ASTVผู้จัดการรายวัน -"วิทยา" เสนอให้ 5 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา "อยุธยา -ชัยนาท-สิงห์บุรี -ลพบุรี -อ่างทอง" เป็นพื้นที่รับน้ำ ให้เลิกทำนาหลังเดือนสิงหาฯ แล้วไปทำประมงแทน ด้าน ปชป.เสวนาน้ำท่วม ชี้ปล่อยน้ำเขื่อนท่วม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา สะท้อนความล้มเหลวยกแรก "มาร์ค" ฝากการบ้าน 10 ข้อ ให้นายกฯตอบหลังจบทัวร์นกแก้ว สวนดุสิตโพลชี้แก้น้ำท่วมผลงานยอดแย่รัฐบาลปู
วานนี้ (12 ก.พ.) นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประชุมกับผู้ที่เกี่บวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเสนอปัญหาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางลงพื้นที่ ตรวจแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง วันที่ 16 - 17 ก.พ.นี้
โดยล่าสุด พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เสนอแผนโครงการเพื่อขอให้นายกฯ พิจารณาอนุมัติ อาทิ การยกระดับถนนอู่ทอง รอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา การขุดลอกคลอง และระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขต จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงการผันน้ำจากแม่น้ำลพบุรี ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในลักษณะของการ CROSS น้ำ ซึ่งอาจจะมีการขุดคลองขึ้นมาใหม่ ผ่านพื้นที่ อ.บางปะหัน มาลงที่ อ.พระนครศรีอยุธยา
ส่วนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน้อย ได้มีการเสนอแก้ปัญหาน้ำท่วม พื้นที่ฝั่งตะวันตก ด้วยการขุดคลอง แยกจากแม่น้ำน้อย ช่วงบริเวณใต้ปากคลองมโนราห์ อ.เสนา มาจนถึงช่วงบริเวณวัดบางปลาหมอ เขต อ.บางบาล ระยะทางประมาณ 4 กม. จากเดิมระยะทาง 12 กม. โดยจะมีประตูระบายน้ำปิด - เปิดน้ำ เข้าแม่น้ำน้อย รวม 4 จุด
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า อยากให้ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ไปพูดคุยกับผู้ว่าฯ จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา คือ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และอ่างทอง เพื่อนำเสนอภาพรวมให้กับนายกฯ ในการเสนอตัวเป็นพื้นที่รับน้ำ หรือ FLOOD WAY ช่วง 1 - 2 ปีแรก เนื่องจากโครงการที่แต่ละจังหวัดเสนอให้กับนายกฯนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ภายใน 2 ปี หากทั้ง 5 จังหวัด เสนอเป็นพื้นที่รับน้ำชั่วคราวไปก่อน และนำเงินจากรัฐบาล มาจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน น่าจะเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการที่จะต้องนำเงินไปซื้อถุงยังชีพแจกชาวบ้าน หรือการที่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก ทำแนวคันดินป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร แต่สุดท้ายก็ป้องกันไม่ได้
นายวิทยา กล่าวว่า การเสนอตัวทั้ง 5 จังหวัด เป็นพื้นที่รับน้ำนั้น ไม่ใช่เป็นการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรในช่วงนี้ แต่ทุกจังหวัดต้องตกลงกับชาวบ้าน และเกษตรกร ว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะต้องเก็บเกี่ยวให้หมดภายในเดือนสิงหาคม เท่ากับว่า หากทำนา จะทำได้เพียงปีละ 2 ครั้ง เท่านั้น หลังจากเดือนสิงหาคมไปแล้ว ชลประทาน แต่ละพื้นที่ก็จะเปิดประตูระบายน้ำทุกแห่งให้ระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตรพร้อมกัน วิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายมาก เพราะน้ำค่อยๆไหลเข้าไป ขณะเดียวกันชาวบ้าน ยังจะได้เปลี่ยนอาชีพจากการทำการเกษตร มาเป็นชาวประมง ในพื้นที่นาของตนเอง จับปลาหาเลี้ยงชีพในช่วงน้ำท่วมได้ด้วย
**เผยกำหนดการ"ทัวร์นกแก้ว"
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th เผยแผนการเดินทางของนายกฯที่จะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำช่วงวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ โดยประเดิมพื้นที่แรกที่ จ.อุตรดิตถ์
