ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ปัจจุบันพบว่า เรามีคณะกรรมการถึง 282 คณะ ซึ่งรัฐบาลถือว่าเยอะมาก เกรงว่า จะเสียเวลาไปกับการประชุม ซึ่งจะมีการปรับลดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีเวลาในการบริหารงาน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานประชุมมอบหมายนโยบายงานให้กับหัวหน้าส่วนราชการ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันพฤหัสที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา
ที่นายกรัฐมนตรีพูดถึง นอกจากคณะกรรมการฯแล้ว ยังรวมถึงอนุกรรมการฯ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลหลายยุคหลายสมัย จะแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทั้งในระยะยาว หรือเฉพาะหน้า บางคณะมีการกรรมการจำนวนลดหลั่นมากน้อยแล้วแต่งานที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เรียกว่า “แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี” ขณะที่ยังมีคณะกรรมการที่ “แต่งตั้งตามกฎหมาย” ตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งคณะกรรมการฯบางชุดจะมีทั้ง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รวมถึง รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยฯ ข้าราชการกระทรวงต่างๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก
โดยคณะรัฐมนตรี จะแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบ หรือตามกฎหมายหนึ่งกฎหมายใด หรือคณะกรรมการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา “จึงไม่แปลก” ที่จะมีการยุบคณะกรรมการของรัฐบาลที่ผ่านมา“จำนวนมาก”
เช่น สมัยรัฐบาลขิงแก่ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี มี “ธีรภัทร เสรีรังสรรค์” กำกับดูแลสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศจะยุบทิ้งคณะกรรมการสมัยรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ที่ตั้งขึ้นมากว่า 300 คณะ แต่ก็ยุบจริงไม่ถึงร้อยคณะ
พอมาสมัย “รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช” มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” กำกับสำนักนายกรัฐมตรีก็ยุบไปกว่าร้อยคณะ หรือสมัย “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ที่แต่งตั้งไว้ แค่ 57 คณะ บางคณะก็ถูกยุบโดยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ช่วงที่มี “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” กำกับดูแลสำนักนายกรัฐมนตรี
มติครม.ส่วนใหญ่ หากไม่ยุบคณะกรรมการฯทิ้ง โดยนายกฯ จะสอบถาม รัฐมนตรีฯว่า หากกระทรวง กรมใด เห็นว่าคณะกรรมการชุดใดมีความสำคัญ และจำเป็นต้องมีอยู่ให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นใหม่ โดยให้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแต่งตั้งต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดใดที่กระทรวง กรม จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้งดังกล่าว หากสามารถกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานและภารกิจสิ้นสุดที่ชัดเจนได้ ให้ระบุวันสิ้นสุดของคณะกรรมการนั้นๆ ไว้ด้วย
ทีนี้มาดูว่า คณะกรรมการฯที่ “นายกฯยิ่งลักษณ” เห็นว่า น่าจะยุบทิ้ง ไม่สมควรจะมานั่งประชุมให้เสียเวลา
ฟันธง! และเชื่อว่า 4 ใน 5 คณะกรรมการหลังเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดง ในปี 2553 ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ-คณะทำงานอิสระ จำนวน 5 คณะ เพื่อทำงานด้านต่างๆ โดยได้รับงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ไปดำเนินกิจกรรม น่าจะถูกยุบชัวร์ ประกอบด้วย
“คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” (คปร.) ที่มี “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธาน แม้ก่อนหน้านี้ อดีตนายกฯอานันท์ จะลาออกไปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังมีชื่อคณะกรรมการนี้อยู่ ต่อมาก็คือ “คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” มี “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน แม้ภารกิจจะล่วงเลย แต่ก็น่าจะถูกยุบทิ้ง
ส่วนอีก 2 ชุด ที่ยังทำงานประจำอยู่ที่ “บ้านพิษณุโลก” คือ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ” ที่มี “หมอประเวศ วะสี” เป็นประธาน และ”คณะทำงานปฏิรูปสื่อ” ที่มี “รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ” เป็นประธาน
เชื่อว่า 4 คณะนี้ไปไม่รอด โดนยุบแน่
ส่วนอีก 1 คณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุทหาร-ตำรวจขอคืนพื้นที่จากลุ่มนปช. ในชื่อ “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) “ที่มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน น่าจะยังทำงานได้ต่อ และอาจจะมีงบประมาณ ปี 2555 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อุดหนุนต่อไป จากภารกิจสอบข้อเท็จจริง และเยียวยาให้คนเสื้อแดง ตาม“นโยบายสร้างความปรองดองของรัฐบาล” แต่จะเปลี่ยนชื่อหรือไม่อย่างไร ก็ต้องติดตามดู
ถามว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” จะถูกยุบทิ้ง เพราะอะไร ไปเกี่ยวกับ 282 คณะ ที่นายกฯยิ่งลักษณ์พูดไว้ หรือไม่
ตอบว่า ก็เกี่ยวอยู่บ้างแต่คณะกรรมการชุดนี้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตั้งมา ใครจะเอาไว้ละ
!
