xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ รธน.ประดาบก็เลือดเดือด “แม้ว”ตะกละเกินงาม ระวังแห้วกลับบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หน้ารัฐสภา เมื่อ 23 ก.พ.2555
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อันมีปลายทางที่การยกเลิกมาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มนับหนึ่งแล้ว เมื่อที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไว้พิจารณาจำนวน 3 ร่าง คือร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา

เพียงการพิจารณาวาระแรก บรรยากาศการประชุมก็เริ่มดุเดือด เมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วนเสนอให้เลื่อนวาระนี้ออกไปก่อนเพื่อรอร่างฯ ของประชาชนที่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม อีกทั้งควรรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย (คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่เห็นว่ายังไม่ควรเร่งรีบพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้เพราะบรรยากาศในบ้านเมืองยังไม่มีความสงบที่แท้จริง อาจจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเร่งรีบให้พิจารณาครั้งนี้เพราะมีวาระซ่อนเร้น ที่จะช่วยเหลือคนบางคน เพราะมีคนในรัฐบาลพูดว่าถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วบางอย่างจะกลับมา

แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยังดึงดันให้เดินหน้าพิจารณาต่อไป โดยอ้างว่า ได้พูดคุยกับตัวแทนประชาชนที่เสนอร่างแล้วยืนยันว่าไม่ขัดข้องหากจะไม่พิจารณาพร้อมกัน และอ้างว่าหากรัฐสภาเร่งดำเนินการได้เร็วจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ส่วนข้อสังเกตเรื่องวาระซ่อนเร้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการประท้วงจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยตามมา แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับเองว่า หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตรา เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศได้กลับมา ซึ่งสอดคล้องกับที่ ร.ต.อ.เฉลิมเคยปราศรัยที่ จ.อุดรธานี และ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยพูดในที่แถลงข่าวของคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายร่วม 3 ชั่วโมง เมื่อมีการลงมติปรากฏว่า สมาชิก 341 ต่อ 181 ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนวาระออกไป โดยมีผู้งดออกเสียง 21 เสียง การประชุมจึงเข้าวาระการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

เมื่อเข้าสู่เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้เสนอทั้ง 3 ฉบับแล้ว ยิ่งมีความชัดเจนว่า ต้องการจะฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร มีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคงต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และองค์กรอิสระต่างๆ ขาดการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน ไม่มีระบบการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพ

ผู้เสนอทั้ง 3 ร่าง จึงเสนอให้แก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเมื่อยกร่างเสร็จก็ให้นำร่างเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา โดยไม่ต้องให้ประชาชนลงประชามติ เพราะว่า ส.ส.ก็เป็นตัวแทนของประชาชนแล้ว แต่ถ้าสภาไม่ให้ผ่าน ก็นำไปให้ประชาชนลงประชามติได้

ขณะที่ฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วนได้อภิปรายคัดค้าน เพราะเห็นว่า ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกครอบงำจากนักการเมือง และมีที่มาไม่โปร่งใส รวมทั้งไม่มั่นใจว่าจะมีการแก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ และอาจจะมีการยกเลิกโทษคืนทรัพย์ให้กับผู้ถูกริบทรัพย์ และจะทำให้อดีตนายกฯ บางคนกลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง เพื่อปูทางสู่ฐานอำนาจของกลุ่มบุคคลให้เปลี่ยนไทยเป็นรัฐไทยใหม่โดยทุนผูกขาด นำไปสู่สภาทาส สภาผัวเมียเหมือนปี 40 แก้ไขที่มาของ ส.ว.ทำให้พรรคการเมืองเลือกคนของตนเข้ามา

นอกจากนี้ยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่ปัญหา นายกฯ พูดชัดเจนว่าปัญหาเร่งด่วนของประเทศวันนี้คือการฟื้นฟู ป้องกันอุทกภัยและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ท้ายสุดรัฐบาลก็เร่งเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 50 มีการทำประชามติจากประชาชน จะมาแก้ไขง่ายๆโดยไม่มีการทำประชามติก่อนไม่ได้ และ ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มาจากการปฏิวัติ ถ้าคิดแบบนี้ ในอดีตคงต้องมีการแก้ไขหลายฉบับ

