่าจะมีการนำไปสู่การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายหรือไม่

เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ยอม และจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นได้ เคยได้ฟังนักการเมืองฝั่งเสื้อแดงคนหนึ่งพูดว่า ถ้าเราจะทำอะไรในประเทศนี้ให้เกิดความปรองดอง เราจำเป็นต้องขีดเส้นความถูกต้อง และเขาก็ได้เริ่มต้นด้วยการถามว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นเราฟังเขาพูดในวิทยุแทบอยากจะโทรเข้าไปคุยด้วยว่า ถ้าคุณตั้งคำถามแบบนี้คนก็ต้องบอกไปทางเดียวหมดว่าการปฏิวัติรัฐประหารมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว คุณจะมาเริ่มต้นตรงนี้ทำไม ทำไมไม่เริ่มต้นว่าคอรัปชั่นเชิงนโยบายมันถูกต้องหรือเปล่า การเปลี่ยนสัมปทานเป็นสรรพสามิตถูกต้องหรือไม่ การให้ประเทศพม่ากู้เงินถูกต้องหรือไม่ แล้วทำไมคุณไม่ตั้งคำถามพวกนี้รวมไปด้วย

คุณเล่นมาตั้งว่ารัฐประหารถูกต้องหรือไม่ เอาแบบกำปั้นทุบดินใครจะไปบอกว่าการปฏิวัติรัฐประหารถูกต้องล่ะ ซึ่งคุณต้องถามว่าทำไมคณะปฏิวัติจึงต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติ มีเหตุอันใด หรือมีความจำเป็นใดต้องปฏิวัติ คงต้องย้อนกลับไปเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนการปฏิวัติด้วย แต่กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความพยายามที่จะขีดเส้นวันที่ 19 กันยายน 2549 ไว้ตลอดมา เอาวันนี้เป็นที่ตั้งว่าวันที่ 19 กันยายน มันไม่ถูกต้อง ดังนั้นอะไรต่างๆหลังวันที่ 19 กันยายน จึงไม่ถูกต้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดกับรัฐ หรือ คตส. มันไม่ถูกต้อง จนเราแทบจะโทรเข้าไปบอกว่าอย่ามาเริ่มต้นตรงนี้มันไม่ได้ คุณต้องเริ่มต้นก่อนหน้านั้นซิว่าทำไมเขาต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติคุณล่ะ

**มองว่าสุดท้ายแล้วการแก้รัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาลคงจะต้องไปแก้ มาตรา 309 เพื่อจะได้ยกเลิกความผิดของทักษิณ ชินวัตรทั้งหมด

รัฐบาลคงไม่กล้าไปแตะ เพราะคงจะไม่มีฝ่ายไหนยอม ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ก็อยู่ในคมช.ด้วย ซึ่งจะต้องไปกระทบกับ ผบ.ทบ.อย่างแน่นอน เพราะว่ามาตรา 309 ก็เขียนชัดเจนว่า พวก คมช.จะไม่มีความผิดใดๆติดตัว ถ้าเกิดไปยกเลิกมาตรา 309 ก็จะกลับกลายเป็นว่า คมช.เป็นผู้ทำความผิด ก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ร่วมด้วยครั้งนั้น ก็จะมีความผิดไปด้วย อีกทั้งบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คงไม่มีทางยอมให้ยกเลิกมาตรา 309 ด้วยแน่นอน

ที่ผ่านมาที่กองทัพไม่ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้มากนัก เพราะว่ากองทัพก็ไม่ได้อยากจะมีเรื่องมีราวกับฝ่ายใด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าลึกๆแล้ว ยังมีกลุ่มทีมีการยั่วยุให้ทหารออกมาอยู่ตลอด เอาแค่การจะไปแตะ พ.ร.บ.กลาโหม หรือจะเป็นการยกเลิก มาตรา 309 มันก็ชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้ว นอกจากนั้นเป้าหมายอีกอย่างลึกๆ เชื่อว่าต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงอย่างที่เห็นก็มีกรณีที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN เข้ามามีบทบาททางการเมืองของประเทศไทย อย่างที่เห็นชัดก็เรื่องการเข้ามาพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน การรัฐประหาร ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และสุดท้ายก็จะโยงเพื่อไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 จนได้ซักวันหนึ่ง

