สยามประชาภิวัฒน์ ออกแถลงการณ์ ย้ำ ประเทศต้องหลุดพ้นวังวนเผด็จการทุนสามานย์ ร้องทุกฝ่ายร่วมกันปฏิรูปทั้งระบบ เสนอตั้งองค์กรปฏิรูปประเทศ ให้อดีตประมุขอำนาจ 3 ฝ่ายเสนอชื่อ 9 กก.กำกับดูแล พร้อมตั้งสมัชชา ดึงตัวแทนองค์กรภาคประชาชนทุกส่วนร่วมเสนอทางออกประเทศ
วันนี้ (22 ก.พ.) กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทยให้หลุดพ้นจากระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนผูกขาด โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้มีแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาหยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่ระบอบ “เผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดเบ็ดเสร็จ” โดยเสนอว่า ประเทศไทยมีโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องคิดและตอบต่อสังคม คือ “ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวังวนของระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดได้อย่างไร” และเห็นว่า คำตอบจึงอยู่ที่ทุกฝ่ายควรร่วมกัน “ปฏิรูปประเทศไทย” ทั้งระบบ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยทุกฝ่ายต้องสละผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องภายใต้การเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นไปตามหลักการทางวิชาการ
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” เห็นว่า การ “ปฏิรูปประเทศไทย” มีความจำเป็นในทางวิชาการที่ต้องแยกกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยออกจากกระบวนการของการปรับเปลี่ยนทางการเมืองหรือการแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองตามระบบปกติที่เป็นการดำเนินการโดยองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และการที่จะบรรลุถึงภารกิจ “ปฏิรูปประเทศไทย” กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ขอเสนอหลักการสำคัญสำหรับการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ดังนี้
๑. เป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ
“สร้างสังคมที่เป็นธรรม เป็นสุข และมั่นคง” โดย
(๑) ขจัดการรวมศูนย์และผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลแห่งอำนาจ
(๒) สร้างหลักประกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง รวมทั้งการใช้สิทธิและการเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริง
(๓) สร้างสังคมประชาธิปไตยที่ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศอย่างมีดุลยภาพ
๒. เหตุผลความจำเป็นของการแยกกระบวนการปฏิรูปประเทศออกจากโครงสร้างปกติทางการเมือง
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” เห็นว่า การ “ปฏิรูปประเทศไทย” ต้องมีกระบวนการที่ดีที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองและผลประโยชน์กระบวนการปฏิรูปประเทศจำเป็นต้องดำเนินการโดยอิสระแยกออกมาจากโครงสร้างปกติทางการเมืองและการบริหาร เนื่องจาก
(๑) รัฐบาลมีประโยชน์ได้เสียโดยตรงในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปประเทศ
(๒) รัฐบาลมีภารกิจในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง
(๓) รัฐสภามีหน้าที่ประจำในการตรากฎหมายซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
(๔) สมาชิกรัฐสภามีประโยชน์ได้เสียในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปประเทศ
(๕) การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
๓. องค์กรดำเนินการปฏิรูปประเทศ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการ “ปฏิรูปประเทศไทย” จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูปโครงสร้าง กำกับดูแลการ “ปฏิรูปประเทศไทย” และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
๓.๑ คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ เป็นองค์กรระดับสูงในการ “กำกับดูแล” การปฏิรูปโครงสร้างของระบบต่างๆ ที่จำเป็นต่อการ “ปฏิรูปประเทศไทย”
(ก) ที่มา
(๑) กรรมการจำนวนเก้าคน ประกอบด้วย บุคคลต่างๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมของอดีตประมุข ขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่าย ได้แก่ ที่ประชุมของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมของอดีตประธานรัฐสภา และที่ประชุมของอดีตประธานศาล เป็นจำนวนเท่าๆ กันฝ่ายละสามคน ทั้งนี้ ในส่วนของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมของอดีตประธานศาล ให้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมร่วมของอดีตประธานศาลฎีกา อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด และอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ
(๒) บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงในด้านต่างๆ ซึ่งมีเจตจำนงและบทบาทในการปฏิรูปประเทศและเป็นที่ยอมรับของสังคม
(๓) นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ทูลเกล้าเสนอเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ
(ข) อำนาจหน้าที่หลัก
กำกับและประสานการดำเนินการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ และคณะกรรมการอื่นที่จำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศ และประสานการดำเนินการปฏิรูปประเทศกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยราชการ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ตลอดจนประสานความร่วมมือ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินการปฏิรูปประเทศกับสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
