xs
xsm
sm
md
lg

การแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นำสู่ระบอบเผด็จการรัฐสภาเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

จากกรณีเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่นำสู่ความรุนแรงระหว่างประชาชนกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สมบูรณ์ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง จึงเกิดคำว่า “นายกรัฐมนตรีครึ่งใบ” เมื่อนายกรัฐมนตรีจะเป็นใครก็ได้ทั้งในสภาก็ได้หรือนอกสภา

โดยเฉพาะเหตุการณ์นองเลือดรุนแรงในช่วงวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 นั้น หรือพฤษภาทมิฬ มีการชักนำให้มวลชนต่อต้านการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มารับตำแหน่ง เมื่อพรรคสามัคคีธรรมซึ่งมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรคชนะการเลือกตั้ง พรรคนี้คณะทหารสนับสนุนหรือเรียกได้ว่าเป็นพรรคทหาร แต่นายณรงค์ ถูกสหรัฐฯ ลงบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ เพราะมีข่าวว่าพัวพันกับธุรกิจค้ายาเสพติด ทำให้หมดโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ร่วมกับมวลชนฝ่ายซ้าย เช่น กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย โดยมีหมอสันต์ หัตถีรัตน์ หมอเหวง โตจิราการ เป็นแกนนำชักชวนมวลชนต่อต้าน โดยบอกว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารของพรรคสามัคคีธรรมและกลุ่มทหาร รสช.จนเกิดเหตุใช้กำลังทหารสลายฝูงชน และในหลวงทรงยุติเหตุการณ์ด้วยพระเมตตาและเหตุผล

หลังจากที่นายบรรหาร ศิลปอาชา โดยพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2538 เมื่อนายชวน หลีกภัย ยุบสภากรณีทุจริตที่ดิน สปก.4-01 จึงริเริ่มปฏิรูประบอบการปกครองให้สมบูรณ์แบบตามหลักประชาธิปไตย และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน จึงเกิดแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้น โดยมีหลักการประชาธิปไตยให้แต่ละจังหวัดเลือกผู้แทนมาจังหวัดละ 10 คน รวม 760 คน และให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว.คัดเลือกเหลือจังหวัดละคนรวม 76 คน พร้อมกับให้สถาบันการศึกษาส่งรายชื่อผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่งมารวมอีก 23 คน ทำให้สมาชิก ส.ส.ร.รวมเป็น 99 คน มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน นักการเมืองเสรีนิยมเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แห่งสถาบันพระปกเกล้าเป็นเลขานุการ

ตามเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น มีเจตนารมณ์เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญเดิมก่อนหน้านี้ 16 ฉบับ รวม 3 ประการ คือ

1. ขยายสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

2. เพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน เพื่อให้เกิดความสุจริตและโปร่งใสในระบอบการเมือง

3. การทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ

ดังนั้น จึงเกิดระบบการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยองค์กรอิสระหลายองค์กร รวมทั้งระบบผู้ตรวจการแผ่นดินหรือออมบุดสแมนซึ่งนำมาจากระบบรัฐสภาของสวีเดน ซึ่งอังกฤษเองก็นำมาใช้ในระบบรัฐสภาอังกฤษด้วย

แต่การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้อำนาจหัวหน้าพรรคการเมืองมากจนถึงขั้นเป็นเผด็จการ แม้กระทั่งนายเสนาะ เทียนทอง ผู้ถูกทักษิณหักหลังทางการเมืองออกมาวิจารณ์ว่า การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค 90 วันนั้นเป็นการปิดกั้น ส.ส.ในสังกัดพรรคหนึ่งพรรคใดที่มีความเห็นแตกต่างกับมติพรรคหรือหัวหน้าพรรค ไม่สามารถลาออกจากพรรคได้โดยไม่เสียตำแหน่ง ส.ส.ซึ่งนายเสนาะ เคยอภิปรายในสภาว่า “เหมือนกับการติดคุกการเมือง” และนายเสนาะ เองก็เคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลายครั้ง และทุกครั้งก็กล่าวโจมตีและสาวไส้กลโกงของทักษิณทุกครั้ง แต่บัดนี้นายเสนาะ ก็กลืนน้ำลายตัวเอง ไปซบอกพรรคเพื่อไทยของทักษิณอีกวาระหนึ่ง

เจตนาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น ไม่ต้องการให้ ส.ส.ขายตัวด้วยการแปรพักตร์ไปลงคะแนนให้กับอีกฝ่ายขณะอยู่ในวาระการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างไร้เกียรติ และทำลายชาติโดยตรง เพราะรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้เกิดความสมดุลของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลายตามบทบัญญัติของกฎหมาย อันเป็นกติกาบังคับให้ประชาชนและรัฐบาลปฏิบัติ