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ยังคงยืนยันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันได้มาอย่างไม่ชอบธรรม และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหลายอย่าง จึงสมควรแก้ไขทั้งฉบับเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

เพียงยกแรกก็เห็นแล้วว่า รัฐบาลดึงดันที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายคือการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ ซึ่งก็จะทำให้มาตรา 309 หายไปทันที นั่นหมายถึงว่า สำนวนคดีความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)ได้ดำเนินการเอาไว้นับสิบคดี ก็จะกลายเป็นโมฆะไปด้วย

เหตุผลหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยนำมาอ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด ก็คือประชาชน 15 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 หลังจากพรรคได้นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเป็นประเด็นหนึ่งในการหาเสียง

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนิด้าโพลที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.40 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเห็นว่าควรแก้ไขเพียงบางมาตราเท่านั้น และเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะคนบางกลุ่ม

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.พ. รามคำแหงโพล ก็ได้เปิดเผลผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่าประเด็นที่ประชาขนไม่พอใจมากที่สุดคือการสร้างความแตกแยกด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดเป็นร้อยละ 26.55 รองลงไปนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่มีภาวะผู้นำ ร้อยละ 25.91 มีการก่อหนี้สินให้ประเทศชาติโดยไม่จำเป็น ร้อยละ 15.32 ก้าวก่ายงานข้าราชการประจำ ร้อยละ 11.77

ส่วนเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ศรีปทุมโพล ได้เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 44.8 เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมจะเป็นประโยชน์ของนักการเมือง ร้อยละ 21.9 เห็นว่าเป็นประโยชน์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีเพียงร้อยละ 25.3 ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ดังนั้น การอ้างประชาชน 15 ล้านคนที่ลงคะแนนเลือก ส.ส.ให้พรรคเพื่อไทย จึงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด ยิ่งเมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เก็บอาการไม่อยู่ หลุดปากออกมาว่า หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้ามาในประเทศโดยปราศจากความผิด ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงหมดไปโดยสิ้นเชิง

ขณะที่เสียงของฝ่ายต่อต้านเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ นอกจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่ม “50 ส.ว.” แล้ว ในภาคประชาชนนั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมองขาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลบล้างความผิดให้นายทุนเจ้าของพรรคการเมืองและกระชับอำนาจของเผด็จการทุนสามานย์ให้มากขึ้นในอนาคต จึงนัดประชุมแกนนำทั่วประเทศในวันที่ 10 มี.ค.นี้ เพื่อเตรียมเคลื่อนไหวต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนกลุ่มเสื้อหลากสีก็เริ่มชุมนุมคัดค้านตั้งแต่การพิจารณาร่างแก้ไข ม.291 ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา

ส่วนในภาควิชาการนั้น กลุ่มสยามประชาภิวัตน์ได้ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนชัดเจน ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ พร้อมเสนอแนวทางการตั้งองค์กรปฏิรูปประเทศไทยขึ้นมาแทน เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนทุกภาคส่วน นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน

ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ให้เป็นผู้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ได้ตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ 10 คน เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมาถ่วงดุลแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการทางรัฐสภา เมื่อดูรายชื่อแล้ว กรรมการหลายคนเคยมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นจึงอยู่ฝ่ายต่อต้านการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างแน่นอน

เมื่อกระแสต้าน ดังกระหึ่มออกมาจากทุกภาคส่วน รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกล้ารวบรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามใบสั่งของพี่ชายหรือไม่ เพราะการดึงดันเช่นนี้ย่อมสุมไฟความขัดแย้งให้ประทุขึ้นมา แล้วสิ่งที่พยายามสร้างภาพความปรองดอง เชิญผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไปร่วมงาน ก็จะสูญเปล่า

เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งเขม็งเกรียวเพิ่มความตึงเครียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดๆ หนึ่ง ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อน นั่นหมายถึงว่า โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับเข้าประเทศตามที่ฝันเอาไว้ก็จะหลุดลอยไปทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น