xs
xsm
sm
md
lg

พท.ชำเรารธน.50สว.หญิงไม่เชื่อคำ “เหลิม”แทงกั๊กกม.112-ตั้งสสร.แตะสถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- “เพื่อไทย” ลากเสียงข้างมาก“ชำเรารธน.50”สำเร็จ ฝ่ายค้านอัดแฝงวาระซ่อนเร้นช่วย “แม้ว”กลับบ้านสง่างาม “เหลิม”ปัดเล็งแก้ม. 112 ไม่เกี่ยวรธน. ยันสสร.ไม่กล้าแตะหมวดสถาบันกษัตริย์ ด้าน ฝ่ายค้าน-สว. รุมต้านแก้รธน.ทั้งฉบับ สว.หญิงไม่เชื่อคำ”เหลิม” แนะเขียนในรธน.ห้ามสสร.แตะสถาบันกษัตริย์“ม๊อบหนุน-ค้าน”กร่อย!

วานนี้(23 ก.พ.55) นิด้าโพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,258 ตัวอย่าง ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.40 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าควรแก้ไขเพียงบางมาตราเท่านั้น และเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะคนบางกลุ่ม

ส่วนบรรยากาศก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้า กลุ่มคนเสื้อแดง กว่า 100 คนที่สนับสนุนหมีการแก้ไข และกลุ่มภาคประชาชนที่คัดค้านการแก้ไข ประมาณ 20 คน เดินทางมายังหน้ารัฐสภาตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการการตำรวจนครบาล (บช.น.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา คอยดูแลความปลอดภัยโดยรอบอาคารรัฐสภา กว่า 300 นาย

ขณะที่กลุ่มคัดค้านได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 28,000 รายชื่อ ยื่นต่อพลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ให้พิจารณาไม่รับรอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและควบคู่ไปกับข้อเสนอแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์ หรือกลุ่มใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์

จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้ประกาศนัดหมายชุมนุมอีกครั้ง ในวันเสาร์ที่ 25 ก.พ. นี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนสลายตัวไป

ด้านกลุ่มคนเสื้อแดง ในนาม “กลุ่มแดงนิรันดร์กรุงเทพฯ”ยังคงปักหลักเพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ด้วยความสงบเรียบร้อย

**มาร์คยังเชื่อแก้เพื่อเอา'แม้ว'กลับ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวว่า ถ้าเดินตามกระบวนการอย่างที่เป็นอยู่ ความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่ ในทางตรงกันข้ามการที่ร.ต.อ.เฉลิมก็ดี หรือหมอเหวงก็ดี เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า แก้รัฐธรรมนูญนำไปสู่การนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้าน มันยิ่งชัดเจนขึ้นไปใหญ่ว่าเป็นการสร้างปมความขัดแย้งครั้งใหญ่

ส่วนการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์และ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าแต่ละคนก็สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นจะยังคงทำหน้าที่ในสภาฯ เพื่อคัดค้านเรื่องนี้

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินยิ้มเข้าสูห้องประชุมรัฐสภา โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องความเป็นห่วงในการประชุมรัฐสภา และตอบแต่เพียงว่า "อะไรนะคะ ท่านเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ก็อยู่ตรงนี้" ก่อนเดินเข้าห้องประชุมสภาทันที

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พูดที่ จ.อุดรธานีว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาบ้าน ว่าเป็นคนละเรื่องกันกับการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการพูดถึงร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่มี 6 มาตรา โดยจะมีการนำเสนอเมื่อบ้านเมืองมีความเข้าใจมากกว่านี้

ส่วนกรณีข้อเสนอของคณะปฏิรูปกฎหมาย ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ระบุหากทำเรื่องปรองดองในขณะนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้นร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธแสดงความคิดเห็น เพราะต่างคนมีหน้าที่ทำงาน

**ปูด!ล็อบบี้ ส.ว.แลกงบลงพื้นที่

รายงานข่าวแจ้งว่า พรรคเพื่อไทยได้กำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ไว้ 20 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ขอร่วมอภิปราย 50 คน รวมถึง สมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวนหนึ่ง