ทั้งนี้ ตามแผน นายกฯ จะ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ (เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา) กลางน้ำ (พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร ชัยนาท) และ ปลายน้ำ (ตอนบน ได้แก่ สุพรรณบุรี อยุธยา ปราจีนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นครนายก และ ตอนล่าง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี กรุงเทพฯ ) เพื่อติดตามการดำเนินการ และทบทวนแผนงาน โครงการ งบประมาณ ความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์อุทกภัย ผ่านคณะกรรมการ เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (กฟย.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งมีแผนงาน โครงการเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนแบบบูรณาการและยั่งยืน กรอบวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท รวมทั้งการติดตามจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ ตามแผนเผชิญเหตุ และฝึกซ้อมกรณีการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ ให้มีความพร้อมก่อนเริ่มฤดูฝนปี 2555 ตลอดจนเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีแผนการเดินทางลงพื้นที่ ดังนี้
วันที่ 13 ก.พ. เวลา 13.00 น. นายกฯ และคณะ ออกเดินทาง จากดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานพิษณุโลก และเดินทางต่อไปยังเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก โดยในเวลา 14.30 น. นายกฯ จะรับฟังบรรยายสรุปโครงการพระราชดำริ การพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และการเตือนภัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน
ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลา 16.30 น. นายกฯ และคณะ จะร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน จากนั้นจะเดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการเขื่อนและประตูระบายน้ำ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์กลับ จ.พิษณุโลก ในเวลา 17.30 -18.00น.
วันที่ 14 ก.พ. เวลา 09.00 น. นายกฯ และคณะ จะรับฟังผลการประชุมแผนงาน/โครงการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะผู้ที่เกี่ยวข้องบรรยายสรุป และเวลา 11.00 น. นายกฯ และคณะทำงานกลาง จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
จากนั้นในเวลา 13.00 น. ออกเดินทางไปติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้มลิง บึงระมาณ บ้านปรักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมฟังบรรยายสรุป ก่อนออกเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการระบายน้ำคลองกล่ำ-คลองเกต ต.ชุมแสง อ.บางระกำ เสร็จแล้วเดินทางต่อไปยังบึงบอระเพ็ด อ.เมือง จ.นครรสวรรค์ เพื่อเยี่ยมชมโครงการบึงบอระเพ็ด ทั้งนี้ นายกฯ และคณะ จะพักค้างคืนที่ จ.นครสวรรค์ 1 คืน
วันที่ 15 ก.พ. เวลา 09.00 น. นายกฯ และคณะ จะรับฟังผลการประชุมแผนงาน /โครงการป้องกันอุกทกภัยพื้นที่กลางน้ำ ณ โรงแรมแกรนฮิว รีสอร์ท จ.นครสวรรค์ จากนั้นเวลา 12.50 น. เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการเขื่อนป้องกันอุทกภัยพื้นที่ อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ และในเวลา 14.30 น. รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา และติดตามการปรับปรุงประตูระบายน้ำพลเทพ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการปรับปรุงประตูระบายน้ำพลเทพ
จากนั้นเวลา 17.00 น. เดินทางไปยัง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อติดตามการปรับปรุงประตูระบายน้ำบางโฉมศรี จากนั้นจะเดินทางต่อไปยัง จ.ลพบุรี เพื่อรับฟังการบรรยายสรุป จากผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และผวจ.ลพบุรี ถึงการจัดเตรียมแผนปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุ และการฝึกซ้อมกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ พร้อมแนวทางการจัดการด้านการระบายน้ำ จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
วันที่ 16 ก.พ. เวลา 08.00 น. นายกฯ และคณะ ยังปฏิบัติภารกิจที่ จ.ลพบุรี โดยจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์สร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงาน ต.เขาสามยอด อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี ต่อจากนั้น เวลา 09.30 น. เดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปแผนงาน/โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ปลายน้ำ (ตอนบน) จากผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะ และในเวลา 10.30 น. รับฟังผลการประชุมแผนงาน/โครงการป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนร่วมกันแถลงข่าว ต่อสื่อมวลชน ในเวลา 11.30 น.