ด้วยอำนาจเงินและความหลงผิดของบุคคลในศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก ซึ่งคิดว่าประเทศไทยขาดผู้นำ ในปี พ.ศ. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกจึงใช้หลักรัฐศาสตร์ นำหน้าหลักนิติศาสตร์ ปล่อยให้ทักษิณพ้นคดีซุกหุ้นจนเกิดวลีว่า “บกพร่องโดยสุจริต” ทั้งๆ ที่ตัวเองเคยผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้แล้วแต่ไร้ยางอายตั้งใจซุกหุ้น และด้วยอำนาจเงินก็สามารถซื้อเสียง ส.ว.ชุดเลือกตั้งจนได้ ป.ป.ช.ชุดพล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ที่ทุจริตเชิงนโยบายขึ้นค่าตอบแทนให้กับตัวเอง จนถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองพิพากษาว่ากระทำความผิดจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา

แนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น สามารถแสดงเจตนารมณ์ของตัวรัฐธรรมนูญเองได้เป็นอย่างดี แต่มีคนใช้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง เป็นเผด็จการหัวหน้าพรรค และเผด็จการรัฐสภา ออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับตัวเองและพรรคพวก โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมซึ่งก็ยังเป็นกลยุทธ์นำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังได้เงินงบประมาณสร้างประชานิยมจาก พ.ร.ก.การเงิน 2 ฉบับที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าเป็น พ.ร.ก.ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว บทอำพรางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ประโยชน์สูงสุดจนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา และในการที่ประชาชนได้เห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำหนังสือแสดงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เปรียบเทียบเป็นมาตราๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่างซึ่งมีรายละเอียดและเหตุผลอย่างชัดเจน

ด้วยประการนี้จึงไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีจุดอ่อนประการใด เพราะเป็นการขยายความ และกำกับความให้รัฐธรรมนูญมีความกระชับขึ้น และปิดจุดอ่อนไม่ให้นักการเมือง พรรคการเมือง หรือกลุ่มบุคคลแสวงประโยชน์และกระทำการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่ายๆ

ปุจฉาสำคัญที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ามีสาระเหตุผลสำคัญตรงไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่บทลงโทษการยุบพรรคการเมืองเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไป หากว่ามีสมาชิกในพรรคทุจริตการเลือกตั้ง ก็ให้ลงโทษเพียงผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคและกรรมการบริหารพรรค แต่ใครรับผิดชอบหากมีคนโกงเลือกตั้งในพรรคมากกว่าครึ่งโดนใบแดงกันทั่วหน้า มิต้องเลือกตั้งใหม่กันทั่วทั้งประเทศกันหรือ

สงสารประชาชนคนบริสุทธิ์ที่จะต้องทนต่อการทุจริตเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะได้คนทุจริตไปบัญญัติกฎหมาย ก็เท่ากับได้โจรไปบัญญัติกฎหมาย ซึ่งแน่นอนก็เป็นกฎหมายของโจรไปด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องอำพรางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพราะเนื้อแท้แล้ว มีกลุ่มบ้าอำนาจจะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเพราะรัฐบาลมีฐานเสียงระดับล่างที่ได้มาจากลัทธิประชานิยมทั่วประเทศ การแก้หรือยกร่างใหม่โดยสภาแล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับทักษิณและพวก แต่เนื้อหาที่แฝงไว้ด้วยกลลวงยากที่จะเข้าใจ หรือการเปลี่ยนแปลงในบางมาตราแต่ทำให้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผลที่แฝงไว้นั้นยิ่งใหญ่ยากที่จะแก้ไขได้ เช่น หมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญใหม่อาจมีการใช้ภาษาลักษณะต่างๆ นั้น ซึ่งคนที่เสนอร่าง เช่น หมอเหวงมีคำตอบอยู่แล้วเมื่อต้องอธิบาย แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ เช่น ในกรณีการลดพระราชอำนาจเกี่ยวกับการตรากฎหมาย หรือการที่พระมหากษัตริย์ทรงฐานะเป็นจอมทัพไทย หรือการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีหรือคณะตุลาการซึ่งปกติแล้วคนทั่วไปมักจะไม่อ่านหมวดนี้อย่างละเอียด

นี่เป็นจุดหนึ่งที่ประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน จะต้องอ่าน จะต้องเห็น จะต้องได้รับรู้อย่างละเอียดมากกว่าหมวดใดๆ อ่านทบทวนมากครั้งกว่าครั้งใดๆ

ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีนั้น ควรเป็นไปทีละเล็กละน้อย เช่น รัฐธรรมนูญอังกฤษซึ่งไม่เป็นแบบลายลักษณ์อักษร แต่เกิดจากกฎหมาย และคำพิพากษาเก่าๆ หรือจารีตประเพณีที่ยึดถือกันมา โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1215 เกิดกฎบัตรใหญ่หรือแมคนาคาร์ตา เมื่อพระเจ้าจอห์นยอมลดพระราชอำนาจลงเมื่อ 800 ปีมาแล้ว ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนมากขึ้น จนเป็นรากฐานรัฐธรรมนูญของหลายประเทศในปัจจุบัน ทำให้อังกฤษเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย อันมีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มั่นคง มีพระราชอำนาจสร้างดุลในสังคมได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น