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่ประชุมคงเห็นชอบผ่านร่างในจำนวนเสียงกว่า 370 เสียงในวาระที่ 1 ได้ แม้จะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งคัดค้าน และไม่เห็นชอบ แต่จากการตรวจสอบเสียงของ ส.ว.เลือกตั้งและสรรหา พบว่าขณะนี้มีเสียง ส.ว.ที่จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับจำนวนกึ่งหนึ่งของ ส.ว.ทั้งหมดที่มาจากเสียงของ ส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่และสรรหาบางส่วนร่วมสนับสนุนประมาณ 50กว่าเสียง และจะมีเสียงของส.ว.อีกกึ่งหนึ่งประมาณ 50 กว่าเสียงจากสายสรรหาส่วนใหญ่และสายเลือกตั้งบางส่วนจะลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับในวันที่ 24 ก.พ.นี้

"ผมทราบข่าวมาว่ามีกลุ่มบุคคลได้โทรศัพท์มาล็อบบี้ผ่านทาง ส.ว.ทั้งขอให้ลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยล็อบบี้ผ่าน ส.ว.ที่เป็นข้าราชการเก่าเพราะเคยมีความผูกพันกันมาก่อน หากทำตามที่ล็อบบี้ก็พร้อมจะนำงบลงพื้นที่ในโครงการที่ต้องการได้ และสามารถโยกย้ายตำแหน่งให้แก่ลูกหลานของ ส.ว.ได้ แต่หาก ส.ว.ที่ถูกล็อบบี้ไม่ทำตามที่ล็อบบี้ไว้ขอก็อาจถูกขุดคุ้ยตรวจสอบได้ และหาก ส.ว.คนใดไม่เห็นชอบก็ขอให้ ส.ว.งดออกเสียงหรือไม่ร่วมประชุมแทนเพื่อมิให้เสียงไม่เห็นด้วยมีมากพอ”นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตามมีรายงานการเตรียมการของรัฐบาลว่า หากเกิดกรณีฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมจะดึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ที่ร่วมลงชื่อในร่างของพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าเป็นกรรมาธิการ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ

**ก่อนเปิดอภิปรายก็ซัดกันเละ

เวลา 9.30 น. การประชุมร่วมรัฐสภา เริ่มขึ้น โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานในการประชุม เมื่อเริ่มการพิจารณา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายคนได้เสนอให้มีการเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนเพื่อรอร่างของประชาชนที่เสนอเข้ามา3 ร่าง ที่ติดขั้นตอนการตรวจเช็ครายชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม อีกทั้งควรรับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่เห็นว่ายังไม่ควรเร่งรีบพิจารณาในช่วงนี้เพราะบรรยากาศในบ้านเมืองยังไม่มีความสงบที่แท้จริง อาจจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ มีส.ว.บางส่วนเสนอให้เลื่อนวาระออกไปเช่นกัน เพื่อให้ร่างของประชาชนได้มีโอกาสร่วมพิจารณา หากรีบรัดจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของประชาชน

ด้านส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ต่างแสดงความเห็นคัดค้าน และต้องการให้เดินหน้าพิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องรอร่างของประชาชน

หลังจากมีการถกเถียงกันร่วมชั่วโมง นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้เดินตามระเบียบวาระ ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอญัตติให้เลื่อนวาระพิจารณาออกไป และเห็นว่าการที่รัฐบาลเร่งรีบให้พิจารณาครั้งนี้เพราะมีวาระซ่อนเร้น ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงให้ถอนคำพูด แต่นายสมศักดิ์เพียงกล่าวเตือนว่าไม่ควรพูดเช่นนี้ ขณะที่นายจุรินทร์ยังยืนยันคำพูดเพราะมีบางคนในรัฐบาลพูดว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ....จะกลับมา

**เหลิม'ยันแก้รธน.ไม่เกี่ยวนำ'แม้ว'กลับ

ด้านร.ต.อ.เฉลิม อภิปรายตอบโต้นายจุรินทร์ ว่า ตนเป็นคนระบุว่าบ้านเมืองจะสงบ ต้องร่างพ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตรา ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ต้องให้สภาฯ พิจารณา ดังนั้นอย่าตกใจเกินเหตุ ส่วนประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลได้รณรงค์มาตั้งแต่ปี 2552 ว่าไม่เอารัฐธรรมนูญที่เป็นกากเดนเผด็จการ ซึ่งประเด็นแก้ไขดังกล่าว แก้ไขมาตรา 291 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วันจากนั้นทำประชามติ ซึ่งถือว่าเป็นการทำตามนโยบาย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะทุกข์ร้อนอย่างไร ว่าใครจะกลับมา

