xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ข่าวปล่อยว่าพันธมิตรฯ แปรเปลี่ยนอุดมการณ์มีออกมาอย่างเป็นระบบมากเหลือเกินในช่วงนี้

เพราะใครๆ ก็วิเคราะห์ได้ว่าในคะแนนเสียงที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีเสียงของพันธมิตรฯ รวมอยู่ด้วยไม่น้อย ถ้าในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งหันไปกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน คะแนนเสียงที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับก็จะลดน้อยลงไป และจะมีผลต่อผลการเลือกตั้งโดยรวม เพราะฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยหรือคนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นจะยังมั่นคงไม่แปรเปลี่ยน

นี่เป็นการมองแต่เพียงปลายเหตุไม่ได้มองที่ต้นเหตุหรือมองภาพรวมทั้งหมดนับตั้งแต่เกิดพันธมิตรฯ ขึ้นมาเมื่อปี 2548 - 2549

ต้องยอมรับว่าพันธมิตรฯ ไม่ได้เชื่อในระบบการเมืองปัจจุบันมาตั้งแต่ต้น

พันธมิตรฯ เชื่อว่าในเมื่อระบบมีปัญหา ก็ป่วยการจะไปพูดเรื่องคนเรื่องพรรค คนดีๆ ที่เข้าไปสู่ระบบต้องแปรเปลี่ยนปรับตัวให้เข้ากับระบบ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ พันธมิตรฯ เชื่อในหลักการว่าระบบการเมืองปัจจุบันของไทยที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้น แท้จริงคือระบบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง พันธมิตรฯ ไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อขับไล่รัฐบาลของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองเดียว แต่ต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองใหญ่ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับยุคใหม่ แนวความคิดนี้ของพันธมิตรฯ ปรากฏชัดมาตั้งแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548

พันธมิตรฯ ไม่เคยละทิ้งการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปการเมืองใหญ่ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศเลย

แต่ดำเนินไปควบคู่กับการต่อสู้กับขบวนการสถาปนารัฐไทยใหม่

พันธมิตรฯ มองว่าในการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเมือง จำเป็นจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้ง 2 แนวรบ

เพราะพันธมิตรฯ เชื่อว่าขบวนการสถาปนารัฐไทยใหม่เปรียบเสมือนภยันตรายต่อบ้านเมืองในลักษณะที่มีคนถือขวานเล่มใหญ่เดินตรงเข้ามาจะฟันเสาเรือน แต่การรักษาระบบการเมืองของนักการเมืองแบบเดิมๆ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้คำว่า “การเมืองที่ล้มเหลว” ในสปีชแรกรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ก็เป็นเสมือนการรักษาปลวกที่ชอนไชกัดกินเข้าไปในเนื้อเสาเรือน เพียงแต่เปลือกนอกอาจจะมองเห็นไม่ถนัด ถ้าเราจะเอาแต่ต่อสู้ฟาดฟันกับคนถือขวานจะมาฟันเสาเรือน แต่ละเลยไม่กำจัดปลวกที่กินเนื้อในเสาเรือน ถามว่าในที่สุดเสาเรือนจะผุกร่อนพังทลายจนตัวเรือนล้มครืนไปไหม

โดยนัยนี้ พันธมิตรฯ ไม่ได้ต่างอะไรกับคนบางคนที่เชื่อในข่าวปล่อย กล่าวคือยังคงธำรงเป้าหมายในการต่อสู้กับคนที่ถือขวานเล่มโตเดินเข้ามาจะจามเสาเรือน

แต่พันธมิตรฯ ต่างกับท่านเหล่านั้นตรงที่เห็นว่าจะต้องกำจัดปลวกไปพร้อมๆ กันด้วย

เพราะพันธมิตรฯ เห็นว่า ไอ้คนถือขวานนั้นถึงแม้จะมีกำลังอำนาจ แต่ก็เป็นศัตรูที่เปิดเผย มองเห็นง่าย แตกต่างกับปลวกที่เรามองไม่เห็นหากมองเพียงผ่านๆ ผิวๆ ไม่เจาะลึก เป็นอันตรายที่อยู่กับตัวเรา ไม่แน่นักว่าก่อนที่คนถือขวานจะเดินมาถึงเรือน เสาเรือนอาจผุกร่อนถึงจุดที่ทำให้เรือนทรุดยุบตัวลงมา แม้ไม่พังทันที แต่ก็ทำให้คนบนเรือนเสียสมาธิ ต้องรับศึกหลายด้าน เป็นโอกาสให้ไอ้คนถือขวานรุกคืบเข้ามาฟันซ้ำตรงจุดอ่อนได้

พันธมิตรฯ อาจจะมองเห็นแล้วด้วยซ้ำว่า ณ วันนี้คนถือขวานตั้งเต็นท์รอท่าอยู่หน้าบ้านไกลๆ ไม่เร่งบุกเข้ามาแล้วด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าอีกไม่นานเรือนหลังนี้จะล้มครืนลงเอง

ต้องบอกไหมครับว่า “ปลวก” คืออะไร?

