xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาแก้ รธน.เห็นพ้องชำแหละ ม.291 “ปชป.-ภท.” ติงอย่ารีบแก้หวั่นสังคมขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (ภาพจากแฟ้ม)
“จาตุรนต์” เชิญตัวแทนพรรคการเมือง เปิดเวทีเสวนา เห็นพ้องแก้รัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 291 เปิดทางเลือกตั้ง ส.ส.ร.3 อ้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ฝั่ง ปชป.-ภท.ประสานเสียงไม่ควรเร่งรีบ แต่ต้องคำนึงถึงบรรยากาศบ้านเมือง “นิพนธ์” ถามจะแก้ทั้งฉบับหรือบางมาตรา และใครจะเป็นฝ่ายแก้ แนะควรให้ความชัดเจนแก่สังคม

(29 ม.ค.) ที่โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจัดเสวนา “รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ควรแก้หรือไม่อย่างไร” โดยมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย และ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา จ.นนทบุรี

นายดิเรก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้พ้นจากข้อครหาว่ามาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งจากการศึกษามองว่ามีอยู่ประมาณ 6 มาตราที่ควรได้รับการแก้ไข อาทิ มาตรา 237, มาตรา 190, มาตรา 265 และ 266 ซึ่งบางมาตราเป็นการละเมิดสิทธิบุคคล อย่างเช่น มาตรา 237 ที่กำหนดให้มีการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ตามหลักประชาธิปไตยแล้วถือว่าเป็นบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งควรที่จะมีการลงโทษเฉพาะผู้กระทำผิดเท่านั้น และไม่ควรมีการยุบพรรค เพราะจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ส่วนกระบวนการนั้นควรมีการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

ด้าน นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ประเทศมีปัญหาด้านความเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด และหนทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ ก็คือ การช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาตั้งแต่ที่มา และเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 โดยสิ้นเชิง ทำให้การใช้กฎหมายมีปัญหา ซึ่งส่วนตัวมองว่ามาตราที่เลวร้ายที่สุดในรัฐธรรมนูญปี 50 คือมาตรา 309 ที่รองรับการกระทำของคณะรัฐประหาร จึงเป็นที่มาและสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจากการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ขณะที่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม ตนมองว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะแก้อย่างไรทั้งฉบับ หรือบางมาตรา และใครจะเป็นคนดำเนินการแก้ไข ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนให้สังคมก่อน เพราะหากไม่มีความชัดเจนอาจเกิดความสับสน หมิ่นเหม่ต่อการเกิดความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ต้องมองถึงสถานการณ์ว่าบรรยากาศเอื้ออำนวยหรือไม่ เช่นเดียวกับนายศุภชัย ที่กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้องหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญบางมาตราเช่น มาตรา 237 ที่กำหนดให้มีการยุบพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรเร่งรีบมากเกินไป เพราะต้องคำนึงถึงบรรยากาศทางการเมืองด้วยว่าเอื้อต่อการดำเนินการหรือไม่

ส่วน นายนิกร กล่าวว่า ตนเห็นควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 40 ที่มาจากประชาชนและหลายคนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดยังถูกฉีกทิ้ง ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 50 มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา เนื้อหา ขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนที่หาเสียงไว้ และเชื่อว่า จะแก้ไขได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามตัวแทนจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและมาจากประชาชนอย่างแท้จริง
นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น