เวลา 13.30 น. นายกฯและคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการป้องกันอุทกภัยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา และในเวลา 15.00 น. เดินทางไปยังพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมการบูรณะพื้นที่โบราณสถานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เวลา 16.20 น. ไปตรวจเยี่ยมการปรับปรุงประตูระบายน้ำและการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำนอง (แก้มลิง) ในพื้นที่อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 17 ก.พ. นายกฯ และคณะ จะรับฟังผลการประชุมแผนงาน/โครงการป้องกันน้ำท่วมในจังหวัดพื้นที่ปลายน้ำ (ตอนล่าง) จากผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมแคนทารี่ จ.พระนครศรีอยุธยา และในเวลา 09.00 น. นายกฯ และคณะ จะร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจราชการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เสร็จแล้ว 10.40 น. เดินทางไปยังบริเวณประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการคันกั้นน้ำพระราชดำริ การปรับปรุง และการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน
** ปชป.ตั้งวงเสวนาปัญหาน้ำท่วม
เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (12 ก.พ.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการจัดงานเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียน และการจัดการเนื่องจากอุทกภัย ในหัวข้อ " ตั้งโจทย์ประเทศไทย หวังอะไรจากน้ำท่วม" ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากร ที่เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน อาทิ ดร.สุทัศน์ วีรสกุล นักวิชาการเรื่องน้ำและการจัดการ สถาบัน AIT นายปรเมศวร์ มินศิริ กลุ่มThaiflood นายฉมาดล ชมเชิงแพทย์ รองประธานกรรมการและผู้อำนวยการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์บริษัท M&R Laboratory จำกัด ( แป้งโกกิ ) นายอดิสรณ์ เซี้ยวโซลิค ตัวแทนกลุ่มอาสาดุสิต และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมถ่ายทอดความคิดเห็น ประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอแนะ ต่อรัฐบาลที่จะลงพื้นที่ตลอดสัปดาห์นี้
** แค่เริ่มพร่องน้ำก็ผิดพลาดแล้ว
ดร.สุทัศน์ วีสกุล นักวิชาการเรื่องน้ำและการจัดการ สถาบัน AIT กล่าวว่า การจัดการน้ำของรัฐบาลล่าสุดในปีนี้ มีความพยายามพร่องน้ำในต้นปี เพื่อเตรียมการรับน้ำ แต่การพร่องน้ำของรัฐบาลทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบทเรียนความผิดพลาดครั้งแรกของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการน้ำในปีนี้ ในเรื่องการประสานงาน จึงอยากฝากให้รัฐบาลตัดสินใจให้ถูกต้อง และรวดเร็วกว่านี้ ควรกำหนดพื้นที่แก้มลิง กักเก็บน้ำให้ได้ 6 ใน 10 ส่วนของน้ำทั้งหมด
