xs
xsm
sm
md
lg

พธม.แถลงจี้รัฐไม่รับอำนาจศาลโลก-อย่าถอนทหาร บี้กองทัพ-รบ.ใหม่ตัดสินใจปกป้องดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์ที่บ้านพระอาทิตย์
“พันธมิตรฯ” แถลงยันต่อสู้เพื่ออธิปไตยจนสุดความสามารถแล้ว ชี้ไทยรับมาตรการศาลโลกเท่ากับกลับไปยอมรับอำนาจหลังสงวนสิทธิมากว่า 50 ปี ส่อถูกกฎหมายปิดปาก เริ่มเสียดินแดนเพิ่ม 1 ล้าน 8 แสนไร่ ซัดมหาอำนาจชักใยรัฐบาลหลายชุดส่อต่อสายพาน จี้ไม่รับอำนาจของศาลโลก ไม่ถอนทหารพ้นแผ่นดิน เร่งผลักดันเขมร ฟื้นฟูสัมพันธ์ประเทศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยันประชาชนสู้สองมือเปล่าโดยสมบูรณ์แล้ว และไม่ติดค้างหนี้แผ่นดิน โยนรัฐบาลใหม่และกองทัพตัดสินใจ



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงการณ์  

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่บ้านพระอาทิตย์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2554 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง ภาคประชาชนได้ต่อสู้เรื่องอธิปไตยและดินแดนอย่างเต็มที่สุดความสามารถแล้ว ความว่า

ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการพิจารณาคดีตีความหมายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ.2505 โดยมีการกำหนดเขตปลอดทหาร ห้ามไทยและกัมพูชาทำกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ที่กำหนด และห้ามไทยขัดขวางการเข้าไปยังปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ตลอดจนห้ามไทยขัดขวางการส่งกำลังบำรุงให้แก่บุคคลการที่ไม่ใช่ทหาร นั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอชี้แจงจุดยืนดังต่อไปนี้

1.พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นภาคประชาชนสองมือเปล่า ที่ปราศจากอาวุธ ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีอำนาจตุลาการ แต่ได้ดำเนินการต่อสู้เรื่องดินแดนและอธิปไตยของชาติมาโดยตลอดจนสุดความสามารถ เป็นผลสำเร็จตามลำดับดังนี้

1.1ในปี 2551 เราได้ดำเนินการชุมนุมและยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดเพื่อขัดขวางการห้ามนำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชานำไปใช้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชานั้นมีเนื้อหาที่ฝ่ายไทยได้ยกปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว อันถือเป็นการใช้อำนาจรัฐที่เจตนาทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติมจากคำพิพากษา พ.ศ. 2505

1.2 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ภาคประชาชนได้จัดชุมนุมที่หน้าองค์การยูเนสโก ประจำประเทศไทย เพื่อสร้างแรงกดดัน คณะกรรมการมรดกโลกต้องเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารออกไปอีก 1 ปีเป็นผลสำเร็จ โดยองค์การยูเนสโกประจำประเทศไทยได้ยอมรับว่าการชุมนุมของภาคประชาชนเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการเลื่อนแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารอย่างชัดเจน

1.3 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 กรณีที่รัฐบาลได้พยายามนำบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ทั้งๆที่บันทึกผลการประชุมดังกล่าวเป็นหลักฐานที่กัมพูชากล่าวร้ายประเทศไทยด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่าไทยเป็นฝ่ายรุกรานแผ่นดินกัมพูชาทั้งๆที่แผ่นดินดังกล่าวเป็นดินแดนไทย อีกทั้งยังได้แนบร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อให้ทหารไทยและทหารกัมพูชาถอยออกจากแผ่นดินไทยโดยยังคงชุมชนและสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชาที่รุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ต่อไปจนกว่าจะตกลงกันได้ระหว่างไทย-กัมพูชาซึ่งเท่ากับ ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา ผลการชุมนุมดังกล่าวทำให้รัฐสภายอมจำนนด้วยการเลื่อนการพิจารณาออกไปแล้วใช้วิธีตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเพื่อศึกษาบันทึกผลการประชุม

