xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ดันปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม-น่าน ชงกรรมการปฏิรูป ปท.ร่วมหาทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - ภาคประชาชน ดันปัญหาน้ำท่วม สู่กรรมการปฏิรูปประเทศไทย เสนอเร่งจัดการลุ่มน้ำยม-น้ำน่านครั้งใหญ่ หลังพบการใช้ประโยชน์ที่ดินผิด ทำน้ำท่วมใหญ่ซ้ำซาก จวกหลายหน่วยงานมัวแต่มองโครงการใหญ่ ใช้งบเยอะ เมินบทบาทชุมชน

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า หลังน้ำท่วมเมืองแพร่ เริ่มคลี่คลายลง ชาวบ้านที่ประสบภัยได้ช่วยกันเก็บกวาดล้างบ้านเรือน และสิ่งสาธารณูปโภคใกล้บ้าน โดยมีหน่วยงาน ทั้ง อบจ. แพร่ เทศบาลเมืองแพร่ และ อบต.ต่างๆ ที่ระดมรถน้ำและคนงานเข้ามาช่วยชาวบ้านในเขตน้ำท่วมริมผั่งน้ำยม พร้อมกับมีการสำรวจความเสียหาย ซึ่งในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการมีความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

ส่วนของอำเภอต่างๆ มีการรายงานความเสียหายเข้ามายังจังหวัดแพร่ ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เป็น ที่อยู่อาศัย สิ่งสาธารณูปโภค และพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีจำนวนมาก พืชผลการเกษตรที่กำลังงอกงามถูกน้ำพัดเสียหายเป็นจำนวนมากยังไม่สามารถประมาณค่าได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสำรวจ

ทั้งนี้ การเกิดน้ำท่วมในจังหวัดแพร่มีหลายสาเหตุ เช่น จากน้ำป่าที่ไหลลงจากยอดเขาเข้าเมือง และที่กำลังคลี่คลายลงคือ น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นขึ้นฝั่ง ซึ่งเกิดติดต่อกันมาเกือบทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง สาเหตุใหญ่ของการเกิดน้ำท่วมที่ชาวบ้านในจังหวัดแพร่เข้าใจคือการ ตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณต้นน้ำ และการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำยม และต้นน้ำของแม่น้ำน่าน

การแก้ปัญหาระยะยาว จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ประสบภัยต่างออกมาพูดกันมากขึ้น และ สิ่งที่พูดกันมากในช่วงนี้ และจากนี้ไป คือการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ บอกว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปีไม่ว่าจะเป็นน้ำในแม่น้ำยมและน้ำป่าจากที่สูงทางตะวันออกของเมือง ซึ่งเทศบาลเมืองแพร่พยายามแก้ปัญหาภายในชุมเทศบาลเมืองแพร่ โดยการทุ่มงบประมาณในการจัดการน้ำทุกด้านที่จะเข้าสู่เมือง และส่วนที่แก้ไขได้ยากก็ต้องใช้งบประมาณในการดูแล เช่น การท่วมครั้งนี้ ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมบ้านเรือนถนนหนทางสิ่งสาธารณูปโภค ดูแลเรื่อง อาหารและน้ำกับผู้ที่ติดอยู่ในบ้านช่วงน้ำท่วม

ทางออกระยะยาวนายโชคชัย คิดว่า แก่งเสือเต้น ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องนัก แต่ทำอย่างไรให้น้ำยม มีการระบายน้ำผ่านเมืองแพร่ได้ในระดับที่พอเหมาะทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง นักวิชาการควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา

นายพันธ์ศักดิ์ บัวลอย คณะทำงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า ปัญหาทั้งลุ่มน้ำน่าน - ลุ่มน้ำยม คงจะมองไปที่การขุดลอก หรือการทำเขื่อนทำฝาย อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้แล้ว จะเห็นว่าฝายในแม่น้ำน่านที่บริเวณบ้านห้วยไร่ ก็พังไปแล้วแห่งหนึ่งในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ส่วนที่ขุดลอกลำน้ำโดยเฉพาะที่ อ.ท่าวังผา เป็นการระบายน้ำได้เร็วดี แต่ไปสร้างความเสียหายให้กับอ.เมืองมากขึ้น

เมื่อมามองที่จังหวัดแพร่ในลุ่มน้ำยม ก็พบปัญหาไม่แตกต่างกัน คือ การเปลี่ยนวิถีการเกษตรไปสู่การปลูกพืชแบบใหม่ ทำให้เห็นการปลูกข้าวโพดเต็มไปหมดในลุ่มน้ำ และขาดการควบคุม ทำให้กระแสน้ำที่ตกมาจากฟ้าไม่มีที่ดูดซับจนทำให้ไหลลงสู่ลุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว ทางออกที่ดีที่สุดชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเตรียมตัวจัดการน้ำโดยชุมชนเอง จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

นายพันธ์ศักดิ์ บอกว่า ถ้าพูดถึงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แม้ว่ามีกั้นถึง 10 เขื่อนก็ไม่สามารถจะรองรับน้ำมหาศาลได้ ทางที่ดีควรหันมามองลำน้ำขนาดเล็ก ลำน้ำสาขาของแม่น้ำ และชุมชน จะร่วมกันจัดการและฟื้นฟูให้คืนสภาพได้อย่างไร ซึ่งถ้าร่วมกันทำเป็นชุมชนในลุ่มน้ำขนาดเล็กก็จะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้เกิดการบรรเทาและลดความรุนแรงของน้ำให้ลดน้อยลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฟื้นฟูลุ่มน้ำในภาคเหนือมีการพูดกันมาหลายปี แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญ เสียงของชาวบ้านที่ต้องการลุกขึ้นมาจัดการน้ำ แต่หลายฝ่ายกลับมองไปที่การสร้างเขื่อนซึ่งต้องใช้เงินมหาศาลและการจัดการอยู่ที่รัฐบาล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ จะเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นและดูพื้นที่ในลุ่มน้ำน่าน ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ และจะไปยังลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อประมวลเป็นภาพรวมในการแก้ปัญหาน้ำในแนวทางปฏิรูปประเทศไทยต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น