xs
xsm
sm
md
lg

สยามประชาภิวัฒน์ ย้ำค้านเลิก ม.112 ชี้ ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ไม่ใช่ กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สยามประชาภิวัฒน์ (แฟ้มภาพ)
สยามประชาภิวัฒน์ ร่อนแถลงการณ์ ย้ำ สถาบันพระมหากษัตริย์ มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมือง เหตุเป็นสถาบันประมุขแห่งรัฐในการปกครอง ศูนย์รวมจิตวิญญาณ สมควรได้รับการคุ้มครอง ซัดเลิกอาญา ม.112 เท่ากับลดบทลงโทษหมิ่นต่ำกว่าประมุขรัฐอื่น ยันปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม ถูกจุ้นโดยผู้มีอำนาจการเมือง ป้องกฎหมายไม่ทำลายสิทธิเสรีภาพ

วันนี้ (18 ม.ค.) กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ กับการแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยเสนอให้ยกเลิกและแยกบทบัญญัติดังกล่าวออกจากลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รวมทั้งเสนอให้กำหนดเป็นความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งนี้ โดยกล่าวอ้างเหตุผลว่าเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญจึงมีความจำเป็น 3 ประการที่ต้องเสนอแก้ไข คือ โครงสร้างของบทบัญญัติและอัตราโทษมีความไม่เหมาะสม ไม่มีข้อยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชมหรือแสดงข้อความโดยสุจริต และเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ซึ่งได้ประกาศจุดยืนในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อสังคมและระบบการเมืองไทย” เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้เกิดความสับสนทางวิชาการ ความขัดแย้ง หรือแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยอย่างรุนแรง และหากข้อเสนอนี้ในที่สุดได้รับการบัญญัติเป็นกฎหมาย ย่อมกระทบต่อจิตวิญญาณประชาชาติอันเป็นความผูกพันระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นรากฐานการดำรงอยู่ของสังคมไทย ดังนั้น กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเสนอความคิดเห็นทางวิชาการในอีกมุมมองหนึ่งต่อสังคมไทย เพื่อเป็นข้อพิจารณาประกอบการพิจารณาของสาธารณชน และเพื่อให้ได้รับข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้าน ดังต่อไปนี้

1.“สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็น “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ของระบอบการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประเทศมีสถาบันประมุขแห่งรัฐในรูปแบบต่างๆ และให้ความคุ้มครองสถาบันประมุขแห่งรัฐเป็นพิเศษอันแตกต่างจากปัจเจกชนทั่วไป เพื่อให้ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับประเทศไทยได้ยึดถือ“สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็น “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” เป็นศูนย์รวมแห่ง “จิตวิญญาณประชาชาติ” มีความสำคัญที่อยู่คู่สังคมและระบบการเมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน มีคุณูปการอันมากมายต่อสังคมไทย มีสถานะที่สำคัญในการคุ้มครองคุณค่าของสังคมไทย และสามารถแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งของสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ได้ “สถาบันพระมหากษัตริย์” จึงเป็นสถาบันหลักอันทรงคุณค่าทางจิตใจของประชาชนชาวไทยและระบอบการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย อันควรได้รับการคุ้มครองป้องกันเป็นพิเศษ หลักการดังกล่าวจึงสอดคล้องกับหลักการคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 และมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งตก็เป็นบทบัญญัติที่สะท้อนถึงการรักษาไว้ซึ่ง “จิตวิญญาณประชาชาติ” เช่นเดียวกับมาตรา 112 ดังกล่าว

การให้ความคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ในฐานะ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นการคุ้มครอง “สถาบัน” มิใช่การคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ องค์ราชินี องค์รัชทายาท เป็นรายพระองค์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในฐานะของ “ปัจเจกบุคคล” เพราะทุกพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของ “สถาบันพระมหากษัตริย์” สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามที่องค์พระประมุขทรงมอบหมาย ดังนั้น การคุ้มครองทุกพระองค์จึงเป็นการคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” และเป็นคุ้มครองจากการกระทำอันเป็นละเมิดต่อ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณประชาชาติ

โดยนัยดังกล่าว กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่า การยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 และแยกบทบัญญัติในเรื่องนี้ออกจากความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการแยกการคุ้มครองทุกพระองค์ออกจากการคุ้มครอง “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” และลดการคุ้มครองลงในระดับเดียวกับบุคคลทั่วไป มีการกำหนดบทลงโทษให้ต่ำกว่าประมุขของรัฐต่างประเทศ และผู้แทนรัฐต่างประเทศ ตามมาตรา 133 และมาตรา 134 และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 136 และผู้พิพากษาหรือตุลาการมาตรา 198 จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งและไม่เคารพต่อคุณค่าทางจิตใจของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

2.มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญามิใช่ตัวปัญหา หากแต่เป็นปัญหามาจากผลของการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมปัญหาหลักที่สำคัญในสภาพการณ์ปัจจุบันของกระบวนการยุติธรรม คือ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยมีเหตุมาจากการไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (หลัก Due process of Law) และกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายในกรณีอื่นๆด้วย ไม่เว้นแม้แต่การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

โดยนัยดังกล่าว กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 นั้น เป็นไปตามหลักการข้อ 1.ที่ได้เสนอแล้วข้างต้น มิได้มีปัญหาทางกฎหมายในตัวของบทบัญญัติเองแต่อย่างใด การแก้ไขปัญหาการบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 112 ให้ถูกต้องเหมาะสม จึงมิใช่โดยวิถีทางที่เป็นไปข้อเสนอของการยกเลิกหรือแยกบทบัญญัติดังกล่าวออกมาจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากแต่ต้องแก้ไขปัญหาในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

3.“สิทธิและเสรีภาพ” มีข้อจำกัดตามขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้เกิดจากการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้สิทธิและเสรีภาพโดยหลักแล้วย่อมมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องไม่กระทบแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม แม้แต่ปัจเจกบุคคลยังได้รับการคุ้มครองจากการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ให้เกิดการล่วงละเมิด ดังนั้น ในกรณีของ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษยิ่งกว่าปัจเจกบุคคลทั่วไปเพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ

กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้การคุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ในฐานะของ “สถาบันประมุขแห่งรัฐ” จึงมิได้เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

หากสาธารณชนได้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการดังกล่าวอย่างครบถ้วนแล้ว ก็จะพบว่าปัญหาต่างๆ หาได้เกิดจากบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว ตามที่มีการกล่าวอ้างนั้น แต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น