xs
xsm
sm
md
lg

คปก.หัก “ปู” เบรกกองทุนสตรี ชี้ผลาญงบ เพิ่มหนี้ ให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณิต ณ นคร (แฟ้มภาพ)
คปก.หักหน้า “ยิ่งลักษณ์” ยื่นหนังสือเบรกใช้ประกาศระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แทนออก พ.ร.บ. ชี้ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันยังเป็นการผลาญงบ เพิ่มหนี้ประเทศ เหตุมีรูปแบบเดียวกับกองทุนหมู่บ้านที่ผลวิจัยพบประสบความสำเร็จแค่ 10% แถมกระบวนการบริหารกองทุนฯ มีช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่ม

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ คปก.มีความเห็นว่าการดำเนินนโยบายใดๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมากถึง 7,700 ล้านบาท ควรตราเป็นพระราชบัญญัติ ไม่สมควรกำหนดเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันเห็นว่าที่มาของเงินที่ตั้งเป็นกองทุนส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืม จึงเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้แก่ประเทศและประชาชนอย่างไม่จำเป็น เพราะในขณะนี้มีช่องทางขององค์กรและสถาบันการเงินจำนวนมากที่สามารถจัดให้ผู้หญิงที่มีความยากลำบากในพื้นที่ต่างๆ ได้กู้ยืมเงินอยู่หลายช่องทาง หากสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการกู้ยืมได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ลักษณะการตั้งกองทุนและการบริหารกองทุนพัฒนาสตรีนี้มีแบบอย่างจากกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งปรากฏการสำรวจและวิจัยผลทางวิชาการหลายแห่งว่าประสบความสำเร็จเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เป็นการสร้างหนี้ให้กับประชาชนมากกว่า”

คปก.มีความเห็นว่า กระบวนการของการจัดการบริหารกองทุนพัฒนาสตรีนี้ไม่มีความชัดเจน แทนที่จะเป็นไปตามหลักการ ทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้สตรีทุกภาคส่วนได้เข้าถึงกองทุนฯ อย่างเสมอภาค แต่กลับสร้างช่องว่างให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับสตรีเฉพาะกลุ่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ เท่านั้น

แม้ว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีถือเป็นนโยบายสาธารณะตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แต่ภาคประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายองค์กรสตรี และกลุ่มสตรีทั่วประเทศ กลับไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายนี้ รวมถึงการดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาล ขณะที่การจัดการรับฟังความเห็นของกลุ่มสตรีหลังจากมีการแต่งตั้งและการเริ่มปฏิบัติการของคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนไม่อาจถือได้ว่าเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะเป็นการจัดขึ้นกะทันหันในวงแคบและข้อมูลไม่กระจายให้ทั่วถึง

คปก.ระบุว่า ประเด็นที่สำคัญคือ กองทุนฯ สมควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ควรเป็นกองทุนที่จัดสรรตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1. รัฐบาลต้องมีนโยบายและมาตรการในการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การจัดการกองทุนดังที่ปรากฏในร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นการเสริมสร้างพลังให้แก่ผู้หญิงอย่างแท้จริง 2. รัฐบาลจะต้องเร่งตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของการเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมืองให้เร็วขึ้นมากกว่าที่ได้แถลงนโยบายด้านนิติบัญญัติว่าจะดำเนินการตรากฎหมายนี้ภายในปี พ.ศ. 2557 และ 3. รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อประกันว่าผู้หญิงจะได้รับความเป็นธรรมทางสังคม โดยการกำหนดมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ ในทุกระดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น