ก่อนหน้านั้น “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ระบุไว้ในช่วงประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลว่า ทางพรรคเพื่อไทยมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือคนรากหญ้า สามารถยกระดับช่องว่างระหว่างคนที่มีรายได้สูงกับคนรายได้น้อยได้
ซึ่งนโยบายของพรรคก็มีส่วนสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว แต่นักวิชาการจะมอง ตนคิดว่าหากพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็จะพิจารณาว่า
" คปร.ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวมาไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม แต่ใช้เม็ดเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท”
"ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนขึ้นมา ก็ต้องพิจารณาเหมือนกันว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯ สามารถทำงานลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ ถ้าผลการดำเนินงานช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็พร้อมอนุมัติเงินให้เหมือนกัน ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะดูที่ผลงาน ดูว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่รัฐเสียไปหรือไม่ ถ้าผลงานออกมาปฏิบัติได้จริง จับต้องได้ ก็ต้องสนับสนุนต่ออยู่แล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลไหนๆ ก็คงคิดเหมือนกัน" ส.ส.เพื่อไทย กล่าว
ขณะที่“อดีตคณะกรรมการปฏิรูป ” ต่างก็ทำใจไว้ก่อนหน้าแล้ว “เดชรัตน์ สุขกำเนิด” ระบุว่า เคารพสิทธิของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาบริหารประเทศ “ณรงค์ เพชรประเสิรฐ” บอกว่า เป็นการแสดงออกโดยมารยาททาง คปร. จึงขอลาออกก่อนมีการเลือกตั้ง 7 วัน และเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา จะให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจอีกครั้งว่าจะให้คปร.ทำงานใหม่หรือไม่
แต่ก่อนที่จะลาออกจากคปร. ได้ทำข้อเสนอต่อรัฐบาลเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมี 6 ข้อเสนอ ตือ 1. เรื่องที่ดิน 2. การกระจายอำนาจ 3. เรื่องแรงงาน 4. แก้ไขปัญหาเกษตกร 5. ปัญหาคนเมือง 6. ปัญหาด้านการศึกษา
นอกจาก “คณะกรรมการปฏิรูป”ที่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ที่จะถูกยุบแล้ว ยังมีคณะกรรมการมรดกของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จ่อจะถูกยุบเช่น คณะกรรมการภายใต้โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่ถูกฝังไว้หลายกระทรวง คณะกรรมการโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือ โครงการชุมชนพอเพียง ที่ถูกมองว่าเป็นมรดกบาปเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล” ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
นอกจากนี้ยังมีสีสรร ที่อาจจะถูกยุบ อาทิ“คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ “หรือ “บอร์ดไข่” อันลือลั้นในยุคประชาธิปัตย์
นอกจาก“จ่อยุบ” คณะกรรมการ 282 คณะแล้ว “พรรคเพื่อไทย” ยังเตรียมตรวจสอบ 172โครงการ ที่อาจส่อไปในทางทุจริตในรัฐบาลที่แล้ว มี “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” “ พิชิฎ ชื่นบาน” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม “ประชา ประสพดี” ส.ส.สมุทรปราการ “ขจิต ชัยนิคม” ส.ส.นครพนม รวมทั้งคณะทำงานด้านกฎหมาย
แว่วๆว่า เดือนก.ย.นี้ มี 2โครงการที่มีข้อมูลหลักฐานเด็ดในกระทรวงไอซีที. สาธารณสุข และศึกษาธิการจ่อ !! ไว้แล้ว
ปาก“นายกฯ ยิ่งลักษณ์”บอก “มาแก้ไข ไม่แก้แค้น” แต่ เดือนก.ย.นี้เร่งให้ดำเนินการไม่แก้แค้ แต่เรียกว่า “เอาคืน”ได้หรือเปล่า