1.4เนื่องจากในปี 2554 มีเรื่องเร่งด่วนที่เป็นวิกฤตของชาติถึง 2 ประการคือ รัฐบาลพยายามจะนำบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แลจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นดินแดนไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้จัดชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รวมเวลา 158 วัน ทั้งรูปแบบการชุมนุมให้ความจริงกับประชาชน, การยื่นค้ำร้อง ต่อ ปปช., และการยื่นจดหมายถึง ส.ส. และ ส.ว. เป็นผลทำให้ขัดขวางการประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน พ.ศ. 2554 ในเรื่องการพิจารณาบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ได้เป็นผลสำเร็จและยังทำให้รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจถอนวาระดังกล่าวออกจากที่ประชุมรัฐสภาในที่สุด สามารถยับยั้งชะลอการเดินหน้าตามผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่รัฐบาลไทยเชิญผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้ามาในแผ่นดินไทยเพื่อเป็นสักขีพยานในการห้ามปะทะหรือการห้ามทหารไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยได้เป็นผลสำเร็จ และยังกดดันทำให้ตัวแทนประเทศไทยตัดสินใจลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ได้เป็นผลสำเร็จเช่นกัน

2.การที่ศาลโลกได้มีมติออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2554 นั้น ถือว่ามีผลร้ายต่อประเทศไทยในการที่ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบ เพราะมีการกำหนดให้ทหารไทยถอยออกจากแผ่นดินไทยเกินขอบเขต โดยที่มีชุมชนกัมพูชารุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างและถนน การที่ศาลโลกออกมาตรการดังกล่าวจึงเท่ากับห้ามทหารไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ส่งเสริมการรุกรานแผ่นดินไทย และส่งเสริมการละเมิด บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543)

และหากไทยยอมรับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก็จะเท่ากับว่าประเทศไทยเริ่มกลับไปยอมรับอำนาจศาลโลกเป็นครั้งแรก ทั้งๆที่ประเทศไทยได้เคยยื่นหนังสือประท้วง คัดค้าน สงวนสิทธิ์ ต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพราะไม่ยอมรับการใช้กฎหมายปิดปากแต่เพียงอย่างเดียวในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 โดยที่ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลกมานานกว่า 50 ปีแล้ว

3.การเริ่มต้นความเสียเปรียบในมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนั้นจะนำไปสู่การเสียดินแดนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน โดยหลังจากนี้หากไทยยอมรับอำนาจศาลโลก ศาลโลกมีแนวโน้มจะตีความให้เป็นคุณต่อกัมพูชาและเป็นโทษต่อประเทศไทยโดยศาลโลกจะใช้การอ้างอิงกฎหมายปิดปากที่ประเทศไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสซึ่งเป็นมูลฐานในการพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งจะเป็นผลทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะเป็นผลทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เป็นผลสำเร็จ และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติมต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน 8 แสนไร่ รวมถึงการสูญเสียซึ่งลามไปถึงทรัพยากรพลังงานทางทะเลในอ่าวไทยซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท

“สายพาน”การสูญเสียดินแดนไทยและผลประโยชน์ทางพลังงานอ่าวไทยให้ต่างชาติ ได้ถูกออกแบบและวางแผนมานานเป็นลำดับไม่ต่ำกว่า 10 ปี ด้วยเหตุผลนี้รัฐบาลหลายชุดจึงไม่เคยหยุดยั้งการสูญเสียดังกล่าวในรัฐบาลของตัวเอง แต่กลับมีพฤติกรรม ส่งมอบของต่อบนสายพานดังกล่าวต่อไปให้กับรัฐบาลชุดหน้า โดยมีมหาอำนาจที่หวังผลประโยชน์ทางพลังงานอยู่เบื้องหลังและบงการเอื้อประโยชน์ส่วนตนให้กับนักการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย

4.นับจากนี้ประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาจากมหันตภัยที่เผชิญหน้าครั้งนี้ได้ด้วยการดำเนินการพร้อมๆกันดังต่อไปนี้
4.1 ต้องประกาศไม่รับอำนาจของศาลโลก
4.2 ต้องไม่ถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยโดยเด็ดขาด และเร่งผลักดันกัมพูชาให้ออกจาแผ่นดินไทย
4.3ฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน

5. ภายใต้ทางออกของประเทศไทยในเวลานี้ตามข้อ 4 ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่สามารถจะกระทำให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยประชาชนสองมือเปล่าที่ปราศจากอำนาจรัฐ อำนาจตุลาการ และอำนาจทหาร แต่ภาคประชาชนได้ดำเนินการชุมนุมมา 158 วันแล้ว ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงมาโดยตลอดแล้ว ได้ยื่นฟ้องต่อกระบวนการยุติธรรมในทุกรณีนานแล้ว ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนักการเมืองและทหารไทยให้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ตลอดจนได้ยื่นข้อสงวนต่ออาเซียนแล้ว สำหรับประชาชนสองมือเปล่าจึงได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์และไม่ติดค้างหนี้แผ่นดินแล้ว ดังนั้นวิกฤตของชาติในส่วนที่เหลือเพื่อปกป้องชาติรักษาแผ่นดิน จึงอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ กองทัพของจอมทัพไทย ที่จะต้องออกมาทำหน้าที่ของตัวเองในการรักษาดินแดนและอธิปไตยของชาติต่อไป

ด้วยจิตรคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แถลงการณ์ฉบับที่ 4/2554

หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2554 เรื่อง ทหารของจอมทัพไทยยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการรักษาอธิปไตยของชาติ ความว่า

ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ในการพิจารณาคดี ตีความหมายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 โดยมีการกำหนดเขตปลอดทหาร ห้ามไทยและกัมพูชาทำกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ที่กำหนด และห้ามไทยขัดขวางการเข้าไปยังปราสาทพระวิหารการของกัมพูชา ตลอดจนห้ามไทยขัดขวางการส่งกำลังบำรุงให้แก่บุคคลการที่ไม่ใช่ทหาร นั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอชี้แจงจุดยืนต่อทหารดังต่อไปนี้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 77 บัญญัติเอาไว้ว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์เอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ”

2.ปัจจุบันกองทัพไทยได้ถูกจัดอันดับในด้านแสนยานุภาพจากลำดับที่ 28 ของโลกในปีที่แล้ว มาอยู่ในลำดับที่ 19 ของโลกในปีนี้
เป็นลำดับที่ 6 ของทวีปเอเชีย และเป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนากองทัพในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงมีศักยภาพทางทหารสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้

3.เมื่อทหารมีหน้าที่ในการปกป้องแผ่นดินและอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่ศักยภาพของกองทัพมีความแข็งแกร่งด้วยงบประมาณมหาศาล แต่กลับเป็นยุคที่ประเทศไทยกลับอ่อนแอถูกรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยโดยต่างชาติมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทั้งนี้การที่ทหารได้อ้างนโยบายของรัฐบาล แล้วปล่อยให้ชุมชนและทหารกัมพูชามารุกรานยึดครองแผ่นดินไทยทั้งบริเวณ วัดแก้วสิขะคีรีสะวารา, ภูมะเขือ, พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร, บ้านหนองจาน ปราสาทตาควาย ฯลฯ นั้น ทำให้กัมพูชาสามารถเข้ายึดจุดสูงข่มทางทหารซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญได้สำเร็จ จึงเป็นแรงจูงใจสำคัญดำเนินการสร้างสถานการณ์ยิงอาวุธสงครามทำร้ายราษฎรไทยเพื่อทำให้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาถูกหยิบยกมาเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ โดยหวังที่จะให้มีชาติที่สามหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาขัดขวางไม่ให้ประเทศไทยผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก หรือ การเตรียมส่งผู้สังเกตการณ์ในการเข้ามาในดินแดนไทยในการเป็นสักขีพยานห้ามยิงปะทะกัน