**ประเด็นการปรองดอง สำหรับการเมืองในปี 2555 คิดว่าจะเกิดขึ้นได้หรือยัง

ไม่ว่าจะปีไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น (ลากเสียงยาว) คำตอบมีคำตอบเดียว คือคุณทักษิณ ต้องเข้ามาประเทศไทยแล้วขึ้นศาลให้ถูกต้องตามกระบวนการ แกให้เหตุผลว่าสมัยก่อนไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่ตอนนี้คุณทักษิณคุมหมดแล้ว ยังจะบอกว่าไม่ไว้ใจอีกหรือซึ่งการจะปรองดองได้คุณทักษิณ ต้องกลับมาขึ้นศาลสถานเดียว ที่คุณทักษิณอยากจะเข้ามาประเทศไทยแบบไร้มลทิน ไม่ยอมขึ้นศาลแม้แต่คดีเดียว มันเป็นไปไม่ได้ คงไม่มีใครยอม

ส่วนตัวมองว่าคุณทักษิณ เวลานี้คงจะอยากลบล้างความผิดทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีจะพ่วงที่มีความผิดทางการเมือง เช่นกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่มีคดีติดตัว แต่จะมาพูดเหมารวมว่าให้เลิกแล้วต่อกันให้หมด แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ติดคดีก็คงจะไม่ยอมง่ายๆเช่นกัน หรือจะเป็นฝ่ายทหารก็ไม่ได้ยอมรับว่ายิงประชาชน แต่อย่างไรก็ตามคุณทักษิณก็พยายามสร้างแนวร่วมขึ้นมาเพื่อให้เกิดตรงจุดนี้ให้ได้ จึงมองว่า พ.ร.บ.ปรองดอง คงจะเกิดขึ้นได้ยากเย็นแน่นอน คำตอบสุดท้ายในการปรองดองคุณทักษิณ ต้องกลับมาขึ้นศาลอย่างเดียวถึงจะปรองดองได้

** มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรี จะเป็นไปในลักษณะใด

ควรจะปรับใหญ่ได้แล้ว เอาแค่คณะรัฐมนตรีรอบแรกก็แทบจะช็อกตายอยู่แล้ว แต่ละคนต้องบอกว่าดูไม่จืดเหมือนกัน บอกได้เลยว่าหลายคนที่เป็นรัฐมนตรีประชาชนไม่ได้รู้จักมากมาย ความสามารถไม่เคยเป็นที่รับรู้ ความรู้ไม่มี บารมีไม่มาก จะมาเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร ซึ่งคงต้องบอกว่าที่ได้มาเป็นได้ เพราะเป็นรัฐมนตรีโควตา ตัวจริงติดโทษแบนการเมืองก็ส่งลุง ป้า น้า หลานมาแทนแล้วกัน

**เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาพอจะบอกอะไรได้มากแค่ไหน

มีคนไม่เป็นงานในคณะรัฐมนตรีเยอะมาก และไม่ทราบว่าได้เป็นรัฐมนตรีด้วยเหตุผลกลใด จะว่าเป็นการทำงานเพราะต้องตอบแทนก็ไม่เห็นชัดเท่าไหร่ มองว่าเป็นเพราะโควตาล้วนๆ เสียมากกว่า อย่างเอาคนในตระกูลคุณเสนาะมาหนึ่งคน เอาคนของพรรคพลังชลมาคนหนึ่ง คือถ้ารัฐบาลไม่มีเงื่อนไขในการชวนคนมา คงจะทำหน้าที่บริหารประเทศได้ดีกว่านี้ ซึ่งประชาชนคนไทยก็นิ่งเฉยในเรื่องนี้เกินไป

**การกลับมาของนักการเมืองที่ถูกแบน หรือกลุ่ม 111 อดีตกรรมพรรคไทยรักไทยจะกลับมาในกลางปี จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างไร

เบื้องต้นคงจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่ถ้าตราบใดที่การจัดคณะรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับคุณทักษิณเพียงคนเดียว เราก็จะไม่มีอะไรให้ไว้ใจได้อีกต่อไป แต่ในแง่ความสามารถคงจะทำได้ดีกว่าคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน

**กลุ่มนักการเมือง 111 คน ที่มีคนของฟากเนวิน ชิดชอบ คิดว่าทักษิณ ชินวัตร จะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้

