xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยได้อะไรจากการปรองดองกันระหว่าง “อำมาตย์” กับ “นักธุรกิจเลือกตั้ง?”

เผยแพร่:   โดย: วัชชิระ จำปาน้อย

โดย : วัชชิระ จำปาน้อย

ม่านควันดำมืดทางการเมืองไทยกำลังจางหาย เผยให้เห็น “จุดศูนย์กลางแห่งปัญหา” อันเกิดจากการคัดง้างกันระหว่างฝ่าย “อำมาตย์” ที่มีอำนาจทหารหนุนหลัง กับฝ่าย “นักธุรกิจเลือกตั้ง” ภายใต้ระบอบทักษิณ

ต่างฝ่ายต่างครอบครองอำนาจทางการเมืองไทยสลับกันไปมา อย่างความหมายของคำว่า “สมบัติผลัดกันชม”

อรรถาธิบายให้เห็นเป็นภาพ เวลานี้นักธุรกิจเลือกตั้งภายใต้ระบอบทักษิณ กำลังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ชูธงนักประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งฟอกตัวสร้างความชอบธรรม จะทำอะไรกับเมืองไทยก็ได้ มุ่ง “ลบล้างความผิดในอดีต” และ “กระชับอำนาจของตัวเองในอนาคต” ผ่านหลายช่องทาง เช่น

ช่องทางที่หนึ่ง การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมถึงการจับมือกันหลวมๆ กับกลุ่มจ้อง “เปลี่ยนแปลงการปกครอง” ที่กำลังเดินเกม “ล้มเจ้า” ซึ่งแม้รู้ดีอยู่แล้วว่าโอกาสทำสำเร็จน้อยมาก ซ้ำยังต้องเสี่ยงกับก้อนอิฐลงกบาล หากแต่ขบวนการดังกล่าว ก็สามารถสร้าง “แนวร่วม” ขึ้นในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง อันสามารถนำไป “ต่อยอด” ได้ในอนาคต

ช่องทางที่สอง “หล่อเลี้ยงฐานมวลชนเดิม” และ “สร้างแนวร่วมใหม่” ขึ้นมาสนับสนุนรัฐบาลเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายทหาร ฟาดฟันกับสื่อฝ่ายตรงข้ามและกลุ่มเห็นต่าง เช่น การออกมาตรการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 53 วงเงิน 7.5 ล้านบาทต่อราย (ที่สุดท้ายก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ให้ความหวังลอยลมหล่อเลี้ยงมวลชนต่อไปว่าเราไม่ทิ้งคุณนะ แต่ดูสิอำมาตย์ออกมาต้านไม่ให้ช่วยเหลือ-อำมาตย์เลว เราดี...) การเดินหน้าจัดตั้ง “หมู่บ้านเสื้อแดง” ที่กำลังขยายตัวอย่างเป็นระบบ หรือแม้แต่การ “สร้างแนวร่วมนอกประเทศ” ตามยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ” เป็นต้น

ช่องทางที่สาม ครอบงำสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้ง “สื่อที่ยินยอมพร้อมใจ” และ “สื่อเสพติดความต่าง” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับรัฐบาล บุคคลสำคัญในรัฐบาลรวมถึงแกนนำเสื้อแดง พร้อมโจมตีสื่อฝ่ายตรงข้าม กลุ่มคนเห็นต่าง ตลอดจนทหารในทุกกรณี รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มนักวิชาการ และ “กลุ่มนักเขียนที่สำคัญตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า” สร้างภาพความเป็นเสรีชนบนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง “เสรีภาพ” กับ “อัตตา” อันเหนียวแน่นของตัวเอง

ช่องทางที่สี่ สร้าง “กระบวนการความเกลียดชังขึ้นในสังคมไทย” อย่างเป็นระบบผ่าน “สื่อใหญ่” กระบอกเสียงเสื้อแดงที่เก่งในการยุแยงอย่างมีนัยให้นักคิด นักเขียน เกิดอารมณ์ร่วมจนลืมสิ้นวิชาชีพของตัวเอง กลายมาเป็นนักตอบโต้รายวันด้วย “โทสะ” และ “โมหะ” พร้อมสร้างภาพปีศาจร้ายให้ผู้คิดต่างผ่านชั้นเชิงข้อเขียนของตัวเอง ตัวอย่างเช่นคอลัมน์ของ “คำ ดำปี๋” เป็นต้น ซึ่งเธอกำลังถูกกระบวนการดังกล่าวจับบูชายันต์เฉกเช่นเดียวกับกรณีของ “อากง” ไม่ผิดเพี้ยน โดยที่แม้แต่ตัวเธอเองและอากงนั้นอาจยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันฝ่าย “อำมาตย์” เองซึ่งตอนนี้กำลังซุ่มเงียบรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเวลานี้อำนาจไม่ได้อยู่ในมือตัวเองแล้ว หากแต่เครือข่ายและขุมกำลังที่วางไว้ก่อนหน้ายังคงแน่นปึ้ก รอฉกฉวยโอกาสเหมาะเข้ากุมอำนาจกลับจากฝ่ายตรงข้ามอีกครั้ง ซึ่งว่ากันว่ามี “โอกาสสูง” จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

