xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ตั้ง “นรนิติ-บวรศักดิ์” นำทีมหาทางออกแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นรนิติ   เศรษฐบุตร
ผู้ตรวจการแผ่นดินตั้ง 10 ที่ปรึษาด้านรัฐธรรมนูญ “นรนิติ–บวรศักดิ์-วิษณุ” นำทีม เป็นหางเสือให้สังคม กำหนดทิศทางการแก้ รธน. “ประวิช” ยันเป็นกลาง ไม่ขัดแย้งกับกลุ่มที่เสนอแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ถกนัดแรก 29 ก.พ. พร้อมเปิดเว็บรับความเห็นประชาชน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2555 นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เนื่องด้วยในขณะนี้ มีการขับเคลื่อนเพื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 ที่กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามประเมินผลและจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาจำนวน 10 คน เพื่อเสนอแนะ ในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คณะที่ปรึกษานี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย จำนวน 4 คน ประกอบด้วย ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านรัฐศาสตร์ 4 คน ประกอบด้วย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศ.ดร.ศุภชัย เยาวะประภาษ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 และนักกฎหมายอีก 2 คน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายประวิชกล่าวต่อว่า คณะที่ปรึกษาทั้ง 10 คน ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่คณะที่ปรึกษาจะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีประเด็นไหนที่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขบ้าง โดยจะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาเปรียบเทียบความชัดเจนจุดอ่อนจุดแข็ง รวมถึงข้อเสนอแนะในแต่ละกลุ่ม ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอทางออกให้กับสังคมไทยอย่างมีเหตุและผล โดยคณะที่ปรึกษาจะไม่แก้ตามกระแสสังคมที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หลักการและเหตุผล โดยจะมีความเป็นกลาง เพราะผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเพื่อนำเสนอต่อสังคมให้ทราบถึงข้อเท็จจริงในสังคม

นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้เปิดเว็บไซต์ www.ombudsman.go.th เพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย รวมถึงต้องการแก้ไขในมาตราไหนได้เสนอเข้ามาเพื่อนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขต่อไป โดยคณะที่ปรึกษาฯ ทั้ง 10 คน จะมีการประชุมกันนัดแรกวันที่ 29 ก.พ. 2555 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น