ทบทวนสั้นๆ ได้ว่าคำ “ปลวก” ณ ที่นี้ก็คือ “การเมืองเก่า” ในความหมายที่พันธมิตรฯ เคยใช้ในช่วงชุมนุม 193 วันช่วงวันที่ 25 พฤษภาคม - วันที่ 2 ธันวาคม 2551 และก็คือ “การเมืองที่ล้มเหลว” ในความหมายที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเคยใช้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 และเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาลข้อ 1.1.3 ด้วย

ทบทวนสั้นๆ ได้อีกว่าก็คือการทุจริตคอร์รัปชันสารพัดรูปแบบ ด้านหนึ่งเป็นไปเพราะสันดาน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นไปเพราะระบบ ที่การเข้ามาเป็น ส.ส.ต้องใช้เงินเกินกฎหมายกำหนด การเป็นรัฐมนตรีต้องเลี้ยงดู ส.ส. 5-6 คนเป็นอย่างต่ำ และ ฯลฯ ที่ล้วนเป็นการลงทุนทางการเมือง ทำให้ต้องมีการถอนทุน

ทบทวนสั้นๆ ได้อีกว่าพันธมิตรฯ เคยเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้เป็นนักการเมืองในลักษณะนี้ แต่ก็ยังต้องรักษาการเมืองลักษณะนี้ไว้ใน เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง และเพื่อการทำในสิ่งที่สำคัญกว่าในมุมมองของตน และพันธมิตรฯ ก็ได้ให้โอกาสนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาเป็นเวลานานพอสมควร กว่าจะถึงจุดแตกหักที่เรียกร้องให้ลาออก

การปฏิรูปการเมืองใหญ่มีได้หลายหนทาง

หนทางหนึ่งก็คือคนที่เป็นผู้นำในระบบปัจจุบันลงมือปฏิรูปเอง โดยอาศัยบุคลิกภาพส่วนตัวของตนเอง สถานการณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังมวลชน มาเป็นฐานสำคัญในการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคขวากหนามทั้งปวงที่มีผลประโยชน์อยู่กับระบบการเมืองเก่า อุปสรรคขวากหนามในที่นี้หมายรวมถึงนักการเมืองในระบบ และแม้กระทั่งในพรรคการเมืองของผู้นำเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะมีโอกาสมากกว่าใครๆ ในประวัติศาสตร์ที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ได้

เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสน่ห์สาธารณะสูง มวลชนพร้อมจะเชื่อ กองทัพสนับสนุนเต็มที่ ประสบสถานการณ์การก่อจลาจลกลางเมืองของขบวนการสถาปนารัฐไทยใหม่มา 2 ปีซ้อนในปี 2552 และ 2553 แต่ก็ไม่ได้ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์มากไปกว่าหวังลมๆ แล้งๆ ตามเดิมว่าการเลือกตั้งใหม่จะแก้ปัญหาได้ ไม่ต่างจากที่คณะรัฐประหารชุดล่าสุดหวังลมๆ แล้งๆ ในการดึงนักการเมืองออกมาจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคเก่าที่ตนโค่นล้มลงไปแล้วก่อรูปตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา แล้วเร่งจัดการเลือกตั้ง ในหลักใหญ่ๆ แล้วไม่ได้ต่างอะไรกันเลยที่ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธาในพรรคการเมืองใหญ่พรรคเก่านั้นได้

ถามว่าแล้วการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใดจะช่วยให้เกิดการปฏิรูปการเมืองใหญ่ได้อย่างไร?

เพราะไม่ได้มีผลทางกฎหมาย??

ผมตอบแทนพันธมิตรฯ ไม่ได้ และผมเชื่อว่าแม้พันธมิตรฯ เองก็ยังไม่อาจจะจินตนาการเป็นรูปธรรมได้ว่าหากมีคะแนนกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใดมากแล้วจะเกิดอะไรตามมาในกี่วัน กี่เดือน กี่ปี หรือไม่เกิดอะไรเลย

แต่พันธมิตรฯ มีความมุ่งมั่นที่จะแสดงเจตนารมณ์ของตนให้ถึงที่สุดให้สุดทางเดิน

การรณรงค์ให้ประชาชนไปกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนเป็นสิทธิที่กระทำได้ เพราะเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิทางหนึ่ง แต่เป็นการไปใช้สิทธิเพื่อส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการปฏิรูปการเมืองใหญ่ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ

สัญญาณนี้จะแรงพอหรือไม่?

การตอบรับสัญญาณนี้จะมีหรือไม่?? ในลักษณะไหน???

พันธมิตรฯ ณ นาทีนี้ไม่ได้ใส่ใจในคำตอบ เพราะพวกเขาเชื่อในความมุ่งมั่นในการลงมือกระทำมากกว่าจะต้องรู้ให้ได้ว่าในที่สุดแล้วจะมีผลอย่างไร หรือไม่ เมื่อไร หลังรู้ผลการประชุมมรดกโลกพวกเขาคงกลับบ้านไปด้วยความภูมิใจว่าในฐานะประชาชนที่ไร้อำนาจวาสนาได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว

หรือด้วยภาษาหนักๆ ของพันธมิตรฯ ก็คือ “ไม่เสียชาติเกิด” - ว่างั้นเถอะ!
กำลังโหลดความคิดเห็น