xs
xsm
sm
md
lg

“ชุมพล” เชื่อแก้ รธน.ไม่ทำขัดแย้ง - ปธ.สภา ไขสือ! ถามทำงานไม่เป็นกลางตรงไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (แฟ้มภาพ)
หน.ชทพ.โผล่ยื่นเพิ่มชื่อแก้ รธน.อีก 1 ประธานสภาฯ คาด แก้ ม.291 ใช้เวลาแค่วันเดียว อ้างประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง ทำไขสือไม่เป็นกลางตรงไหน ด้าน “ชุมพล” รับฝ่าหนทางขรุขระ ปัดแก้แล้วทำระบบตรวจสอบอ่อนแอ เชื่อไม่เกิดความขัดแย้ง

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายสนั่น ขจรประศาสน์ และ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เข้ายื่นรายชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 291 เพิ่มเติมจากเดิม 129 ชื่อ เป็น 130 ชื่อ กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ โดย นายชุมพล กล่าวว่า วันนี้ที่เข้ามายื่นเพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักและเป็นการย้ำเจตนารมณ์ของพรรคในแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ในครั้งนี้จะเป็นแบบเดียวกับเมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยตรงที่เมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วจะส่งให้สภาฯเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่หากสภาไม่เห็นชอบก็จะทำประชามติถามความคิดเห็นประชาชน ทั้งนี้ ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้างแต่คิดว่าไม่มีปัญหาเพราะสามารถพูดคุยตกลงกันในชั้นของกรรมาธิการศึกษาได้ ซึ่งจะได้มีการชี้แจงต่อสภาในวันที่ 23 ก.พ.นี้อีกครั้ง

จากนั้น นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังจากรับรายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจากพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า ระยะเวลาการพิจารณาแก้ไข ม.291 เป็นเรื่องของวิปทั้ง 3 ฝ่ายที่จะหารือร่วมกันก่อน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าการแก้ไขมาตรา 291 น่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาเพียงหนึ่งวันเท่านั้นเพราะเป็นการแก้ไขแค่มาตราเดียว ส่วนกังวลหรือไม่ว่าการเข้ามาของ ส.ส.ร.จะเป็นการล็อกฐานเสียง ตนถือว่านั่นเป็นการเลือกตั้งแล้วหากจะกล่าวหาว่าเป็นการล็อกโหวตก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะนี่คือหลักการประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นก็จะหาคำตอบสุดท้ายไม่ได้ ส่วนที่ว่าจะสามารถควบคุมการประชุมไม่ให้ปิดก่อนเวลาเหมือนครั้งที่ผ่านมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและจิตสำนึกของสมาชิกสภา

เมื่อถามว่า จากการประชุมสภาฯครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ประธานทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่กลางตรงไหน ทำหน้าที่ผิดข้อบังคับข้อใด ตนมั่นใจว่าดำเนินการตามข้อบังคับ สำหรับในฐานะผู้ควบคุมการประชุมจะคงรักษาสถิติการตอบกระทู้ของนายกรัฐมนตรีได้มากน้อยแค่ไหน ตนมองว่าเป็นเรื่องของนายกฯไม่ใช่ประธาน และต้องเข้าใจว่าบางเรื่องต้องดูความเหมาะสมด้วย

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่ง ส.ส.ร.ก็ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนจะกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็เป็นความเห็นที่ต้องรับฟัง ส่วนระยะเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ในระยะเวลา 180 วัน จะเพียงพอต่อการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่นั้น ตนคิดว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งประชามติของรัฐธรรมนูญปี 50 ยังใช้เวลาแค่หนึ่งเดือน

ด้าน หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงบรรยากาศการเสนอยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ระหว่าง ปี พ.ศ.2540 และปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไรว่า บรรยากาศปีนี้ กว่าจะมาถึงจุดนี้ค่อนข้างจะขรุขระพอสมควร ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ควรจะมีการแก้ไข เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สภาพปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มีมากมาย พรรคการเมืองเดินหน้าต่อไปก็ไม่ได้ รัฐบาลจะเดินหน้าก็ลำบาก อำนาจองค์กรอิสระก็เกิดทับซ้อนกันเอง และกติกาบางอย่างก็ไม่ควรถูกลบ กลับไปลบทิ้ง แทนที่จะทำให้รัฐบาลเข้มแข้งจึงกลายเป็นรัฐบาลอ่อนแอ และยังมีการศึกษาอีกมากที่เสนอให้แก้ไข ตั้งแต่ชุดของ นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป นายสมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ ประธานคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประเวศ วะสี ประธานคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ และ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ รวมถึงของวุฒิสภา

นายชุมพล กล่าวต่อว่า แต่เมื่อมีการจะเคลื่อนไหวกลับมีเหตุให้แก้ไขไม่ได้ พรรคชาติไทยพัฒนาก็พยายามแก้ไขมาโดยตลอด 6-7 ประเด็น ก็ไม่ได้สักประเด็น จนมาบรรยากาศสุดท้ายได้เพียง 2 ประเด็นเท่านั้น ซึ่งยังหลงเหลืออีกหลายประเด็นพอสมควร ดังนั้น หลักการในการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนาครั้งนี้ อะไรที่ดีในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เป็นการแก้ไขมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ต้องคงไว้ อาทิ การให้ความเห็นชอบแก่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองคืกรอิสระ โดยรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้ให้อำนาจเสนอและอำนาจอนุมัติแก่วุฒิสภาหมด จนภาพวุฒิสภาดูเสมือนมีการแทรกแซงกันมาโดยตลอด ทำให้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ตัดทอนอำนาจส่วนนี้ไป และให้ความเห็นชอบได้อย่างเดียว แต่ถ้าไม่ผ่านคณะกรรมการสรรหาต้องนำไปพิจารณาตรวจสอบใหม่ต่อไป นี่คือ จุดดีของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ช่วยให้เกิดภาพที่ดีและสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น แต่ระบบการตรวจสอบจะอ่อนลง จริงหรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่า ไม่จริง และไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน ระบบตรวจสอบจะต้องเข้มแข็ง ถ้าเราเดินหน้าไปอย่างถูกต้อง และต้องไม่ใช่ระบบสองมาตรฐาน อะไรที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องมาแก้ไข มาตราใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องแก้ไข

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คิดว่า สถานการณ์จะเกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่า ความขัดแย้งนั้นไม่น่าจะมีปัญหามาก คือ 1.การดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่แก้ไขแต่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะถ้าไปแก้ไขอีกจะไม่มีใครยอมรับ ความพยายามในการแก้ไขรายมาตราก็ถูกขัดขวาง จึงต้องทำแบบสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เอามาตรา 211 มาใช้ เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมานั่นเอง

“ประเด็นรัฐธรรมนูญต่างๆ วันนี้ มันตกผลึกกันหมดแล้ว ทุกคนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี การเลือกตั้งแบบเขตละคน การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที้ควรเลือกตั้งโดยตรง ทุกวันนี้ก็เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น อยู่ที่การชี้แจงและนำเสนอของรัฐบาลต่อการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องชี้แจงให้สังคม และประชาชนใด้เข้าใจตรงเรื่อง ไม่สเปะสปะ นั่นเอง” นายชุมพล กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้ง 10 ที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชุมพล กล่าวว่า ถือเป็นการหาข้อมูลเพื่อให้มีการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่จะหาข้อมูลได้ เพื่อนำมาเสนอแนะให้แก่ ส.ส.ร.ภายหลัง หรืออาจจะเสนอแนะในแง่ของผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยก็ได้ เพราะเป็นหนึ่งอยู่ในโครงร่างของรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น