การที่ฝ่ายทหารอ้างว่าไม่สามารถผลักดันกัมพูชาโดยอ้างว่าต้องรอนโยบายและคำสั่งรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น เพราะหากไม่มีการปล่อยปละละเลยให้ชุมชนและทหารกัมพูชาเข้ามารุกรานและยึดครองแผ่นดินไทย จะไม่เกิดแรงจูงใจในการที่กัมพูชาจะสร้างสถานการณ์เพื่อให้นานาชาติออกมาตรการให้ทหารไทยต้องออกจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงถือเป็นความบกพร่องโดยตรงของกองทัพในการที่ปล่อยให้มีการรุกรานแผ่นดินไทย และปล่อยให้มีการละเมิด MOU 2543 ในทางปฏิบัติทั้งๆที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประท้วงกัมพูชามานับร้อยกว่าครั้งแล้วก็ตาม

การปล่อยปละละเลยให้กัมพูชาขนชุมชนเข้ามารุกรานยึดครองแผ่นดินไทย สร้างถนน สร้างวัด ปักธงชาติกัมพูชาในแผ่นดินไทย ทั้งๆที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็น “เขตประกาศกฎอัยการศึก” จึงย่อมถือเป็นอำนาจเต็มของกองทัพโดยตรงในการตัดสินใจในการรักษาอธิปไตยของชาติ โดยที่ไม่สามารถจะกล่าวอ้างนโยบายของรัฐบาลได้

ทั้งนี้ภายใต้พื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกอันถือเป็นอำนาจเต็มของกองทัพที่จะผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยแล้ว ยังปรากฏมีคำสั่งกระทรวงกลาโหม เลขที่ ก.ห.(เฉพาะ)ที่ 112/28 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เรื่องแนวทางการใช้อาวุธตามแนวชายแดน ข้อ 4.1 กองทัพบก กำหนด ข้อ 4.1.1 ว่า “เมื่อปรากฏแน่ชัดว่ากำลังทหารหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงกันข้ามล่วงล้ำเขตแดนไทยและการล่วงล้ำนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือหน่วยทหารของฝ่ายเรา หรือเมื่อมีการปะทะเกิดขึ้นแล้ว ให้เราใช้อาวุธเพื่อขัดขวางและสกัดกั้นการล่วงล้ำเข้ามาของฝ่ายตรงข้ามได้ทันที”

การที่ทหารซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และมีศักยภาพสูงในระดับโลก แต่กลับไม่ทำหน้าที่ของตัวเองจึงย่อมถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และถือเป็นการกระทำที่ทำให้ราชอาณาจักรหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรตกอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ ทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป อันถือเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอย่างชัดเจน

นอกจากนี้กองทัพกลับปล่อยให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ทหารทำหน้าที่ ทั้งๆที่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงวัยเสริมด้วยนายทหารนอกราชการ แต่กองทัพและทหารประจำการก็ยังเพิกเฉยและไม่ทำหน้าที่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นเรื่องที่น่าอับอายและเสียศักดิ์ศรีของกองทัพเป็นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของกองทัพไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเป็นจำนวนมากแต่กลับไม่สามารถทำอะไรได้กับการถูกรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยโดยชาติอื่น ประเทศไทยจึงมีสภาพเหมือนไม่รู้ว่าจะมีกองทัพเอาไว้เพื่อเหตุผลใด

ปีนี้เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่จะทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ทรงเป็นจอมทัพไทยและทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วทหารซึ่งอยู่ภายใต้จอมทัพไทยและปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล จะเทิดพระเกียรติโดยยอมให้ประเทศไทยถูกรุกรานยึดครองแผ่นดินไทยได้อย่างไร

เราจึงขอเรียกร้องให้ทหารให้ทำหน้าที่ของตัวเอง โดยการไม่ถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และทำตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน ในการทวงคืนแผ่นดินไทยที่ถูกต่างชาติรุกรานให้กลับคืนมา

ด้วยจิตคารวะ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แถลงการณ์ฉบับที่ 5/2554

ต่อมา นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 5/2554 เรื่อง บทพิสูจน์ความล้มเหลวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการใช้ MOU 2543 และจะเสียดินแดนต่อไปเพราะรับอำนาจศาลโลก มีรายละเอียดกังนี้

ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการพิจารณาคดีตีความหมายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 โดยมีการกำหนดเขตปลอดทหารห้ามไทยและกัมพูชาทำกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ที่กำหนด และห้ามไทยขัดขวางการเข้าไปยังปราสาทพระวิหารเข้าไปยังปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ตลอดจนห้ามไทยขัดขวางการส่งกำลังบำรุงให้แก่บุคคลการที่ไม่ใช่ทหาร ซึ่งต่อมาการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนาย กษิต ภิรมย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความเห็นว่า “พอใจ” กับมาตรการดังกล่าว น้อมรับและพร้อมปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าว โดยจะให้การตัดสินใจอยู่การพูดคุยตกลงกันของรัฐบาลชุดหน้านั้น

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอชี้แจงจุดยืนต่อรัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังต่อไปนี้

1.มาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยมติศาลโลกนั้น หากมีการปฏิบัติตามจะทำให้ทหารไทยและทหารกัมพูชาต้องถอยออกจาก “แผ่นดินไทย” กินอาณาเขตบริเวณกว้างลึกมากกว่าสันปันน้ำที่ฝ่ายไทยยึดถือเป็นเส้นเขตแดน และกินลึกเข้ามาในดินแดนไทยเกินกว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวและกัมพูชายึดถือ กินพื้นที่ไปถึงดินแดนไทยซึ่งกัมพูชาไม่เคยยึดครองมาก่อนอีกหลายพื้นที่ รวมถึง เขาพระวิหารทั้งหมด สระตราว สถูปคู่ ผามออีแดง และภูมะเขือ ในขณะที่พื้นที่คุ้มครองชั่วคราวที่อ้างว่ากินพื้นที่ในฝั่งกัมพูชาด้วยนั้น ก็จำกัดอยู่เพียงการกินพื้นที่เชิงหน้าผาสูงชันกว่า 200 เมตรขึ้นไปจนถึง 600 เมตร ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าที่จะเป็นมรดกโลกหรือมีมนุษย์อาศัยอยู่ได้แต่ประการใด เราจึงขอประณามมติของศาลโลกในครั้งนี้ ว่าเป็นมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่อยุติธรรม ลุแก่อำนาจ เกินกว่าที่กำหนดขอบเขตที่ศาลโลกได้พิพากษาให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2505

2.หากมีการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก จะทำให้ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชายังคงรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไป สามารถใช้ถนนซึ่งสร้างขึ้นรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยโดยที่ฝ่ายไทยไม่สามารถขัดขวางหรือผลักดันออกได้ ถือเป็นการส่งเสริมการรุกรานแผ่นดินไทย ถือเป็นการปกป้องผู้รุกรานแผ่นดินไทย ถือเป็นการส่งเสริมการละเมิดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 2543) และยังมีเจตนาให้รัฐบาลกัมพูชาสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเข้าไปบริหารจัดการปราสาทพระวิหารโดยใช้แผ่นดินไทยอย่างชัดเจน เราจึงขอประณามการกระทำของศาลโลกที่เพิกเฉยในการปล่อยให้ชุมชนกัมพูชารุกรานและยึดครองแผ่นดินไทย ตลอดจนมีเจตนาให้กัมพูชาสามารถใช้พื้นที่แผ่นดินไทยในการบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหาร อันถือเป็นส่งเสริมการละเมิดอธิปไตยและส่งเสริมการกระทำความผิดต่อข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างรุนแรง

3. หากประเทศไทยรับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเมื่อใด จะถือว่าเป็นชาติแรกในโลกที่ยอมรับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพราะก่อนหน้านี้มี 17 คดีที่ศาลโลกเคยพิจารณา และมี 10 คดีที่ศาลโลกมีมติให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยที่ไม่มีประเทศไหนเลยแม้แต่ประเทศเดียวที่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก แต่ฝ่ายรัฐบาลไทยกลับแสดงท่าทีพอใจ ยอมรับ น้อมรับ และพร้อมจะปฏิบัติตามมติของศาลโลก แสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยได้กลับมายอมรับอำนาจของศาลโลกอีกครั้ง ทั้งๆที่ประเทศไทยได้เคยคัดค้าน ประท้วง และสงวนสิทธิ์เอาไว้ในคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลกที่อยุติธรรมเมื่อ พ.ศ.2505 อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลกมานานกว่า 50 ปีแล้ว การที่ฝ่ายไทยยังยอมรับอำนาจศาลโลกโดยการแสดงความพอใจและน้อมรับไปปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ดี หรือแม้กระทั่งยินยอมรับอำนาจของศาลโลกในการที่จะอ้างว่าตีความจากคำพิพากษาของศาลโลกในสิ่งที่ประเทศไทยเคยยื่นประท้วงคัดค้านเอาไว้ก็ดี ถือว่ารัฐบาลไทยทรยศต่อบรรพบุรุษไทยและกำลังเดินหน้าไปสู่การยอมรับกฎหมายปิดปากที่ทำให้ประเทศไทยพ่ายแพ้ในศาลโลกมาแล้วในอดีต ซึ่งจะเป็นผลทำให้ฝ่ายไทยสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเสียดินแดนในศาลโลกต่อไปในอนาคตอีกอย่างแน่นอน

4.การที่ประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เตือนมานั้นถูกต้องทุกประการ เป็นการพิสูจน์ว่าการยึดถือ MOU 2543 นั้นเป็นเครื่องมืออันล้มเหลวและเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยต้องลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกย่อมแสดงให้เห็นว่า MOU 2543 เป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ผลในการใช้เพื่อยับยั้งการนำแผ่นดินไทยรอบปราสาทพระวิหารไปเป็นมรดกโลก และการที่ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเกินขอบเขตนั้นแสดงว่าศาลโลกฟังเหตุผลของการใช้ประโยชน์ใน MOU 2543 ของฝ่ายกัมพูชาว่าไทยการยอมรับการใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มากกว่าเหตุผลของรัฐบาลไทยที่นำมากล่าวอ้างกับคนไทย อีกทั้งการที่จะมีผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้ามาเพื่อเป็นสักขีพยานในการห้ามปะทะหรือห้ามผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยนั้นถือได้ว่า MOU 2543 ไม่ได้เป็นเครื่องมือในการยับยั้งชาติที่สามมาแทรกแซงได้แต่ประการใด จึงเท่ากับว่าสิ่งที่รัฐบาลยืนยันการใช้ MOU 2543 นั้นได้ปรากฏเป็นผลร้ายต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนแล้วในวันนี้

แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กลับแก้ปัญหานี้ด้วยการส่งมอบของต่อให้รัฐบาลชุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นเวทีมรดกโลกก็ดี หรือการต่อสู้ในศาลโลกต่อไปก็ดี ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้สามารถยุติได้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ได้ เช่น การประกาศลาออกจากมรดกโลกล่วงหน้า 1 ปีตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือการประกาศไม่รับอำนาจศาลโลกอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลกลับทำหน้าที่เพียงแค่รักษาหน้าและปัดสวะให้พ้นตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น ถือเป็นการเอาประโยชน์ส่วนตนมากอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของชาติและไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดของตัวเอง

เราจึงขอเรียกร้องการแสดงความรับผิดชอบรัฐบาลรักษาการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ตัวเองได้ก่อเอาไว้ให้เสร็จสิ้นก่อนรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาดำเนินการดังต่อไปนี้

ประการแรก ประกาศไม่รับอำนาจศาลโลก ยืนยันว่า ไทยได้เคยคัดค้าน ประท้วง และตั้งข้อสงวน ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 เมื่อคดีนี้ถูกระบุในใบแจกข่าวของศาลโลกว่าเป็นคดีใหม่ ไทยจึงมีสิทธิ์ไม่ยอมรับ อีกทั้งประเทศไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับของอำนาจศาลโลกมานาน 50 ปีมาแล้ว

ประการที่สอง ไม่ถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยโดยเด็ดขาด และเร่งผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย

ความจริงประเทศไทยในวันนี้ได้สูญเสียอธิปไตยบางส่วนให้กับกัมพูชาในทางพฤตินัยไปแล้ว หากรัฐบาลรักษาการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนหมดวาระ หากวันหนึ่งประเทศไทยต้องเสียดินแดนและอธิปไตยในทางนิตินัยโดยศาลโลกหรือคณะกรรมการมรดกโลก อันเป็นผลจากการไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องข้างต้น เราจะบันทึกในประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้จดจำว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดและรู้เห็นเป็นใจในขั้นตอนสำคัญของขบวนการขายชาติที่ทำให้ประเทศไทยเดินทางมาสู่การเสียดินแดนด้วยเช่นกัน

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
20 กรกฎาคม พ.ศ.2554

แถลงการณ์ฉบับที่ 6/2554

หลังจากนั้น นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 6/2554 เรื่อง ขอให้รัฐบาลชุดต่อไปปกป้องอธิปไตยของชาติ มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการพิจารณาคดีตีความหมายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 โดยมีการกำหนดเขตปลอดทหาร ห้ามไทยและกัมพูชาทำกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ที่กำหนด และห้ามไทยขัดขวางการเข้าไปยังปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ตลอดจนห้ามไทยขัดขวางการส่งกำลังบำรุงให้แก่บุคคลการที่ไม่ใช่ทหาร ซึ่งต่อมาการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายกษิต ภิรมย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความเห็นว่า “พอใจ” กับมาตรการดังกล่าว น้อมรับและพร้อมปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าว โดยจะให้การตัดสินใจอยู่ที่การพูดคุยตกลงกันของรัฐบาลชุดหน้านั้น

ต่อมาปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ที่คาดหมายจากสังคมว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้ออกมาสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ว่า จะขอศึกษารายละเอียดคำสั่งของศาลโลกต่อกรณีปราสาทพระวิหารที่ออกมาก่อน แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งยืนยันว่าจะต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องอธิปไตยและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควบคู่กันไปเพื่อให้การค้าขายเกิดขึ้นได้

หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ เราขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอให้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ในการที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอธิปไตยของชาติได้ถูกกัมพูชาละเมิดรุกล้ำมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว แม้ว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลกัมพูชาจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับกัมพูชาและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเรื่องพลังงานในอ่าวไทย โดยขอให้ยึดถือเรื่องการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติไทยเหนือกว่าผลประโยชน์ของครอบครัวชินวัตรในกัมพูชา

2.เนื่องจากเป็นที่ทราบดีกันว่าพรรคเพื่อไทยได้สืบทอดบุคคลและนโยบายต่อมาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคพลังประชาชนเป็นพรรคที่เริ่มต้นนโยบายจัดทำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชายกปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบให้เป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างผิดกฎหมายและทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างรุนแรง เป็นความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นต้องรับผิดชอบดำเนินการให้กัมพูชาถอนทะเบียนปราสาทพระวิหารออกจากบัญชีมรดกโลกเสียก่อน

3.เนื่องรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้กัมพูชารุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย และทำให้ไทยต้องเสียเปรียบในเวทีมรดกโลก เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาอธิปไตยของชาติดังนี้

3.1ประกาศไม่รับอำนาจศาลโลก ยืนยันว่า ไทยได้คัดค้าน ประท้วง และตั้งข้อสงวน ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 เมื่อคดีนี้ถูกระบุในใบแจกข่าวของศาลโลกว่าเป็นคดีใหม่ ไทยจึงมีสิทธิ์ไม่ยอมรับ อีกทั้งประเทศไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับของอำนาจศาลโลกมานาน 50 ปีมาแล้ว

3.2ไม่ถอนทหารออกจากแผ่นดินไทยโดยเด็ดขาด และเร่งผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย

3.3ฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน

3.4ไม่ต่ออายุหรือกลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก

3.5ยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 2543)

3.6 ช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทยให้ออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็ว

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554




กำลังโหลดความคิดเห็น