๓.๒ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ เป็นองค์กรศูนย์รวมของภาคประชาชนที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญของภาคประชาชนต่อการ “ปฏิรูปประเทศไทย”และประสานความเข้าใจในการ “ปฏิรูปประเทศไทย” แก่ประชาชน
(ก) ที่มา
(๑) สมาชิกจากองค์กรภาคประชาชนจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยคน มีที่มาจากการสรรหาจากผู้แทนขององค์กรดังต่อไปนี้
- สภาพัฒนาการเมือง
- สภาองค์กรชุมชน
- สมัชชาสุขภาพ
- องค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง
- องค์กรภาคธุรกิจด้านอุตสาหกรรมและการบริการ
- กลุ่มเครือข่ายเกษตรกร
- กลุ่มองค์กรด้านแรงงานและองค์กรผู้บริโภค
- กลุ่มองค์กรเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร
- กลุ่มองค์กรด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการศาสนา
- กลุ่มองค์กรด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ
(๒) มีการสรรหาจากผู้แทนขององค์กรภาคประชาชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศกำหนดโดยคำนึงถึงการกระจายของบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กร
(๓) ให้ประธานคณะกรรมการกำกับการปฎิรูปประเทศทูลเกล้าถวายรายชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ
(ข) อำนาจหน้าที่หลัก
เสนอความเห็น รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ และสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งกรรมการปฏิรูประบบการบริหารและกระบวนการยุติธรรม และกรรมการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศพิจารณา ตลอดจนติดตามการดำเนินการขององค์กรของรัฐในการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อการปฏิรูปประเทศที่องค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศได้กำหนด และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ
๓.๓ คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ
๓.๓.๑ คณะกรรมการปฏิรูประบบการเมือง เป็นองค์กรสำคัญในการ “ปฏิรูประบบการเมือง” ที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ขั้นสูงของบุคคลที่สั่งสม วิเคราะห์สังเคราะห์ แสวงหากลไกสำคัญในการปรับเปลี่ยนระบบการเมืองเพื่อให้ ระบบการเมืองพ้นจากสภาพของการเมืองที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ และการผูกขาดอำนาจโดย “เผด็จการพรรคการเมืองนายทุนผูกขาดเบ็ดเสร็จ”
(ก) ที่มา
(๑) กรรมการจำนวน ๙ คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการปฏิรูประบบการเมือง ดังนี้
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานิติศาสตร์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๒ คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาวิชารัฐศาสตร์ด้านรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
- กรรมการผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง จำนวน ๒ คน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองที่
(๒) คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเสนอชื่อกรรมการผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่พึงมี แล้วเสนอชื่อต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศเพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่พึงมี
(๓) ให้ประธานคณะกรรมการกำกับการปฎิรูปประเทศทูลเกล้าถวายรายชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งและให้ประธานกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง
(ข) อำนาจหน้าที่หลัก
พิจารณาจัดโครงสร้างทางการเมืองและหากลไกสำคัญที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนและป้องกันการเข้าผูกขาดอำนาจรัฐของเผด็จการทุกรูปแบบ และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อบรรลุภารกิจอาจต้องยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข ยกเลิก หรือเพิ่มเติมหลักการบางประการ แล้วนำไปให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ
๓.๓.๒ คณะกรรมการปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม เป็นองค์กรสำคัญในการปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้บรรลุต่อเป้าหมายในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ระบบการบริหารและกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ภายใต้หลักการนิติรัฐ และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
(ก) ที่มา
(๑) กรรมการ จำนวน ๙ คน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน บริหารรัฐกิจ และบริหารกระบวนการยุติธรรม ดังนี้
(๒) คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ คน และคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีและสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศเสนอจำนวน ๔ คน จากรายชื่อที่คณะรัฐมนตรีและสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศคัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่พึงมี
(๓) ให้ประธานคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศทูลเกล้าฯถวายรายชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งและให้ประธานกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง
(ข) อำนาจหน้าที่หลัก
ปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดการบริหารราชการและการบริหารกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ นำหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาใช้ในการบริหาร ขจัดความไม่เป็นธรรม และการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เสริมสร้างสร้างความเท่าเทียมกันของประชาชนในการได้รับโอกาสในการใช้สิทธิในกระบวนการของระบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม รวมถึงให้มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนและกรอบระยะเวลาระยะเวลาในการดำเนินการปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรม เสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ กำหนดนโยบายหรือมาตรการในการปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรมเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ รวมทั้ง จัดทำร่างกฎหมายหรือกฎที่จำเป็นต่อการปฏิรูประบบบริหารและกระบวนการยุติธรรมเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ
๓.๓.๓ คณะกรรมการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ เป็นองค์กรสำคัญในการปฏิรูประบบสังคมและเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ลดความความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันของประชาชน และให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดำรงหลักการทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมอย่างแท้จริงลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ
(ก) ที่มา
(๑) กรรมการจำนวน ๙ คน ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การศึกษา ศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย และการสาธารณสุข การดังต่อไปนี้
(๒) คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ คน และ พิจารณาคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีและสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศเสนอจำนวน ๔ คน จากรายชื่อที่คณะรัฐมนตรีและสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศคัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนกรรมการที่พึงมี แล้วพิจารณาคัดเลือกให้เหลือตามจำนวนที่พึงมี
(๓) ให้ประธานคณะกรรมการกำกับการปฎิรูปประเทศทูลเกล้าถวายรายชื่อบุคคลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งและให้ประธานกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง
(ข ) อำนาจหน้าที่หลัก
ปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันของประชาชน มีการยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ให้มีการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นธรรม ขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคมและเศรษฐกิจ ขจัดการกระจุกตัวของรายได้และกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม มีการนำหลักเศรษฐกิจเสรีอย่างพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้เป็นหลักในการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ และเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแก่ประชาชน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความสุขมวลรวมของประชาชาติ รวมถึงให้มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ เสนอต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ กำหนดนโยบายหรือมาตรการในการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายหรือกฎที่จำเป็นต่อการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศ
๔. ขอบเขตของการปฏิรูปประเทศ
การกำหนดขอบเขตของการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ต้องยึดหลักการสำคัญสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้การเมืองที่มีเสถียรภาพและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีระบบสถาบันการเมืองซึ่งมีประสิทธิภาพและใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับศาลและองค์กรอิสระที่สำคัญของรัฐ ที่มีการจัดรูปแบบองค์กร ระบบความรับผิดชอบ และมีวิธีพิจารณาหรือวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้
กา ร“ปฏิรูปประเทศไทย” มีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบสำคัญอันเป็น “สามเสาหลัก” ของประเทศ คือ ระบบการเมือง ระบบการบริหารและกระบวนการยุติธรรม สังคม และเศรษฐกิจ
แผนภาพองค์กรดำเนินการการปฏิรูปประเทศไทย
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงขอเสนอต่อภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยให้ช่วยกันเรียกร้องต่อรัฐบาล และรัฐสภา ว่า แทนที่รัฐบาลและรัฐสภาจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๙๑ เพื่อกำหนดโครงสร้างและกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียวนั้น จึงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ สิ่งที่รัฐบาลและรัฐสภาพึงกระทำ คือ ควรดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยโดยการเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดโครงสร้างและกระบวนการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ในภาพรวมทั้งระบบ ตามรายละเอียดในแถลงการณ์นี้ เพื่อใช้เป็นกรอบสำหรับดำเนินการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ต่อไป
กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์”
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