xs
xsm
sm
md
lg

แนวร่วมปฏิรูปประเทศไทยในการปรับสัมพันธภาพทางอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยที่มุ่งหมายปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงปรับดุลยภาพทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ทางสังคมโดยเพิ่มอำนาจต่อรองของส่วนที่ขาดนับว่าเป็นหนทางของการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้

ในความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคมที่ท่วมท้นด้วยความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างที่ปฏิบัติการผ่านแผนงาน นโยบาย และกฎหมายมากมายได้ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คนเล็กคนน้อย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม (vulnerable groups) ที่อยู่ตามชายขอบของการพัฒนาทั้งในเมืองและชนบท

สัมพันธภาพทางอำนาจสถาปนาความเป็น ‘อื่น’ (other) แก่คนกลุ่มนี้เรื่อยมา

การธำรงจุดมุ่งหมายร่วมกันของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ที่กำหนดเป้าหมายร่วมการปฏิรูปไว้ที่การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมบน 3 เป้าหมายเชิงอุดมคติเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตคนไทย คือ 1) ชีวิตที่มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์ มีส่วนร่วมทางสังคม มีสำนึกต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนทั้งทางกาย ใจ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ

2) ชีวิตสงบสุขตามวิถีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามจากผู้อื่น หรือการคุกคามซึ่งกันและกัน ตลอดจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ และ 3) ชีวิตที่มีหลักประกันด้านเงื่อนไขการครองชีพ และมีกลไกการคุ้มครองทางสังคม นับเป็นก้าวย่างการปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องการแนวร่วมอย่างกว้างขวางทางสังคมเพราะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม

กระนั้นใช่ว่าเส้นทางข้างหน้าจะโรยกลีบกุหลาบแต่อย่างใด เพราะในความเปลี่ยนแปลงย่อมมีแรงเสียดทานขนาดทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจากกลุ่มสูญเสียผลประโยชน์แต่กุมอำนาจการกำหนดนโยบายสาธารณะตั้งแต่แง่มุมของเนื้อหาสารัตถะ กระบวนการ จนถึงขอบข่ายการตัดสินใจในความเป็นไปได้ที่จะละเว้นหรือส่งเสริมนโยบายสาธารณะใดๆ ดังจะเห็นได้ว่าข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและประชาชนของ ครป.ที่ครอบคลุมประเด็นปฏิรูปด้านความเป็นธรรมทางสังคมในเชิงโครงสร้างและระบบนับแต่คุณค่าสังคม ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมือง ระบบราชการ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ และระบบสวัสดิการสังคม ไม่ได้รับการขานรับจากกลุ่มกุมอำนาจรัฐ การเมือง และทุนเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ถ้านำข้อเสนอเหล่านี้ไปแปรเป็นนโยบายและกฎหมายก็จะก่อคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย

การพัฒนาก้าวกระโดดของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (participant political culture) ในสังคมไทยที่เข้ามาแทนวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบยอมรับกับการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ขาดไร้ความสมเหตุสมผลและก่อโทษอนันต์เพราะไม่ผูกพันกับระบบการเมืองในภาพรวม รวมถึงการนิยามตนเองของประชาชนเป็นผู้ถูกปกครองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของรัฐตามวัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้ากำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงนับแต่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองเป็นต้นมา

หน้าต่างแห่งโอกาสที่เปิดกว้างกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ตื่นตัวต่อประเด็นปัญหาสาธารณะนอกจากจะกระทำได้ในช่วงยามการเลือกตั้ง 4 ปีครั้งหนึ่งจากการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายโดนใจแล้ว การกดดันเคลื่อนไหวชุมนุมสาธารณะก็เป็นอีกทางหนึ่งซึ่งสำคัญตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รวมถึงแนวทางสมัชชาปฏิรูปด้วยเช่นกันที่จะเป็นอีกพลังหนึ่งซึ่งนำความเป็นธรรมมาสู่สังคมไทยได้ถ้ามีแนวร่วมอย่างกว้างขวางทั้งในเชิงพื้นที่ ประเด็น และกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องอยู่บนแนวทางของการผนวกรวม (inclusion) มากกว่าจะขจัดหรือลดทอนความคิดเห็นแตกต่างออกไป

นัยสำคัญของการเปลี่ยนผ่านความเป็นธรรมทางสังคมโดยการขจัดความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย และการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ขาดความสมเหตุสมผล บนกระบวนการสมัชชาปฏิรูปที่ภาคประชาชน ชุมชน ธุรกิจ วิชาการ และรัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานทางปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะกลายมาเป็นนโยบายสาธารณะ (public policy) ที่รัฐกำหนดร่วมกันกับกลุ่มผลประโยชน์ (interest groups) และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียซึ่งสำคัญสุด (stakeholders) จึงนับเป็นก้าวการปฏิรูปประเทศไทยที่เปิดกว้างการเข้ามามีส่วนร่วมของแนวร่วมอย่างกว้างขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น