**เน้นระบบเตือนภัยต้องมี
นายปรเมศวร์ มินศิริ กลุ่ม Thaiflood กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเตือนภัย ที่จะต้องมีการเตือนที่รวดเร็วในพื้นที่แต่ละพื้นที่ ต้องมีการเตือนไปก่อนแล้วค่อยชี้แจงในภายหลัง โดยการเตือนภัยต้องมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำที่อยู่ด้านบน ควรมีการติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำ ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการแจ้งเตือนเป็นจังหวัด จึงไม่มีความละเอียดพอ ต้องมีตัวแทนดูในที่ต่างๆแล้วรายงานมาที่ส่วนกลางว่าระดับน้ำสูงเท่าใด เพื่อคำนวณปริมาณน้ำที่จะลงมายังพื้นที่ต่อไป และสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ทั้งนี้อยากฝากรัฐบาลให้ดูรายละเอียดในเรื่องการระบายน้ำลงพื้นที่ต่ำและสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและวัดระดับน้ำภาคประชาชนเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล
**ห่วงไม่มีบริษัทรับประกันน้ำท่วม
นายฉมาดล ชมเชิงแพทย์ รองประธานกรรมการและผู้อำนวยการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท M&R Laboratory จำกัด (แป้งโกกิ) กล่าวในแง่ของภาคธุรกิจเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมว่า ตอนนี้มีความเป็นห่วงเรื่องการประกันเกี่ยวกับอุทกภัย ซึ่งในปีที่แล้วทางโรงงานได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูจากการประกันมาก แต่ไม่แน่ใจในการประกันภัยสำหรับปีนี้ อีกทั้งที่ผ่านมาก็ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ ความเครียดตอนนี้ยังอยู่ที่ระดับ 10 เต็ม 10 อีกทั้งอยากฝากให้รัฐบาล ดูเรื่องการเตือนภัยโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูง
** ฟลัดเวย์ต้องชัดเจน
นายอดิสรณ์ เซี้ยวโซลิค ตัวแทนกลุ่มอาสาดุสิต กล่าวว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ประชาชนมีความกังวลหลายอย่างที่สืบเนื่องกันว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ ระดับน้ำจะสูงเท่าไร น้ำจะท่วมนานกี่วัน น้ำท่วมแล้วอยู่ที่บ้านได้หรือไม่ ถ้าอยู่บ้านไม่ได้แล้วจะอยู่ที่ใด หากอพยพไปแล้วบ้านจะปลอดภัยไหม และหลังน้ำลดเอาเงินที่ไหนซ่อมบ้าน ซึ่งสิ่งต่างต่างเหล่านี้สะท้อนความไม่มั่นใจของประชาชน ส่วนในเรื่องของการกระจายความช่วยเหลือต้องแบ่งโซนในการจัดการอาสาเพื่อลงพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งฝากรัฐบาลให้ดูเรื่องพื้นที่ฟลัดเวย์ และการจ่ายเงินค่าชดเชย
** "มาร์ค"ให้"ปู"ตอบโจทย์ 10 ข้อ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รู้สึกกังวลใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ อ.เสนา จ.อยุธยา เพราะเป็นสถานการณ์จำลองเล็กๆ ที่สะท้อนว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งที่คาดหวังว่าประสบการณ์จากปีที่แล้ว จะทำให้รัฐบาลเรียนรู้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับปริมาณน้ำ เส้นทางน้ำ และบอกประชาชนได้ว่า ควรทำอย่างไร
แต่วันนี้คำอธิบายของทางการก็ไม่ตรงกัน บางฝ่ายยอมรับว่า เกิดจากการปล่อยน้ำในเขื่อน แต่บางฝ่ายบอกว่าเป็นปัญหาจากฝนที่ตกในพื้นที่ ทำให้เกิดความสับสน จึงสงสัยว่าคำว่า " ซิงเกิลคอมมาน คืออะไร " หากมีการดำเนินการแล้ว ทำไมจึงไม่ได้ผล
