โฆษก ปชป.ท้า “ยิ่งลักษณ์” เปิดเวทีดีเบต “มาร์ค” จับโกหก “นพเหล่” อ้าง “แม้ว” อยู่ตะวันออกกลาง ยันกบดานบรูไน ซุ่มจัดทัพเลือกตั้ง-จัดม็อบเสื้อแดง โวยป้ายรณรงค์ “โหวตโน” พันธมิตรฯ สะท้อนนักการเมืองชั่ว โยนบาปต้นเหตุปมขัดแย้งการเมืองรอบใหม่ หนุนข้อเสนอปฏิรูปประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ
วันนี้ (15 พ.ค.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมกันเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์ โดยพรรคยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไปโดยให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สานต่องานในการแก้ไขปัญหาของประชาชน
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะประกาศตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคก็ยินดีต้อนรับ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ประชนจะได้มีโอกาสตัดสินใจเลือกผู้นำ ดึงส่วนที่ดีที่สุดของผู้เสนอตัวจากทั้งสองพรรคให้ประชาชนได้มีโอกาสได้รับรู้และสามารถใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกผู้นำเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ โดยนายอภิสิทธิ์พร้อมจะร่วมมือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในการเดินหน้าพบปะประชาชนในทุกเวทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ทั่วประเทศ
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในการขับเคลื่อนประเทศโดยการให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่เป็นฉันทานุมัติในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของคนเสื้อแดง และปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่จะประกาศบอกกับประชาชน และเป็นนโยบายข้อ7 ที่ประกาศไว้ และพ.ต.ท.ทักษิณก็ตระหนักดีว่าเป็นขบวนการที่ต้องใช้เวลา จึงได้ประกาศว่าจะกลับมาเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหมายความว่าจะใช้เวลา 5 เดือน ที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณบรรลุผลได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องบอกกับประชาชนว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการนี้ออกมาคัดค้านและส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงอยากให้ทุกพรรคมีส่วนบอกกับประชาชนในเรื่องนี้เพราะเป็นความชอบธรรมประชาชนมีสิทธิ์จะรู้
ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณประกาศให้กลุ่มเสื้อแดงถอดเสื้อก่อนที่จะมีการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค. ขณะที่สัปดาห์หน้าจะมีการให้แกนนำคนเสื้อแดงที่มีคดี และที่มีการเคลื่อนไหวนอกสภาเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคค่อนข้างแน่นอน ประชาชนก็มีสิทธิ์รู้ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่บงการพรรคเพื่อไทยให้เป็นแนวร่วมกับคนเสื้อแดงในลักษณะต้องปิดบังอำพรางบางอย่างเป็นการซื่อสัตย์กับประชาชนหรือไม่ เพราะประชาชนไม่ต้องการเห็นการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. นำไปสู่ความรุนแรงและวุ่นวาย เพราะส่งผลกระทบไปทั่ว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า กรณีที่นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับผลการเลือกตั้ง ว่าทุกพรรคการเมืองได้ร่วมลงพันธสัญญาในการยืนยันว่าจะทำตามกติกาของรัฐธรรมนูญ คือ หากพรรคใดไม่สามารถได้เสียงข้างมากได้ด้วยตัวเอง ก็จะต้องมีการเลือกนายกฯ หลังจากมีการประชุมสภาครั้งแรก และผู้ที่ได้รับเสียงมากที่สุดก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกติกาที่พรรคเคารพมาตลอด อยากถามว่าตรงนี้เป็นขบวนการที่นายนพดล และพวกจะไม่ยอมรับเสียงข้างมากในสภาต่อการเลือกนายกฯใช่หรือไม่
นอกจากนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายนพดลใช้รูปแบบแถลงการณ์โดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ตะวันออกกลางและไม่ได้เดินทางมาประเทศไทยนั้นไม่เป็นความจริง เพราะแกนนำเพื่อไทยได้เดินทางไปประเทศบรูไนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และยืนยันว่าเดินทางไปเพื่อเอาบัญชีรายชื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณอนุมัติ แต่ที่นายนพดลต้องปฏิเสธเพราะผู้นำประเทศบรูไนมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงขอให้นายนพดลยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้เดินทางไปบรูไนหรือไม่ และถ้าจริงทำไมจึงแถลงการณ์ว่าอยู่ที่ตะวันออกกลาง และจุดประสงค์สำคัญคือ การให้แกนนำเสื้อแดงไปรับทราบบัญชาการเพื่อเตรียมการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. ควรให้ประชาชนได้รับทราบความชัดเจนเพราะวิตกกังวลว่าจะมีการเตรียมการก่อความรุนแรงเหมือนวันที่ 10 เมษายนปีที่แล้วหรือไม่
นพ.บุรณัชย์กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย์ (พธม.) ติดป้ายรณรงค์ไม่ประสงค์ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด (โหวตโน) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การแสดงภาพสัตว์ต่างๆ ใส่ชุดนักการเมืองในป้ายรณรงค์นี้คือความต้องการสื่อสารเชิงลบ ปลุกระดมให้เห็นว่านักการเมืองทั้งหมดเป็นคนชั่ว ทั้งที่ความจริงแล้วทุกวงการมีทั้งคนดีและคนไม่ดี โดยพรรคประชาธิปัตย์มองว่าการรณรงค์ให้โหวตโนนั้นอาจทำเป็นปมปัญหารอบใหม่เห็นได้จากความขัดแย้งของพรรคการเมืองใหม่ที่ต้องการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ว ทั้งยังเปรียบเสมือนการเสียโอกาสในการเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวทางทำเพื่อประชาชน ส่งผลให้ความต้องการที่จะปฏิรูปการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจได้รับผลตรงกันข้ามได้ ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ เองถือว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการขับไล่นักการเมืองที่ไม่ดี ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้การเมืองเกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่
นพ.บุรณัชย์กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเสนอให้พรรคการเมืองนำแนวทางการปฏิรูปประเทศไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของ คปร.โดยมีการดำเนินนโยบายในแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่แล้ว อาทิ การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การสร้างหลักประกันพื้นฐานในภาคการเกษตร การสนับสนุนนโยบายการกระจายอำนาจจากการดำเนินนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันที่จะสนับสนุนแนวทางลดความเหลื่อมล้ำต่อไป
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 กรุงเทพฯ พร้อมนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ก.เขตคลองเตย และทีมงานจำนวนหนึ่ง แถลงข่าวขอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองหัวหน้าพรรคเป็นประธานชะลอนโยบายการย้ายท่าเรือคลองเตยไปรวมกับท่าเรือแหลมฉบังจ.ชลบุรีเพื่อปรับปรุงพื้นที่ท่าเรือคลองเตยเดิมให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่
โดยนายอนุชากล่าวว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ครอบครัวพนักงานการท่าเรือกว่า 3,700 คน ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อีกทั้งแนวทางการบริหารท่าเรือแหลมฉบังในเฟสใหม่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการท่าฯจะมีสิทธิในการบริหารจัดการหรือไม่ ดังนั้น ตนและทีมงานจึงมีความเห็นว่าควรชะลอนโยบายดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวของพรรค เพราะแนวทางนี้ได้สร้างประโยชน์ของภาพรวม อีกทั้งกรณีดังกล่าวไม่ได้มีประชาชนคนใดออกมาต่อต้าน เพียงแต่มองว่าควรจะมีแนวทางกว่านี้เท่านั้น