การเดินเกมรุกอย่างรุนแรงและแหลมคม ของระบอบทักษิณในการหักดิบรัฐธรรมนูญปี 50 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อล้างความผิดให้ตัวเองพร้อมเปิดประตูสู่การ “ล้มเจ้าแบบซ่อนเล่ห์” ซึ่งเหมือนเป็นการ “วัดใจ” กับ ขุนทหารโดยตรง ว่าจะยังคงมีความแน่นปึ้กในการทำหน้าที่พิทักษ์ราชบัลลังก์อยู่หรือไม่

หรือแม้แต่การเติบโตขึ้นของ “ขบวนการล้มเจ้า” ทั้งใต้ดินและบนดินอย่างเป็นระบบ โดยขาดซึ่งความ “จริงใจ” ในการแก้ไขปัญหาของผู้มีอำนาจ ที่ได้แต่ออกมาพูดลอยๆ ว่าจะรีบดำเนินการโดยที่ไม่ได้ทำอะไรมากมายนัก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจอันเป็นจุดแข็งกันคนละอย่าง ฝ่ายหนึ่งมี “เสื้อเกราะนักประชาธิปไตย (จากพิธีกรรมเลือกตั้ง) บวกอำนาจรัฐและทุน” ส่วนอีกฝ่ายมี “รถถัง” และ “กำลังทหาร” อยู่ในมือ

การต่อสู้จึงยังคงยืดเยื้อมองหาผู้กำชัยแบบเบ็ดเสร็จได้ยากยิ่ง

กระทั่งภาพแห่งความปรองดองที่ไม่รู้ว่าจับต้องได้จริงหรือไม่ จึงเริ่มฉายขึ้น ผ่านงานเลี้ยงเมื่อค่ำคืนวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา อันซ่อนนัยสำคัญทางการเมืองไว้ไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพปรองดองลดแรงกดดันจากสังคมที่ต่อต้านการแก้ไขม.112 หรือจะเป็นการเล่นบทไหลตามน้ำของฝ่ายอำมาตย์ที่ว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นต่อจากนี้ก็จะมาโทษกันไม่ได้แล้ว เพราะปรองดองกันแล้ว สุดแท้แต่จะมอง

ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดหาได้ใช่ความปรองดองของทั้งสองฝ่ายไม่ เพราะสิ่งสำคัญกว่าคือ สังคมไทยเราได้อะไรจากการปรองดองกันในครั้งนี้ต่างหาก ในเมื่อปัญหาต่างๆ ที่ทับซ้อนมายาวนานในทุกมิติยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เสร็จสิ้น

สังคมไทยเรายังคงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมการโกงกินจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันการโกงนั้นเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น จากกับดักทางความคิดที่ว่า โกงได้ไม่เป็นไรหากประเทศเจริญและตัวเองได้รับผลประโยชน์นั้นด้วย

เรายังเห็นความแตกแยกหยั่งรากลึกลงในจิตใจ เอาชนะกันทางความเชื่อด้วยความรุนแรง ความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมยังคงพันธนาการมวลชนส่วนใหญ่ไว้อย่างแน่นหนา สื่อส่วนใหญ่ไม่ทำหน้าที่รับใช้สาธารณชน ในการชี้ให้เห็น “ปัญหา” และนำเสนอ “ทางออก” ของสังคมไทยเฉกเช่นเคย

ความปรองดองของ “อำมาตย์” กับ “นักธุรกิจเลือกตั้ง” ในครั้งนี้ จึงหาได้ช่วยให้ปัญหาต่างๆ หมดไปแต่อย่างใด

มิพักต้องพูดถึงระบบการศึกษาที่ตกต่ำ คุณภาพทางการศึกษาของเด็กไทยเทียบไม่ได้เลยกับอารยประเทศ กระนั้นก็ตามนักการเมืองกลับแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการแจกแท็บเล็ต กระทั่งเยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติถูกครอบงำทางความคิด ยึดติดกับกระแสโลกาภิวัตน์จนลืมสิ้นแล้วซึ่งจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทย

แม้แต่การแสดงความเคารพรักต่อสถาบันดีงาม อันเปรียบดังจิตวิญญาณของสังคมไทย กลับกลายเป็นเรื่องล้าหลังตามวาทกรรมของ “นักเขียนวัวลืมตีน” บางคน ที่ยกย่องแต่ความคิดของตัวเองเป็นนิพพาน

หากสังคมไทยเรายังคงจ่อมจมอยู่กับปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ก็ยากยิ่งที่จะก่อให้เกิดความปรองดองได้อย่างแท้จริง และถ้าหากสังคมไทยไม่ได้อะไรเลยจากการปรองดองกันของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ คำถามสำคัญที่เราควรช่วยกันขบคิดคือ

ทำอย่างไรเราจึงจะก้าวผ่านการคัดง้างกันซึ่งอำนาจและความปรองดองแบบซ่อนนัยของทั้งสองฝ่ายไปได้ และทำอย่างไรเราจึงจะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับสังคมไทยบนพื้นฐานแห่งความดีงามได้อย่างแท้จริงเสียที?
กำลังโหลดความคิดเห็น