ทั้งนี้ เห็นว่าพื้นที่ อ.เสนา ถือเป็นการซ้อมเล็ก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อหน้าฝนมาถึง ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ซึ่งเฉพาะเดือนมกราคม ปริมาณน้ำฝนสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ถึง 4 เท่า รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อน ก็มากกว่าเช่นเดียวกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะเสนอโจทย์ให้นายกรัฐมนตรี ตอบคำถาม 10 ข้อและจะตรวจการบ้านในสัปดาห์หน้า หลังนายกรัฐมนตรี จบการลงพื้นที่ คือ
1. นายกฯ ต้องตามไปดูเรื่องการชดเชย เยียวยาให้ครบถ้วนก่อน เพราะตนไปหลายพื้นที่ทั้งเงินเยียวยา 5 พัน เงินชดเชยพื้นที่การเกษตร ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับ ซึ่งตนไม่คาดคั้นว่าต้องได้ 100 % แต่ขอให้สรุปว่า ยังไม่จ่ายเท่าไร จะจ่ายได้ภายในวันที่เท่าไร
2. ในขณะที่ยังพูดถึงสารพัดโครงการ ปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดว่า มีคูคลองส่งน้ำ คลองชลประทาน ประตูระบายน้ำกี่แห่ง ที่ยังไม่ซ่อมแซม และใช้เวลาเท่าไร มีคนมาฟ้องว่า ประตูน้ำบางโฉมศรี ยังไม่ได้ซ่อม ในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้ว มีประตูระบายน้ำใช้ไม่ได้ถึง 11 แห่ง โดยที่ ศปภ.ไม่ทราบ ใช้เวลาอีกเป็นเดือน กว่าจะซ่อม
3. มีโครงสร้างประตูระบายน้ำ และการระบายน้ำให้สัมพันธ์กันอย่างไร เพราะอ้างว่ามีซิงเกิ้ลคอมมาน แต่ระบบการประสานการบริหารจัดการในแต่ละจุดจะสร้างขึ้นมาอย่างไร เพราะในช่วงน้ำท่วมตนไปบริเวณประตูระบายน้ำผู้ดูแลไม่รู้ว่านโยบาย คืออะไร และไม่รู้ว่าต้นน้ำและปลายทางจะเป็นอย่างไร ดังนั้นต้องเปลี่ยนตรงนี้ต้องให้มีการเชื่อมระบบประสานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและการเปิดปิดประตูน้ำจะเชื่อมโยงกันอย่างไร
4.ระบบการพยากรณ์แบบจำลอง และการเตือนภัย เป็นสิ่งที่คนต้องการทราบ เพราะเข้าใจว่าป้องกันไม่ได้ 100 % แต่ต้องบอกล่วงหน้าให้แม่นยำในระดับหนึ่ง ระบบนี้เมื่อไรจะเสร็จ เพราะตามแผนของรัฐบาล กยน. บอกสิ้นมกราคม แบบจำลองจะเสร็จ วันนี้อยู่ที่ไหน นายกฯ เดินทางไปบอกกับประชาชนได้หรือไม่ ว่าระบบเตือนภัยอยู่ตรงไหน ตนคุยกับเอกอัครราชทูตท่านหนึ่ง พบว่า มีปัญหามาก เพราะรัฐบาลแจ้งไปยังสถานทูตหลายครั้งไม่เหมือนกัน เช้าบอกไม่มีปัญหา บ่ายบอกท่วมแน่ จนกระทั่งทูตท่านนั้นต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อรัฐบาลแจ้งว่า น้ำจะท่วม ทูตท่านนั้นก็ไม่เชื่อ แต่ไปตรวจสอบกับประชาชนที่อยู่ริมคลองใกล้เคียงแทน และสุดท้าย น้ำก็ไม่ท่วมตามที่รัฐบาลแจ้ง ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ในการบริหารของรัฐบาล
5 . พื้นที่แก้มลิง บอกได้หรือยังว่าอยู่ตรงไหน เพราะถ้าบอกไม่ได้ วันที่น้ำมาจริง ก็จะจัดการไม่ได้ ทั้งนี้ตนแปลกใจที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะกลัวมวลชนต่อต้าน จึงอยากถามว่า ถ้าวันที่น้ำมา มวลชนจะไม่ต่อต้านหรือหากไม่มีการบอกล่วงหน้า
