xs
xsm
sm
md
lg

มาร์กซ์ เลนิน เหมา สุวินัย แดง และสยามประชาภิวัฒน์

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

“อรุณสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวสยามประชาภิวัฒน์ที่รักทุกท่าน ขอให้พี่น้องตื่นขึ้นมาด้วยจิตใจที่แจ่มใส เบิกบาน เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่โลกใบนี้ทุกคนนะครับ.... ผมอยากให้พี่น้องมองเห็นในอีกมุมมองหนึ่งว่า เพราะเหตุใด มวลชนเสื้อแดงจึงเติบโตขึ้นมากมายขนาดนี้ อีกทั้งวาทกรรมแบบเสื้อแดงจึงได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชน นักคิด นักเขียน “หัวก้าวหน้า” ของบ้านเมืองมากถึงขนาดนี้

เหตุผลตรงประเด็นที่สุดก็คือความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่อย่างฝังรากลึกในสังคมนี้ครับ ที่ผ่านมาชนชั้นนำหรือชนชั้นอำมาตย์ได้ละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างนี้มาโดยตลอด ถ้าจะทำอะไรบ้างก็แค่ในระดับสังคมสงเคราะห์เป็นคราวๆไปเท่านั้นเองครับ เพราะฉะนั้นเมื่อทักษิณหยิบยื่น “ประชานิยม” ให้เพื่อที่ตัวเขาสามารถเข้าสู่อำนาจได้โดยผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 11 ปีก่อน ชนชั้นรากหญ้าเหล่านี้ซึ่งเพิ่งได้รับพื้นที่ทางการเมืองเชิงนโยบายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่จึงเทใจมาสนับสนุน “นายใหม่” คนนี้อย่างถล่มทลายโดยที่ระดับจิตสำนึกของมวลชนรากหญ้าเหล่านี้มิได้มีการพัฒนาขึ้นมาเลย พวกเขาเป็นแค่ กบเลือกนายที่เลือกนายคนใหม่เท่านั้น

นี่คือที่มาของเชื้อ “กบฏ” หรือหน่ออ่อนของขบวนการล้มเจ้าเมื่อ 11 ปีก่อน และขยายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อพวกอดีตซ้ายเก่าหันมาเป็นขุนพลให้แก่ทักษิณเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐอย่างถูกกฎหมายดังที่อดีตซ้ายเก่าเหล่านี้เคยใฝ่ฝันสมัยเป็นนักศึกษามาก่อน....ผมเล่ามาเสียยืดยาวเพื่อให้พี่น้องได้ครุ่นคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งว่า ตอนนี้เรากำลังต่อสู้กับอะไรอยู่ครับ พี่น้องต้องไม่เห็นแค่ต้นไม้เบื้องหน้า แต่ต้องเห็นป่าทั้งป่านะครับ เพื่อที่จะไม่ได้หลงทางในการต่อสู้อันยาวไกลของพวกเรานะครับ ด้วยจิตคารวะและสมานฉันท์ยิ่งครับ ...” สุวินัย ภรณวลัย (รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2527)

เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์กับการแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ตามที่ได้มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยเสนอให้ยกเลิกและแยกบทบัญญัติดังกล่าวออกจากลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รวมทั้งเสนอให้กำหนดเป็นความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งนี้ โดยกล่าวอ้างเหตุผลว่าเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ จึงมีความจำเป็น 3 ประการที่ต้องเสนอแก้ไข คือ โครงสร้างของบทบัญญัติและอัตราโทษมีความไม่เหมาะสม ไม่มีข้อยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชมหรือแสดงข้อความโดยสุจริต และเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ได้กำหนดจุดยืนต่อสถานการณ์ปัจจุบันว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมืองไทย” เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้เกิดความสับสนทางวิชาการ ความขัดแย้ง หรือแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยอย่างรุนแรง และหากข้อเสนอนี้ในที่สุดได้รับการบัญญัติเป็นกฎหมาย ย่อมกระทบต่อจิตวิญญาณประชาชาติอันเป็นความผูกพันระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรากฐานการดำรงอยู่ของสังคมไทย ดังนั้น กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเสนอความคิดเห็นทางวิชาการในอีกมุมมองหนึ่งต่อสังคมไทย เพื่อเป็นข้อประกอบการพิจารณาของสาธารณชน และเพื่อให้ได้รับข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้าน ดังต่อไปนี้

1. “สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็น “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ของระบอบการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย

ทุกประเทศมีสถาบันประมุขแห่งรัฐในรูปแบบต่างๆ และให้ความคุ้มครองสถาบันประมุขแห่งรัฐเป็นพิเศษอันแตกต่างจากปัจเจกชนทั่วไป เพื่อให้ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับประเทศไทยได้ยึดถือ“สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็น “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” เป็นศูนย์รวมแห่ง “จิตวิญญาณประชาชาติ” มีความสำคัญที่อยู่คู่สังคมและระบบการเมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน มีคุณูปการอันมากมายต่อสังคมไทย มีสถานะที่สำคัญในการคุ้มครองคุณค่าของสังคมไทย และสามารถแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งของสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ได้ “สถาบันพระมหากษัตริย์” จึงเป็นสถาบันหลักอันทรงคุณค่าทางจิตใจของประชาชนชาวไทยและระบอบการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย อันควรได้รับการคุ้มครองป้องกันเป็นพิเศษ หลักการดังกล่าวจึงสอดคล้องกับหลักการคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งก็เป็นบทบัญญัติที่สะท้อนถึงการรักษาไว้ซึ่ง “จิตวิญญาณประชาชาติ” เช่นเดียวกับมาตรา 112 ดังกล่าว

การให้ความคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ในฐานะ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นการคุ้มครอง “สถาบัน” มิใช่การคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ องค์ราชินี องค์รัชทายาท เป็นรายพระองค์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะของ “ปัจเจกบุคคล” เพราะทุกพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของ “สถาบันพระมหากษัตริย์” สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามที่องค์พระประมุขทรงมอบหมาย ดังนั้น การคุ้มครองทุกพระองค์จึงเป็นการคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” และเป็นการคุ้มครองจากการกระทำอันเป็นละเมิดต่อ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณประชาชาติ

โดยนัยดังกล่าว กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่า การยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 และแยกบทบัญญัติในเรื่องนี้ออกจากความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการแยกการคุ้มครองทุกพระองค์ออกจากการคุ้มครอง “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” และลดการคุ้มครองลงในระดับเดียวกับบุคคลทั่วไป มีการกำหนดบทลงโทษให้ต่ำกว่าประมุขของรัฐต่างประเทศและผู้แทนรัฐต่างประเทศ ตามมาตรา 133 และมาตรา 134 และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 136 และผู้พิพากษาหรือตุลาการมาตรา 198 จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและไม่เคารพต่อคุณค่าทางจิตใจของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

2. มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญามิใช่ตัวปัญหา หากแต่เป็นปัญหามาจากผลของการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

ปัญหาหลักที่สำคัญในสภาพการณ์ปัจจุบันของกระบวนการยุติธรรม คือ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยมีเหตุมาจากการไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (หลัก Due process of Law) และกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายในกรณีอื่นๆ ด้วย ไม่เว้นแม้แต่การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

โดยนัยดังกล่าว กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 นั้นเป็นไปตามหลักการข้อ 1 ที่ได้เสนอแล้วข้างต้น มิได้มีปัญหาทางกฎหมายในตัวของบทบัญญัติเองแต่อย่างใด การแก้ไขปัญหาการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 112 ให้ถูกต้องเหมาะสม จึงมิใช่โดยวิถีทางที่เป็นไปข้อเสนอของการยกเลิกหรือแยกบทบัญญัติดังกล่าวออกมาจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากแต่ต้องแก้ไขปัญหาในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

3. “สิทธิและเสรีภาพ” มีข้อจำกัดตามขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้เกิดจากการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์

การใช้สิทธิและเสรีภาพโดยหลักแล้วย่อมมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องไม่กระทบแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม แม้แต่ปัจเจกบุคคลยังได้รับการคุ้มครองจากการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ให้เกิดการล่วงละเมิด ดังนั้น ในกรณีของ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษยิ่งกว่าปัจเจกบุคคลทั่วไปเพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้การคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ในฐานะของ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” จึงมิได้เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

หากสาธารณชนได้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการดังกล่าวอย่างครบถ้วนแล้ว ก็จะพบว่าปัญหาต่างๆ หาได้เกิดจากบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว ตามที่มีการกล่าวอ้างนั้นแต่ประการใด

กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
18 มกราคม 2555

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผู้เขียนเขียนเรื่องมาร์กซ์ เลนิน เหมา กับเสื้อแดงและสยามประชาภิวัฒน์ไว้จวนจบแล้ว พอดีได้รับข่าวสารจากดร.สุวินัย และคณะสยามประชาภิวัฒน์ เห็นว่านี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมากของคนละเรื่องเดียวกัน จึงขอนำมาลงเป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ในฉบับต่อไป ท่านผู้ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อแดงทั้ง 120 คนประสงค์จะมีส่วนร่วมโปรดส่งมาได้

*****************
1
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2
มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
กำลังโหลดความคิดเห็น