xs
xsm
sm
md
lg

“โมเดลรธน.”ขย่มพท. “สยามประชาภิวัฒน์” เล็งคลอดหยุดทุนผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(19 ก.พ.55)นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเตรียมจะเคลื่อนไหวจัดกิจกรรม โดยจะพยายามให้เกิดขึ้นภายในเดือนนี้ ซึ่งจากการหารือกันภายในแล้ว จะเป็นกิจกรรมการเชิงวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเกี่ยวพันกับแนวคิดปฏิรูปประเทศ และจะเป็นการผูกขาดอำนาจนายทุนมากขึ้น จนจะทำให้เกิดความปั่นป่วน ดังนั้น ทางกลุ่มจึงจะมีการเสนอแนะความเห็นถึงตัวแบบร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ จากการประเมินการจัดกิจกรรมงานเสวนาครั้งที่ผ่านมา ถือว่าได้ปลุกกระแสความตื่นตัวทางการเมืองให้กับประชาชน
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ในที่ประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนาที่จะมีการยื่นเข้าสู่สภาฯ ด้วย
“ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีส.ส.ร.ขึ้นนั้นไม่ใช่เพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้นไม่อยากให้พรรคประชาธิปัตย์ที่ขึ้นป้ายเป็นหมื่นป้ายแสน ติดสติกเกอร์คัดค้านอย่างที่เป็นข่าว เพราะอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ได้”
นายพร้อมพงศ์ ระบุว่า การบิดเบือนข้อเท็จจริงจะทำให้ประชาชนสับสน และยิ่งเป็นการสุมไฟการเมืองให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน นอกจากแค่การสนองตัณหาของนักการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งเท่านั้น
นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคแสดงท่าทีและเจตนารมณ์ที่ชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรรีบเร่งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นสำหรับประชาชนมีมากกว่านี้ อาทิ ปัญหาปากท้อง ปัญหาสินค้าราคาแพง และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลยังดึงดันและยืนยันที่จะเร่งแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในการประชุมพรรควันที่ 21 ก.พ.นี้ ฝ่ายวิชาการของพรรค ก็จะได้นำสรุปผลและมีข้อเสนอต่อพรรคว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่า เพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล คือ ปลายทางเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ทั้งนี้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น. วิปรัฐบาลจะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สรุปแล้วจะเดินกันไปในลักษณะไหน เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชนนั้น ยังต้องรอเวลาอีก 2-3 เดือน ขณะที่ร่างของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลนั้นไม่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้องมากนัก.

อีกด้าน นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เนื่องด้วยในขณะนี้ มีการขับเคลื่อนเพื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ( รธน. ) ปี 50 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ตามรธน. มาตรา 244 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรธน. รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา จำนวน 10 คน เพื่อเสนอแนะ ในประเด็นที่ควรจะแก้ไข รัฐธรรมนูญ
โดยคณะที่ปรึกษานี้ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 50 ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านรัฐศาสตร์ 4 คน ประกอบด้วย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศ.ดร.ศุภชัย เยาวะประภาษ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตส.ส.ร. ปี 50 และนักกฎหมายอีก 2 คน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
คณะที่ปรึกษาทั้ง 10 คน ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองที่เสนอแก้ไขรธน. แต่คณะที่ปรึกษาจะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อให้เห็นว่า รธน. ประเด็นไหนที่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขบ้าง โดยจะนำรธน. ปี 40 และ รัฐธรรมนูญ ปี 50 มาเปรียบเทียบความชัดเจนจุดอ่อน จุดแข็ง รวมถึงข้อเสนอแนะในแต่ละกลุ่ม ที่ต้องการแก้ไขรธน. เพื่อเสนอทางออกให้กับสังคมไทย อย่างมีเหตุและผล โดยคณะที่ปรึกษาจะไม่แก้ตามกระแสสังคมที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หลักการและเหตุผล โดยจะมีความเป็นกลาง เพราะผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเพื่อนำเสนอต่อสังคมให้ทราบถึงข้อเท็จจริงในสังคม
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการเปิดเว็บไซค์ www.ombudsman.go.th เพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย รวมถึงต้องการแก้ไขในมาตราไหนได้เสนอเข้ามาเพื่อนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขต่อไป โดยคณะที่ปรึกษาฯทั้ง 10 คน จะมีการประชุมกันนัดแรกวันที่ 29 ก.พ. 2555 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น