มีข่าวแว่วว่ามีการจะนำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย เข้ามารวมด้วยอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี คุณทักษิณ เป็นคนต้องการให้จำนวน ส.ส.มากพอแบบไม่ต้องไปง้อใคร อย่างจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยก็เหลือกินเหลือการแล้ว ฉะนั้นที่คุณทักษิณจะทำต่อไปก็คือรวมกลุ่มให้ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่เท่าที่จะใหญ่ได้ ก็คล้ายกับวิธีที่รวมกลุ่มตอนยังเป็นพรรคไทยรักไทยอยู่ ซึ่งวิธีคงไม่ต้องบอกเพราะรู้ๆ กันอยู่ ฉะนั้นตราบใดที่คุณทักษิณยังมีเงินที่สามารถจ่ายไปโดยไม่เสียดาย มันก็จะส่งผลเสียไปในอีกหลายทาง ทำให้ถึงขนาดว่า คนที่เราคิดว่าเป็นคนดี มีความสามารถ จะทำให้เราผิดหวังได้ สิ่งที่คุณทักษิณให้คนเหล่านั้นซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอะไรบ้าง มันสามารถเปลี่ยนคนบางคนได้ จากคนที่สังคมเคยยกย่อง ซึ่งเราอยากตั้งคำถามว่า คนเหล่านั้นไม่รู้ ไม่เห็น ในสิ่งที่เราเห็น หรือเขาไปมองส่วนที่ดีตรงจุดไหน หรือว่าเราสติเสียไปหรือเปล่า

** การกลับมาของกลุ่มนักการเมือง 111 จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคเพื่อไทยแค่ไหน

มันมีแน่นอนอยู่แล้วไม่ต้องห่วง ใครจะยอมถูกเด้งง่ายๆ นอกจากคนที่เป็นนอมินีอยู่ก็ต้องไป อย่างกลุ่มคนเสื้อแดงเคยพูดไว้แล้วว่า พวกคุณมีความสามารถด้านมวลชนคุณก็ต้องไปทำตรงจุดนั้น สำหรับคนเสื้อแดงกับตำแหน่งรัฐมนตรี คงต้องบอกว่าผิดฝาผิดตัว แต่ประเด็นสำคัญคือจะยอมออกจากตำแหน่งง่ายๆหรือเปล่า เขาก็บอกได้ว่าไม่ได้เป็นนอมินีใครนะ ถ้าพวกเขาอ้างว่าถ้าไม่ได้เสื้อแดงชุมนุมใหญ่จะได้มาเป็นรัฐบาลหรือไม่ ก็อาจจะเกิดเรื่องขึ้นอีก ไม่ต้องอื่นไกล เสื้อแดงฟัดกันเองก็มีให้เห็นเยอะแยะ

**ประชาชนพอจะคาดหวังสิ่งใดจากการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลได้แค่ไหน

น่าเศร้าคือประชาชนประเทศเรา ไม่ค่อยจะสนใจใยดี เพราะไม่ไปกระทบกับเขาเหล่านั้นโดยตรง คำว่ากระทบต่อประเทศชาติ เขาไม่รู้สึก เพราะประเทศชาติหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะรู้สึกก็ต่อเมื่อกระทบต่อตัวเอง เช่นของแพง โดนขึ้นภาษี ตราบใดที่ไม่กระทบส่วนตัวชัดๆ ประชาชนก็คงเฉยเมยว่ารัฐมนตรีจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จิตสาธารณะประเทศเรามันน้อย ถ้าอยากจะเป็นประชาธิปไตยจริง จิตสาธารณะของประชาชนในประเทศต้องมากกว่านี้

**เรื่องการฟื้นฟูประเทศในกรณีน้ำท่วม มองว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางหรือยัง

ต้องบอกว่ามาถูกทางของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นพิเศษด้วยนะ ซึ่งทำให้ประชาชนมีความรู้สึกดีว่าเป็นรัฐบาลที่แจกเงินช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประชาชนก็คงคิดว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ทำไป ดีจะตายแจกเงินเรา เช่นรัฐบาลเอางบฟื้นฟูน้ำท่วมไปแจกจ่าย แต่ประชาชนจะคิดว่าเป็นงบฟื้นฟูหรือเปล่า สมัยก่อนก็เห็นชัดว่าเมื่อมีงบอะไรลงไปก็จะถูกฝังหัวว่าเป็นงบของคุณทักษิณ ที่คนยังรักทักษิณอยู่ก็เพราะไม่รู้ว่าเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินไง คิดว่าทักษิณใจดีนำมาแจกจ่าย ส่วนงบน้ำท่วมซึ่งคนที่คิดไม่ไกลคงจะนึกไปว่ารัฐบาลนี้ดีมาก ยิ่งรัฐบาลนี้ถนัดในการเป็นผู้แจกอยู่แล้ว ก็อาจจะฉวยโอกาสทำคะแนนทางการเมืองไปด้วยเลยทีเดียว เรื่องการป้องกันน้ำท่วมมองว่าคงจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะคงได้บทเรียนไปมากแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น