“ท่านเป็นเทวดาหรือถึงรู้ว่าสถาบันการศึกษาจะส่งใครมา อย่าสร้างความปั่นป่วน จะเล่นการเมืองต้องมีความคิด หากคิดอย่างพวกท่านก็ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเลย แต่ผมเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ส่วน ส.ส.ร.จะทำอย่างไร เป็นเรื่องของเขา จะเป็นจะตายกันหรืออย่างไร ผมไม่ก้าวข้ามทักษิณ มันเป็นสิทธิ์ของผม เพราะผมรัก และเคารพ ผมพูด ผมแฟร์พอว่าจะยกร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง การเมืองเข้าที่เข้าทาง ยกเว้นคนที่สั่งฆ่า 91 ศพ” รองนายกฯ กล่าว
ด้านนายจุรินทร์ กล่าวตอบโต้ว่า ตนมีหลักฐานจากการให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 16 กพ ว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะสูญพันธ์ และ….อดีตนายกฯจะกลับประเทศไทยอย่างสง่างาม และที่การชี้แจงของร.ต.อ.เฉลิมแปลว่าต่อไปนี้รัฐสภาจะเซ็นต์เช็คเปล่าให้สสร.ทำอย่างไรก็จะยอมรับใช่ไหม หากมีการแก้ที่กระทบต่อสถาบัน ทางรัฐบาลจะเอาใช่หรือไม่

ทำให้ร.ต.อ.เฉลิมลุกขึ้นตอบโต้ว่า ฝ่ายค้านอ่านไม่หมด เพราะในร่างของรัฐบาลเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามแตะต้องสถาบัน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวแย้งว่า สิ่งที่ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เพราะ มีการเขียนตามหลักการเท่านั้น ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขไมได้เท่านั้น รัฐบาลยืนยันได้หรือไม่ว่ามีตรงไหนที่ห้ามแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

บรรยากาศเริ่มเข้มข้น โดยร.ต.อ.เฉลิม พยายามที่จะชี้แจงอีกครั้ง แต่ถูกสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อไทย ต้องลุกขึ้นมาขอร้อง พร้อมกับยกมือไหว้ ไม่ให้ร.ต.อ.เฉลิมยอมให้กับฝ่ายค้าน ไม่ควรมาทะเลาะกันเพราะเสียเวลาเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้

จนกระทั่งเวลา 11.50น. นายสมศักดิ์ ตัดบทขอให้ยุติการอภิปราย และขอให้ลงมติในญัตติที่นายจุรินทร์ เสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไป ปรากฎว่าที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนการพิจารณาด้วยเสียง 341 ต่อ 181 ในที่สุด การประชุมได้ดำเนินการไปตามระเบียบวาระต่อไปได้ซึ่งใช้เวลาถกเถียงเสียเวลากว่า 2 ชั่วโมงเศษ นอกจากนี้ ยังได้มีมติให้พิจารณารวมทั้ง 3 ร่างและให้แยกลงมติทีละร่าง

**มีรธน.50 กลัวพรรคถูกยุบอีก

จากนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงเหตุผลการยิ่นแก้ไขว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีบทบัญญัติยุบพรรคการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองเป็นอัมพาต พรรคที่อายุ 30 กว่าปีก็ถูกยุบพรรค ตอนนี้เหลือเพียงพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่อายุ 60 ปี ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกยุบเมื่อใด ดังนั้นทำให้เกิดความไม่มั่นคงหากไม่แก้ไขพรรคการเมืองอาจสูญพันธุ์แน่นอน

ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองทำให้ระบบพรรคกรเมืองอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคงต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และการได้มาซึ่งบุคคลองค์กรอิสระต่างๆขาดการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน และขัดต่อหลักความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีระบบการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเสียต่อระบบอำนวยความยุติธรรมกับประชาชน เปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน และมีการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขต

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี(ครม.)ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ครม.เสนอได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยส.ส.ร. 2 ประเภท 1.มาจากการเลือกตั้งในจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และ 2.มาจากรัฐสภาคัดเลือกจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ 22 คน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียงประชามติได้ โดยยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป

บรรยากาศตอนนี้เกิดความสับสนโดยมีหลายคนแสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การรื้อโครงสร้างประเทศ และรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในที่นี้ในนามรัฐบาลขอยืนยันจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไปยกโทษยกความผิดให้ใครไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษให้ใคร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลได้ทำตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 23 ส.ค.2554 ว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี ซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้วเท่านั้นเอง

หากพิจารณาตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้ง 17 ประเด็น ไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่าพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นตนขอร้องให้จบเรื่องกระแนะกระแนเสียที รวมถึงใช้ความรู้สึกเหน็บแนม ทะเลาะไปมา ส่วนรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง หรือ รูปแบบของรัฐกระทำไม่ได้ ขอให้สมาชิกที่แคลงใจสบายใจ ไม่มีใครคิดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ แค่นึกก็ไม่มีวันเจริญ แต่คิดก็ผิดแล้ว เป็นการใส่ร้ายที่พรรคเพื่อไทยจะแก้กฎหมายสูงสุดเพื่อคนคนเดียว แต่สำหรับประเด็น พ.ร.บ.ปรองดองนั้น ตนยืนยันว่าจะเสนอเข้าสู่สภา เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

**ญัติห้ามญาตินักการเมืองลงส.ส.ร.

การอภิปรายเริ่มต้นโดย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนไม่รับหลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ 1.รัฐบาลไม่ได้รับฟังข้อเสนอแนะของ คปก. ที่เสนอให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ออกไปจนกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนจะได้รับการบรรจุในระเบียบวาระ 2.มีการเลี่ยงบาลีโดยการแก้ไขมาตรา 291 ทั้งที่ในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวระบุให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. 3.กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านการทำประชามติของประชาชนเท่ากับมีความครบถ้วนในหลักประชาธิปไตยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

หากพิจารณาตัวร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ถือว่ามีข้อบกพร่อง ซึ่งควรปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ 1.ที่มา ส.ส.ร. เลือกตั้ง ที่นำคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เข้ามาเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นส.ส.ร. ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดคุณสมบัติพิเศษ และห้ามให้อิทธิพลการเมืองครอบงำ หากเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใจกว้าง ควรมีบทบัญญัติเพิ่มเติม ว่า ผู้จะสมัครเป็นส.ส.ร.ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่น, ไม่เป็น หรือเคยเป็น ส.ส.ที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่ถึงเวลา 5 ปี, ไม่ดำรงตำแหน่งสมาชิกการทางการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง หากเป็น ต้องพ้นจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี

“สำหรับส.ส.ร.ที่มาจากสถาบันอุดมศึกษา ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่ารัฐบาลไม่สามารถครอบงำได้นั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่บทบัญญัติที่ระบุว่าให้เพิ่มนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และเอกชนเข้ามานั้น เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวน ของนักวิชาการให้ได้จำนวนมาก เพื่อส่งผลต่อการคัดเลือกคนของรัฐบาลชั้นสุดท้าย ส่วนที่ให้รัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกส.ส.ร.ภาคนักวิชาการ จะเชื่อได้อย่างไรว่ามีความเป็นอิสระ หากรัฐบาลยังคงถูกครอบงำ”นายบัญญัติ กล่าว

**ส.ว. หวั่นแก้ ม.291แตะ ม. 112

พญ.พรพันธ์ บุญยรัตพันธุ์ ส.ว สรรหา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้ผ่านการทำประชามติจากประชาชนมาแล้วก่อนที่จะมีการใช้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะให้มีการแก้ไขใหม่ก็ควรจะทำประชามตืถามว่า ประชาชนต้องการให้แก้ไขหรือไม่ และต้องยอมรับฟังความเห็นที่ออกมาด้วย ส่วนที่อ้างว่าต้องการแก้ไขเพื่อให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะดูการบริหารของรัฐบาลในเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาเศรษฐกิจ ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังไม่ไว้วางใจต่อการมาทำหน้าที่ของส.ส.ร.ว่าจะไม่แตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เพราะไม่ได้ระบุไว้ให้ชัดเจนว่า ไม่ให้มีการแก้ไขหมวด2 แต่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ ดังนั้นตนเสนอให้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนไปเลยว่า ห้ามส.ส.ร.แนะต้องหมวดดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้เกิดความสบายใจ

นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหาอีกราย กล่าวว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ หากรัฐบาลเห็นว่ามาตราไหนมีปัญหาก็ควรแก้รายมาตรา เพราะการให้หน้าที่สสร.ไปทำ อาจจะมีความประสงค์ใหญ่ๆ3 ประเด็น 1.จะแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ตนไม่เชื่อร.ต.อ.เฉลิม เพราะหลายครั้งพูดไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาจมีเจตนาให้สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือตรายาง เหมือนที่มีการออกมาพูดว่าต้องมีการสาบานตนก่อนขึ้นครองราชย์ ตน ขอไม่ให้แก้ไขในหมวดนี้ 2. แก้มาตราที่ยกเลิกโทษคืนทรัพย์ให้กับผู้ถูกริบทรัพย์ และจะทำให้อดีตนายกฯบางคนกลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นอันตราย 3. เพื่อปูทางสู่ฐานอำนาจของกลุ่มบุคคลให้เปลี่ยนไทยเป็นรัฐไทยใหม่โดยทุนผูกขาด นำไปสู่สภาทาส สภาผัวเมียเหมือนปี 40 แก้ไขที่มาสว. ทำให้พรรคการเมืองเลือกคนของตนเข้ามา ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนมีแต่ทำให้เกิดระบบทุนนิยมเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประชาชนเกิดความอ่อนแอ และถูกยึดครอง ภายใต้การควบคุมของนายทุนพรรคการเมือง

“รัฐธรรมนูญ ปี 50 ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว นับเป็นฉบับที่มีความชอบธรรมมีเหตุผลเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นถ้าจะแก้ก็ควรบางมาตราเท่านั้น ขออย่าแก้ไข ทหาร ตุลการ กษัตริย์เพื่อยึดครองประชาชน”นางตรึงใจกล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตามในส่วนของส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต่างพากันสนับสนุนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบันได้มาอย่างไม่ชอบธรรม และเป็นอุปสรรต่อการทำงานหลายอย่าง จึงสมควรแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่วิป 3 ฝ่าย ได้มีการตกลงกันเบื้องต้นว่า หากอภิปรายได้เร็ว คาดว่าจะสามารถลงมติและปิดประชุมได้ในเวลา 24.00 น.ของวันที่ 23 ก.พ.นี้

**ปูเผย ไม่หวั่นพธม.เคลื่อนไหว

เวลา19.15น.ที่อาคารรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพธม. เตรียมเคลื่อนไหวต่อต้านการแก้รธน.ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นการแก้ไขเพื่อให้ได้มาซึ่งสสร.จากประชาชน และทุกคนสามารถออกความเห็นได้เชื่อว่าหากมาจากเสียงประชาชนจริงๆ บรรยากาศต่างๆ จะเป็นไปตามความต้องการของส่วนรวม

ส่วนจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อว่าสสร.จะไม่โดนฝ่ายการเมืองครอบงำ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สสร.เกิดจากกระบวนการในรัฐสภา ต้องอยู่ในขบวนการนิติบัญญัติ และรัฐสภาต้องกำหนดวิธีการที่จะเลือกตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ต้องถกกันในรัฐสภา
ส่วนที่ คปก. เสนอให้ชะลอการแก้รัฐธรรมนูญเพราะต้องรอร่างแก้ไขของภาคประชาชนก่อนซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องหารือกัน รัฐบาลทำหน้าที่ส่งร่างแก้ไขเข้ามา ส่วนการพิจารณาจะเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะตัดสินและโหวตกัน

ส่วนเกรงขัดแย้งใหม่ขึ้นในสังคมหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่อยากให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งอยู่แล้ว วัตถุประสงค์คือต้องการรับฟังความเห็น กระบวนการต่างๆมันก็มีอยู่ในแต่ละกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายขั้นตอน ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นตอนของนิติบัญญัติที่จะพิจารณาดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น