xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพล” เผยได้ข้อยุติ ม.291 รุกแก้ทั้งฉบับ แต่งดนำเสนออ้างไร้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพล นิติไกรพจน์ (แฟ้มภาพ)
ที่ปรึกษาผู้ตรวจฯ เผยได้ข้อยุติเชิงวิชาการปมแก้ ม.291 จะปูทางแก้ รธน.ทั้งฉบับได้หรือไม่ รวมถึงกรณีถอดถอน ส.ส.-ส.ว.ที่หนุนแก้ รธน. แต่งดนำเสนออ้างผู้ตรวจฯ เพาเวอร์ไม่ถึง อีกทั้งไม่มีช่องทางให้ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย รับหวั่นรบ.ตีมึนรุกคืบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ยันจำเป็นต้องมีกรอบแก้เนื้อหา ม.291

วันนี้ (6 มี.ค.) นายสุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ว่า ที่ประชุมได้ตั้งประเด็นพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถทำให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้มีการอภิปรายทั้งในมุมกฎหมาย ปกครองและอำนาจอธิปไตย มีการหยิบประวัติศาสตร์มาดู มีการดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข 2550 ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ รวมถึงการที่กรณีถอดถอนส.ส.และส.ว.ที่เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และกรณีที่มีการร้องให้ยุบพรรคด้วย เป็นข้อยุติในเชิงวิชาการ

แต่ที่ประชุมก็เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวให้กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะน่าจะอยู่นอกเหนืออำนาจที่รัฐธรรมนูญมาตรา 244 (3) ให้กับผู้ตรวจฯ ในการติดตามประเมินผลและทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น จึงได้ข้ามเรื่องไปพิจารณาในประเด็นที่ว่า ควรจะมีหลักประกันในเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 อย่างไรเพื่อให้สภาและคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาใช้เป็นกรอบการพิจารณา โดยจะมีการหารือให้แล้วเสร็จอีกครั้งในวันที่ 14 มี.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ได้มีการหยิบยกตัวอย่างมาหารือเบื้องต้น เช่น เรื่องในรูปแบบของรัฐที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าควรมีการแก้ไขหรือไม่ สภาจะกำหนดให้มีสภาเดียวหรือสองสภา จำนวน ส.ส.ร.ควรมีเท่าใด และการปกครองท้องถิ่นควรเป็นอิสระหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ประเด็นเหล่านี้จะมีความเป็นรูปธรรมหรือไม่ ก็อยู่ที่เมื่อคณะกรรมการเสนอไปยังผู้ตรวจฯแล้ว ผู้ตรวจเห็นด้วยหรือไม่ และเสนอต่อไปยังกรรมาธิการฯ แล้วเอาด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาก็สามารถยกร่างโดยใส่ประเด็นว่าจะไม่แตะต้องหมวดใดทั้งประเด็นเรื่องสถาบัน ศาล และองค์กรอิสระได้ แต่ทั้งนี้ก็อยู่กับกรรมาธิการของสภาที่จะต้องรับฟังเสียงของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องต่อไปอย่างไร

“คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีหลักประกันในเนื้อหาของการแก้ไขมาตรา 291 ที่จะมาเป็นหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญว่าควรจะมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นหลักประกันว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงของกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เริ่มต้นอะไรใหม่ทั้งหมด หลังจากนั้นคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ก็จะมีการพิจารณาในเนื้อหาที่ควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ไม่ทำลักษณะรายมาตราเพราะเคยบอกแล้วว่าจะไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญแข่งกับ ส.ส.ร.”

เมื่อถามว่าการที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯไม่เสนอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ทั้งฉบับหรือไม่ เพราะขณะนี้มีการยื่นถอดถอนใช่หรือไม่ นายสุรพล กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะและการเมืองไปแล้ว อีกทั้งขณะนี้สภารับหลักการวาระ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะมีการพูดกันอีก แต่เชิงวิชาการเรามีข้อยุติว่าจะแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่ รวมทั้งมองว่าไม่มีช่องทางที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีว่าสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น