xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมือง“ชำเรา” รธน. “อ๋อย” เร่งแก้ม.291 ภายใน 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-วงเสวนานักการเมือชำเรา “รธน.50” “อ๋อย”จี้รัฐแก้ม.291ใน3เดือน “ภูมิใจไทย” ชี้ไม่เร่งด่วนจี้รบ.แก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน “นิกร”แนะเน้น“ยุบพรรค”ค้าน ทำประชามติ "ดิเรก"ค้านแนวคิด"อุกฤษ-นิติราษฎร์"

วานนี้ (29 ม.ค.)ที่ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มีการจัดเสวนาวิชาการ "รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ควรแก้ไขหรือไม่ อย่างไร?" โดยมีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมือง และตัวแทนวุฒิสภา เข้าร่วม อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการแก้ไขรธน. มาตรา 291 เพื่อให้มีการจัดตั้งส.ส.ร. ให้ทันสมัยประชุมสภาฯนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 เดือน เพราะไม่เช่นนั้นจะเสร็จไม่ทันภายในระยะเวลา 1 ปี ตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศและแถลงนโยบายไว้

" เมื่อคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. โดยมีส.ส.ร. จะเรียงลำดับกันอย่างไร ระหว่างประชาชน ส.ส. และรัฐบาล แต่ทั้งนี้หากพิจารณาแก้ไขรธน. มาตรา 291ไม่ทันช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็สามารถขอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญได้ เพื่อไม่ให้เป็นการประวิงเวลาให้เกิดความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นจะถือว่ารัฐบาลไม่ทำตามที่แถลงนโยบายไว้"นายจาตุรนต์กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาเกี่ยว ตนมองว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะแก้อย่างไรทั้งฉบับหรือบางมาตราและใครจะเป็นคนดำเนินการแก้ไขซึ่งจะต้องมีความชัดเจนให้สังคมก่อนเพราะหากไม่มีความชัดเจนอาจเกิดความสับสับหมิ่นเหม่ต่อการเกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกันต้องมองถึงสถานการณ์ว่าบรรยากาศเอื้ออำนวยหรือไม่

นายนิกร กล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เนื่องจา ที่มาของรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจของทหาร พร้อมทั้งเนื้อหาโดยเฉพาะมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษนักการเมืองเรื่องการยุบพรรค ซึ่งมีความไม่เป็นธรรม โดยเสนอว่า ให้ลงโทษเป็นรายบุคคลที่กระทำความผิด ขณะที่ไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติ เนื่องจากจะทำให้เกิดความล่าช้า เพราะบางมาตราสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถแก้ไขได้เลย อย่างไรก็ตาม นายนิกร ยังระบุอีกว่า อำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ยังไม่เพียงพอกับประเทศไทย เนื่องจากทหารและระบบขุนนางยังมีอำนาจอยู่จริง จึงเสนอให้ควรร่างรัฐธรรมนูญในแบบฉบับจารีตประเพณีที่เป็นของไทยขึ้นมาเอง ไม่เพียงรับมาจากตะวันตกเท่านั้น

นายศุภชัย กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ยังไม่ใช่เวลานี้ ที่สถานการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า รัฐบาลควรมองถึงความเร่งด่วนมาก่อน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังเป็นเรื่องที่สามารถรอได้

นายดิเรก กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เคยเสนอรายงานการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ 6 ประเด็น โดยเรามุ่งไปที่มาตรา 237 เป็นประเด็นแรก คือเกี่ยวกับการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ซึ่งคณะกรรมการได้ถกเถียงมากมายจนได้ข้อสรุปว่าต้องแก้ไข เพราะมาตรานี้ละเมิดสิทธิบุคคล คนไม่ทำผิดวันดีคืนดีถูกลงโทษ ทำไมคนที่ไม่ได้ทำความผิดจึงถูกลงโทษ ทั้งที่หลักกฎหมายออกมาป้องกันไม่ให้คนทำผิด และคนทำผิดลงโทษ มาตรานี้ทำไมลงโทษคนไม่ทำผิด ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์จึงไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคเพราะทำให้การเมืองระบอบประชาธิปไตยเดินไม่ได้ จึงเสนอว่ายุบพรรคต้องไม่มี ให้ลงโทษคนทำผิด แต่ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น

นายดิเรกกล่าวว่า นอกจากนี้คณะกรรมการสมานฉันท์ยังเสนอเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ถูกให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) ขึ้นมาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ทั้งฉบับ อะไรดีเก็บไว้ ไม่ดีก็แก้เสีย ทำประชามติ อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. แต่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. โดยแก้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนเป็นฐาน ซึ่งเสนอให้มี ส.ส.ร. 99 คนมาจากทุกจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาให้ประชาชนยอมรับ เรายืนยันว่าการตั้ง ส.ส.ร.ถูกต้องตามปกครองระบอบประชาธิปไตย ตนจึงคัดค้านแนวคิดของนายอุกฤษและคณะนิติราษฎร์เพราะอยากให้ ส.ส.ร.มาจากรากฐานประชาชนที่จะไม่มีใครว่าได้

ด้านนายจารุพงศ์ กล่าวว่า ประเทศมีปัญหาด้านความเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด และหนทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ก็คือการช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาตั้งแต่ที่มาและเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 โดยสิ้นเชิง ทำให้การใช้กฎหมายมีปัญหา ซึ่งส่วนตัวมองว่ามาตราที่เลวร้ายที่สุดในรัฐธรรมนูณปี 50 คือมาตรา 309 ที่รองรับการกระทำของคณะรัฐประหาร จึงเป็นที่มาและสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจากการตั้ง ส. ส. ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น