xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ เลือก “นรนิติ” นั่ง ปธ.กุนซือติดตามแก้ร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นรนิติ เศรษฐุบุตร
ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเลือก “นรนิติ” นั่ง ปธ.คณะที่ปรึกษาฯ เพื่อติดตามและเสนอแนะแก้ร่าง รธน. คาดทำงานเสร็จภายใน 1-2 เดือน ด้าน “วิษณุ” แจงไม่มีหน้าที่ยกร่างแข่ง ส.ส.ร. แต่แค่จัดทำข้อเสนอแนะการใช้ถ้อยคำที่ควรเป็นหากมีการแก้ พร้อมให้ความมั่นใจทำงานอย่างเป็นกลาง

วันนี้ (29 ก.พ.) คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธาน ได้เชิญประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คนเป็นครั้งแรก ภายหลังการประชุม นางผาณิตแถลงว่า ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาฯ มีมติเลือกนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 เป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโฆษก

ด้าน นายวิษณุแถลงถึงการทำงานของคณะที่ปรึกษาฯ ว่าจะทำงานตามกรอบที่รัฐธรรมนูญมาตรา 244 (3) ได้ให้อำนาจผู้ตรวจฯ เกี่ยวกับการติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งเบื้องต้นสำนักติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการรวบรวมประเด็นรัฐธรรมนูญที่สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรมีการแก้ไขไว้แล้ว แต่ไม่ได้มีการทำในลักษณะข้อเสนอแนะว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ทางคณะที่ปรึกษาก็จะนำประเด็นที่มีการรวบรวมไว้มาศึกษาพิจารณา และไม่ละเลยประเด็นที่สาธารณชนพูดถึง

“ในเมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้ตรวจติดตาม ประเมินผล จัดทำข้อเสนอ และเสนอแก้ไขในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งการทำงานของคณะที่ปรึกษาฯ ก็จะทำทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกัน แต่จะเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นกรณีการแก้ไขมาตรา 291 ที่จะเป็นข้อเสนอในเชิงวิชาการว่าในทางทฤษฎีแล้วการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมีเหตุอย่างไร โดยจะยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475, 2549 และ 2550 มาเป็นหลักพิจารณา ขณะเดียวกัน ทราบว่าขณะนี้คณะกรรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญของรัฐสภากำลังมีการพิจารณากันอยู่ คณะที่ปรึกษาก็อาจจะมีข้อเสนอว่าหากจะแก้ไขมาตรานั้นมาตรานี้ เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน มีการวิจารณ์กันอย่างไร การใช้มีปัญหาอย่างไร ถ้าจะควรจะแก้ไขให้เป็นอย่างไร ซึ่งการทำงานตรงนี้เชื่อว่าจะเสร็จภายใน 1-2 เดือน หรือเสร็จก่อนการทำงานของ ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้นแน่ เพราะเราไม่ได้ยกขึ้นทุกมาตรา หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไปแข่งขันกับ ส.ส.ร. เพราะไม่ใช่หน้าที่”

นายวิษณุยังกล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาประเด็นรัฐธรรมนูญที่ควรมีการแก้ไขความเห็นของที่ปรึกษาในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไรก็จะรวมใส่ไว้ในรายงานทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม ดังนั้นจึงไม่ต้องมากังวลว่าคณะที่ปรึกษานี้จะทำงานด้วยความเป็นกลางหรือไม่ รวมทั้งอย่ามองว่าการทำงานคณะที่ปรึกษาฯ นี้จะกลายเป็นการไปคอนโทรลหรือกำหนดประเด็นให้กรรมาธิการฯของรัฐสภา และส.ส.ร.ต้องมาเดินตาม เพราะเมื่อทำงานเสร็จคณะที่ปรึกษาส่งรายงานให้ผู้ตรวจฯ แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจฯ ที่จะพิจารณาว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอคณะที่ปรึกษาในประเด็นใด และสมควรที่จะส่งข้อเสนอนั้นไปยังรัฐสภา หรือสาธารณชนหรือไม่อย่างไร หรือจะไม่เห็นด้วยเลยก็ได้

ทั้งนี้ นายวิษณุยังระบุว่าด้วยว่า เพื่อให้การทำงานเป็นอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นคณะที่ปรึกษาจึงตกลงที่จะประชุมทุกสัปดาห์ และนัดครั้งต่อไปในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 16.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น