ดังนั้นรัฐบาลต้องกล้าที่จะบอกความจริง และรับฟังความเห็นประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยา เพื่อให้ชาวบ้านเกิดการยอมรับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหามวลชนจนแก้ไม่ได้ ตนกลัวแต่ว่ารัฐบาลจะบอกว่าฟลัดเวย์ อยู่ตรงไหนให้รอดูตอนท่วม คือ รู้พร้อมประชาชน ไม่ได้รู้ล่วงหน้าเพื่อแก้ปัญหา นายกฯ ต้องคุยตั้งแต่พิษณุโลก ถึงนครสวรรค์ ว่าจะตกลงกติกาอย่างไร
6. โครงการระยะกลาง และยาว ต้องบอกได้ว่าแต่ละพื้นที่ว่าจะมีโครงการอ่างเก็บน้ำ เขื่อน อย่างไร
7. ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานกลางช่วยประสานงานกับจิตอาสา ทำให้เกิดปัญหาการช่วยเหลือซ้ำซ้อน บางพื้นที่ชาวบ้านมีคอลเล็คชั่นถุงยังชีพได้ทุกประเภท แต่อีกหลายพื้นที่ ไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย เป็นเพราะไม่มีหน่วยงานไหนคอยประสานในเรื่องนี้ นายกฯ ควรจะจัดทำรูปแบบให้ชัดเจน ซึ่งตนเคยเสนอให้มีองค์การต่างหาก ทำเรื่องนี้นอกระบบราชการ ดูแลเรื่องถุงยังชีพ ประสานภาคเอกชน และกลุ่มอาสา
8 . ระบบการอพยพไม่มีแบบสากล ใช้วิธีว่า น้ำมาใกล้แล้วให้ออกมาจากบ้าน แต่ไม่รู้จะให้ประชาชนไปที่ไหน และเกิดปัญหาประชาชนออกบ้าง ไม่ออกบ้าง เนื่องจากไม่มีความมั่นใจ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บางพื้นที่ต้องบังคับอพยพ เพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือและจัดศูนย์อพยพให้ ลดภาระของเจ้าหนาที่ ต้องมีการตั้งบางสิ่งบางอย่าง เพื่อทำเรื่องนี้
9. เรื่องธุรกิจรัฐบาลไม่มีความชัดเจน โดยในส่วนนิคมอุตสาหกรรมจะมีการสร้างเขื่อนป้องกัน แต่ก็ยังมีปัญหาว่า การสร้างเขื่อนทำได้แค่ปกป้องทรัพย์สินไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ ในขณะที่ชุมชนจมน้ำอยู่นอกนิคม จะเกิดปัญหา ส.ส.นำชาวบ้านไปทุบเขื่อนของนิคม หรือไม่ อีกทั้งนิคมไม่มีรายได้จ่ายเงินค่าก่อสร้าง ทำให้บางโรงงานสร้างกำแพงของตัวเอง ในขณะที่รัฐบาลไม่เข้าไปดูแล และแม้แต่นิคม ที่เริ่มสร้างเขื่อนแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลา 2 ปี จึงไม่ใช่คำตอบที่จะแก้ปัญหาปีนี้ รวมถึงต้องมีคำตอบเรื่องกองทุนประกันภัยด้วย ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร
10. ช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ เจอนิทานปล่อยน้ำจากเขื่อนให้ท่วมประเทศ โดยมีทีวีดาวเทียมบิดเบือนข้อมูลว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์เก็บน้ำในเขื่อน ซึ่ง ตนได้คุยกับตัวแทนของเวิลด์แบงก์ มีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ ที่ประสบอุทกภัยในช่วงเดียวกัน ที่น่าสนใจ คือ ประเทศลาว มีการตัดสินใจปล่อยน้ำหมดเขื่อน แบบควบคุม และบังคับให้ประชาชน ที่อยู่ตามทางน้ำผ่าน อพยพออก ผล คือไม่มีคนเสียชีวิต ควบคุมบริหารจัดการได้ ต่อมาเขื่อนก็รับน้ำกลับไปตามปกติ โดยการตัดสินใจของทางการลาวเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่าการปล่อยน้ำ ควรทำในช่วงสิงหาคม และกันยายน แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำ และในขณะนี้ ก็เริ่มเล่านิทานเองใหม่ว่าถ้าน้ำท่วมปีนี้เป็นความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะส่ง พ.ร.ก.