xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการญี่ปุ่น ชี้ ไทยนำเข้า “แร่ใยหิน” สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จี้หยุดใช้ทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แร่ใยหิน
“หมอมงคล” เรียกร้องรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาแร่ใยหิน อย่าเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อย แลกการนำเข้า นักวิชาการญี่ปุ่น ชี้ ไทยนำเข้าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จี้เลิกนำเข้า-ยุติการใช้ทันที ไม่คุ้มกับผลเสียทางสุขภาพ เครือข่ายผู้บริโภค เตรียมตั้งเครือข่ายรณรงค์เลิกแร่ใยหินระดับชาติ เสนอหยุดใช้ภายใน 3 เดือน สภาที่ปรึกษาฯ เตรียมส่ง จม.ทวงถาม ข้องใจ ก.อุตฯ ไม่ควบคุมปล่อยให้มีการทุ่มตลาด

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดการประชุมพัฒนานโยบายขจัดโรคจากแร่ใยหิน จัดโดย แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีงานวิจัยถึงอันตรายของแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) อย่างชัดเจน ว่า มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมะเร็งปอดได้ ส่งผลให้หลายประเทศยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งประเทศไทยเคยมีมติ ครม.ประกาศลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินภายในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งมีมติ ครม.อย่างชัดเจนในปี 2554 เพื่อเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหิน แต่ในปี 2554 กลับพบปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินมากขึ้น เป็นเรื่องที่สวนทางกับมติ ครม.อย่างชัดเจน การแก้ปัญหาต้องอาศัยความจริงใจในการแก้ปัญหาจากรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำให้เกิดผลตามมติ ครม.ขึ้น อยากให้รัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กน้อย ที่ได้รับจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกแร่ใยหิน ซึ่งไม่คุ้มกับการสูญเสียสุขภาพของคนไทยในระยะยาว

นายซูจิโอ ฟูรูยะ เครือข่ายยกเลิกการใช้แร่ใยหินเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศไทย 2555-2559 ระบุว่า ประเทศไทยนำเข้าแร่ใยหินมากเป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งจะเป็นปัญหาที่สำคัญด้านสุขภาพและมีค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในระยะอันใกล้ ตามข้อแนะนำขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การอนามัยโลก โดยปริมาณนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีมาตรการจัดการปัญหาก็ตาม จะทำให้เกิดผลเสียทางสุขภาพกับผู้สัมผัสแร่ใยหินและเป็นอันตราย ประเทศญี่ปุ่น มีประสบการณ์ที่พบผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งเยื้อหุ้มปอดที่สัมผัสแร่ใยหินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องยกเลิกการนำเข้าโดยเร่งด่วนที่สุด และห้ามผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน หากยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินล่าช้าจะส่งผลให้มีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรเพื่อผู้บริโภคได้หารือร่วมกับภาคประชาสังคม และนักวิชาการ โดยมีมติว่า จะจัดตั้งเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินระดับชาติ โดยมีเจตนารมณ์ดังนี้ 1.สนับสนุนคำประกาศ การห้ามใช้แร่ใยหินและการกำจัดโรคที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน 2549 (The Bangkok Declaration on Elimination of Asbestos and Asbestos-related Diseases 2006) 2.สนับสนุนมติสมัชชา สุขภาพแห่งชาติ “มติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” และ 3.สนับสนุนมติ ครม.เพื่อยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน

“เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินระดับชาติ จะรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนการยกเลิกแร่ใยหิน เพื่อยื่นเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน ภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ จะเร่งรณรงค์ให้ประชาชนไม่ใช้ ไม่ซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินและดูแลการรื้อถอนอย่างปลอดภัย รวมทั้งจะมีการผลักดันให้มีมาตรการชดเชย เยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินด้วย” น.ส.บุญยืน กล่าว

นายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอชะลอการยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามมติ ครม.โดยอ้างว่าเพื่อศึกษาถึงทางเลือกในการหาสารทดแทน แต่กลับพบว่าการนำเข้าแร่ใยหินในช่วงที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอศึกษานั้น มีปริมาณเพิ่มขึ้น และราคาถูกลง ซึ่งเป็นการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย โดยคณะกรรมการคุณภาพชีวิต สป.ได้ประชุมร่วมกัน และมีมติว่า ในสัปดาห์หน้าจะส่งหนังสือทวงถามประเด็นดังกล่าวไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอเหตุผลในการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะมติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้ว

“กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุใด ช่วงเวลาที่ขอเวลาศึกษาจึงเกิดการทุ่มตลาดขึ้น และผลการศึกษาถึงสารทดแทนในประเทศต่างๆ ที่มีการเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้ว ก็มีอยู่ชัดเจน เหตุใดจึงใช้เวลาศึกษาเป็นเวลานาน ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ สามารถเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล ก็จะเกิดคำถามถึงความจริงใจของรัฐในเรื่องนี้ ซึ่งไม่อยากคิดว่าเหตุการณ์การทุ่มตลาดครั้งนี้ เกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อนใดหรือไม่” นายอนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหิน ปี 2554 มีปริมาณการนำเข้าทั้งสิ้น 81,411 ตัน มากกว่า ปี 2553 79,250 ตัน และราคาแร่ใยหินลดลง จากตันละ 14,150 บาท ในปี 2553 เหลือเฉลี่ยตันละ 13,660 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น