xs
xsm
sm
md
lg

วิปฝ่ายค้านมีมติไม่ร่วมสังฆกรรมถกร่างแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุดมเดช  รัตนเสถียร
ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เตรียมถกร่างแก้ไข รธน.ได้ข้อยุติ ฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรม ด้านวิปรัฐบาล-วิปวุฒิฯ ตกลงเปิดสภาฯ 23-24 พ.ย.นี้ อภิปรายฝั่งละ 8 ชม.ปธ.สภาฯ เมินข้อเสนอ คปก.เลื่อนเปิดประชุมถกร่างแก้ไข รธน.อ้างเป็นอำนาจการตัดสินใจร่วมกันของรัฐสภา


วันนี้ (21 ก.พ.) ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ 2 อาคารรัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของวิปทั้ง 3 คือ วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อหารือเรื่องการกำหนดเวลาการอภิปรายในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 23 ก.พ.ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางวิปฝ่ายค้านมีมติที่จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในการหารือครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาเคยเจรจาแล้ว แต่รัฐบาลไม่ทำตามข้อตกลง

ภายหลังการหารือนานกว่า 1 ชั่วโมง นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า จากการหารือวิปทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะให้ฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย โดยจะมีการแบ่งเวลาให้เท่าๆ กัน คือ ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง รัฐบาล 8 ชั่วโมง และวุฒิสภา 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาล ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาและเป็นผู้เสนอร่างในครั้งนี้ก็คงจะต้องขอเวลาในการนำเสนอร่าง 1 ชั่วโมง 30 นาที ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาที่เสนอร่างมาเช่นเดียวกันนั้น รัฐบาลก็จะแบ่งเวลาในการนำเสนอในส่วนของรัฐบาลให้

ในส่วนที่ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาโดยรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 3 ร่างของภาคประชาชนก่อน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ขยายเวลาการพิจารณาของ ส.ส.ร.จาก 180 วัน ไปเป็น 300 วัน นายอุดมเดช กล่าวว่า ในเรื่องของการให้ชะลอเพื่อร่างของภาคประชาชนก่อนนั้น ทางวิปได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับภาคประชาชนแล้ว ว่า ถึงแม้ว่าในการตรวจสอบรายชื่อของร่าง ซึ่งจะใช้เวลา 90-120 วันนั้น หากรอให้กระบวนการในการตรวจสอบเสร็จสิ้นภาคประชาชนก็ไม่สามารที่จะส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมาธิการได้อยู่แล้วเนื่องจากข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญได้บังคับเอาไว้ ส่วนข้อเสนอให้ขยายการพิจารณาของ ส.ส.ร.นั้น ตรงนี้เป็นรายละเอียดที่กรรมาธิการจะเป็นผู้พิจารณาเองไม่ได้อยู่ในการหารือในวันนี้

ด้าน นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานวิปวุฒิฯ กล่าวว่า วิปทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะให้มีการอภิปรายโดยใช้เวลา 2 วัน โดยให้มีการอภิปรายฝ่ายละ 8 ชั่วโมงทาง ทั้งนี้ วุฒิสภาเห็นความสำคัญของการพิจารณา แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพียงมาตราเดียว แต่ก็มีสว.ที่ความสนใจขอเข้าร่วมอภิปรายไม่น้อยกว่า 80 คน ซึ่งทางวุฒิฯก็คงต้องมีการจัดสรรเวลาอีกครั้ง สำหรับการลงมติจะมีการลงมติในวันที่ 24 ก.พ.เวลา 20.00 น.ซึ่งตนคิดว่าจะมีการลงมติครบทุกร่างในคราวเดียวกัน คาดว่า การลงมติน่าจะเสร็จสิ้นในเวลา 24.00 น.และน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขาวิปรัฐบาล กล่าวว่า การอภิปรายจะใช้เวลาทั้งหมด 25 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งจะไม่รวมเวลาในการประท้วงและใช้สิทธิพาดพิง โดยในวันที่ 23 ก.พ.ประธานรัฐสภาได้นัดให้มีการประชุมในเวลา 09.30-24.00 น.รวมเวลาอภิปราย 14 ชั่วโมง 30 นาที และวันที่ 24 ก.พ.จะเริ่มการประชุมในเวลา 09.00- 20.00 น.ก็จะมีเวลาเพิ่มอีก 11 ชม.ทั้งนี้ หลังจากที่มีการลงมติเสร็จสิ้นก็จะมีการตั้งกรรมาธิการ โดยกรรมาธิการทั้งหมดจะเป็นกรรมาธิการรัฐสภาจำนวน 45 คน โดยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามสัดส่วน ของ 2 สภา แบ่งเป็น วุฒิ 150 ต่อ ส.ส.500 โดยสัดส่วนจะอยู่ที่วุฒิฯ 10 คนต่อ ส.ส.ทุกพรรค 35 คน แบ่งเป็น เพื่อไทย 19 คน ประชาธิปัตย์ 11 คน ภูมิใจไทย 2 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 1 คน พลังชล 1 คน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐสภานั้นจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานนีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11, สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และวิทยุรัฐสภาอีกด้วย

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ทำหนังสือถึงเพื่อขอให้เลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ออกไป ว่า ประเด็นนี้อยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจของตน เพราะได้บรรจุลงในระเบียบการประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว ดังนั้น กรณีนี้จะได้รับการพิจารณาหรือไม่นั้น ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการตีรวนในที่ประชุมร่วมรัฐสภา นั้น เชื่อว่า หากมีการสร้างกติกาและยึดข้อบังคับเป็นหลักก็จะไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มา
กำลังโหลดความคิดเห็น