กู้เงิน ตีความจนไม่มีเงินมาทำโครงการแก้ปัญหา ตนก็บอกว่าให้นายกฯ บอกทุกโครงการที่จำเป็นต้องใช้เงินทันทีมาให้ตนดู หากจำเป็นจริง ตนยินดีถอนชื่อจากการตีความ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะความจริงรัฐบาลยังมีเงินที่ยังไม่อนุมัติถึง 1.5 แสนล้าน ที่อนุมัติไปแล้ว ก็ยังไม่ลงมือดำเนินการ ส่วนอีก 3.5 แสนล้าน ที่จะกู้ใหม่ เป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 56 เสร็จ ปี 59 ไม่ใช่แก้ปัญหาน้ำในปีนี้ ตนจึงไม่อยากให้มีการเล่านิทาน กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนปีที่แล้ว ถ้านายกฯ ทำไม่ได้ ตนจะสอนให้ว่า จะเอาเงินที่ไหนมาใช้โดยไม่ต้องกู้ และอาทิตย์หน้า จะมาตรวจการบ้านว่า รัฐบาลตอบโจทย์ 10 ข้อที่ตนตั้งคำถาม ได้หรือไม่
**โพลอัด"ปู"แก้น้ำท่วมสุดห่วย
สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในรอบ 6 เดือน จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 5,375 คน สรุปผลได้ดังนี้
การทำงานของ “รัฐบาล” จากคะแนนเต็ม 10 ความตั้งใจในการทำงานของนายกรัฐมนตรี ได้ 6.58 ผลงานของนายกรัฐมนตรี ได้ 5.95 ความ ตั้งใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรีทั้งชุด ได้ 5.86 ผลงานของคณะรัฐมนตรี ทั้งชุด ได้ 5.82 ความจริงใจในการทำงานของรัฐบาล ได้ 5.73 ความสามัคคีของรัฐบาล ได้ 5.64 การให้อิสระแก่ข้าราชการประจำ (ไม่ก้าวก่ายงาน) ได้ 5.51 และความซื่อสัตย์สุจริตของรัฐบาล ได้ 5.16
ขณะที่ ผลงานยอดเยี่ยมในรอบ 6 เดือน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 53.67 % การแก้ปัญหายาเสพติด 32.33 % การขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง และ 14.00 % ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนผลงานยอดแย่ ในรอบ 6 เดือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 52.01 % การแก้ปัญหาน้ำท่วม 36.48 % การแก้ปัญหาสินค้าแพง และ 11.51 % การแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ
ทางด้านผลงานรายกระทรวง จากคะแนนเต็ม 10 พบว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ 6.01 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ 5.93 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ 5.92 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ 5.91 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ 5.90 กระทรวงกลาโหม ได้ 5.89 กระทรวงสาธารณสุข ได้ 5.88 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ 5.85 กระทรวงวัฒนธรรม ได้ 5.82 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ 5.76 กระทรวงการคลัง ได้ 5.66 กระทรวงแรงงาน ได้ 5.61 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ 5.55 กระทรวงพลังงาน ได้ 5.47 กระทรวงยุติธรรม ได้ 5.37 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ 5.32 กระทรวงมหาดไทย ได้ 5.31 กระทรวงคมนาคม ได้ 5.26 และ กระทรวงพาณิชย์ ได้ 5.22
เมื่อจำแนกตามภูมิภาค ประชาชนให้คะแนนรัฐบาลในภาพรวม คะแนนเต็ม 10 พบว่า ภาคเหนือ ให้ 6.01 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ 5.87 ภาคกลาง ให้ 5.75 กรุงเทพฯ ให้5.61 และ ภาคใต้ให้ 4.88