xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ฝาก “ปู” 10 ข้อก่อนทัวร์นกแก้ว-ดักคอแต่งนิทาน พ.ร.ก.กู้ด่า ปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสวนาหัวข้อ ตั้งโจทย์ประเทศไทย หวังอะไรจากทัวร์น้ำท่วม มีนายบุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนาและรับฟังเป็นจำนวนมาก ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ (12 ก.พ.)
พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาบทเรียนหลังน้ำท่วม วิทยากรห่วงเรื่องพร่องน้ำหลังท่วมเสนา อยุธยา จี้เตือนภัยประชาชนและอุตสาหกรรม “อภิสิทธิ์” ฝากนายกฯ ตอบคำถาม 10 ข้อ ช่วงลงพื้นที่ทัวร์นกแก้ว ชี้ หลายเรื่องไม่ชัดเจน ทั้งเงินเยียวยา 5 พันบาท โปรเจกต์ปรับปรุงระบบจัดการน้ำและระบบเตือนภัย รวมทั้งสร้างเขื่อนป้องกันนิคม หวั่นเกิดเรื่อง ส.ส.นำชาวบ้านทุบเขื่อน แฉมีนิทานเรื่องใหม่โจมตี ปชป.อ้างขวาง พ.ร.ก.กู้ ไม่มีเงินทำโครงการ คล้ายทีวีดาวเทียมเคยบิดเบือนว่ากักเก็บน้ำในเขื่อน ฝากนายกฯ ถ้าทำไม่ได้จะสอนหาเงินเองโดยไม่ต้องกู้

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ลานลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มีการจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียนและการจัดการเนื่องจากอุทกภัยในหัวข้อ “ตั้งโจทย์ประเทศไทย หวังอะไรจากน้ำท่วม” โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากรที่เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน อาทิ ดร.สุทัศน์ วีรสกุล นักวิชาการเรื่องน้ำและการจัดการ สถาบันสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที), นายปรเมศวร์ มินศิริ แกนนำกลุ่มไทยฟลัด, นายฉมาดล ชมเชิงแพทย์ รองประธานกรรมการและผู้อำนวยการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท เอ็มแอนด์อาร์ แลบเบอราทอรี่ จำกัด ผู้ผลิตแป้งชุบทอดตราโกกิ ซึ่งมีโรงงานใน อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม, นายอดิสรณ์ เซี้ยวโซลิค ตัวแทนกลุ่มอาสาดุสิต และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมถ่ายทอดความคิดเห็น ประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่จะลงพื้นที่ตลอดสัปดาห์นี้

ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า การจัดการน้ำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ล่าสุดในปีนี้มีความพยายามพร่องน้ำในต้นปีเพื่อเตรียมการรับน้ำ แต่การพร่องน้ำของรัฐบาลทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อไม่นานมานี้ เป็นบทเรียนความผิดพลาดครั้งแรกของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการน้ำในปีนี้ในเรื่องการประสานงาน จึงอยากฝากให้รัฐบาลตัดสินใจให้ถูกต้องและรวดเร็วกว่านี้ ควรกำหนดพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำให้ได้ 6 ใน 10 ส่วนของน้ำทั้งหมด

ส่วน นายปรเมศวร์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเตือนภัย ที่จะต้องมีการเตือนที่รวดเร็วในพื้นที่แต่ละพื้นที่ ต้องมีการเตือนไปก่อนแล้วค่อยชี้แจงในภายหลัง โดยการเตือนภัยต้องมีความสัมพันธ์กับระดับน้ำที่อยู่ด้านบน ควรมีการติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการแจ้งเตือนเป็นจังหวัด จึงไม่มีความละเอียดพอ ต้องมีตัวแทนดูในที่ต่างๆ แล้วรายงานมาที่ส่วนกลางว่าระดับน้ำสูงเท่าใด เพื่อคำนวณปริมาณน้ำที่จะลงมายังพื้นที่ต่อไป และสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ทั้งนี้อยากฝากรัฐบาลให้ดูรายละเอียดในเรื่องการระบายน้ำลงพื้นที่ต่ำและสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและวัดระดับน้ำภาคประชาชนเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล

ขณะที่ นายฉมาดล กล่าวในแง่ของภาคธุรกิจเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรม ว่า ตอนนี้มีความเป็นห่วงเรื่องการประกันเกี่ยวกับอุทกภัย ซึ่งในปีที่แล้วทางโรงงานได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟูจากการประกันมาก แต่ไม่แน่ใจในการประกันภัยสำหรับปีนี้ อีกทั้งที่ผ่านมาก็ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ อีกทั้งความเครียดตอนนี้ยังอยู่ที่ระดับ 10 เต็ม 10 จึงอยากฝากให้รัฐบาลดูเรื่องการเตือนภัยโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูง

ส่วน นายอดิสรณ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ประชาชนมีความกังวลหลายอย่างที่สืบเนื่องกันว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ ระดับน้ำจะสูงเท่าไร น้ำจะท่วมนานกี่วัน น้ำท่วมแล้วอยู่ที่บ้านได้หรือไม่ ถ้าอยู่บ้านไม่ได้แล้วจะอยู่ที่ใด หากอพยพไปแล้วบ้านจะปลอดภัยไหม และหลังน้ำลดเอาเงินที่ไหนซ่อมบ้าน ซึ่งสิ่งต่างต่างเหล่านี้สะท้อนความไม่มั่นใจของประชาชน ส่วนในเรื่องของการกระจายความช่วยเหลือต้องแบ่งโซนในการจัดการอาสาเพื่อลงพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งฝากรัฐบาลให้ดูเรื่องพื้นที่ฟลัดเวย์และการจ่ายเงินค่าชดเชย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกกังวลใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นสถานการณ์จำลองเล็กๆ ที่สะท้อนว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งที่คาดหวังว่าประสบการณ์จากปีที่แล้วจะทำให้รัฐบาลเรียนรู้บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับปริมาณน้ำ เส้นทางน้ำ และบอกประชาชนได้ว่าควรทำอย่างไร แต่วันนี้คำอธิบายของทางการก็ไม่ตรงกัน บางฝ่ายยอมรับว่าเกิดจากการปล่อยน้ำในเขื่อน แต่บางฝ่ายบอกว่าเป็นปัญหาจากฝนที่ตกในพื้นที่ ทำให้เกิดความสับสน จึงสงสัยว่าคำว่า ซิงเกิ้ลคอมมาน (Single Command) คืออะไร หากมีการดำเนินการแล้วทำไมจึงไม่ได้ผล ทั้งนี้เห็นว่าพื้นที่เสนาถือเป็นการซ้อมเล็ก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อหน้าฝนมาถึงยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ซึ่งเฉพาะเดือนมกราคมปริมาณน้ำฝนสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 4 เท่า รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนก็มากกว่าเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ตนจะเสนอโจทย์ให้นายกรัฐมนตรีตอบคำถาม 10 ข้อและจะตรวจการบ้านในสัปดาห์หน้า หลังนายกรัฐมนตรีจบการลงพื้นที่ คือ ข้อ 1 นายกต้องตามไปดูเรื่องการชดเชยเยียวยาให้ครบถ้วนก่อน เพราะตนไปหลายพื้นที่ทั้งเงินเยียวยา 5 พันบาท เงินชดเชยพื้นที่การเกษตร ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับ ซึ่งตนไม่คาดคั้นว่าต้องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้สรุปว่ายังไม่จ่ายเท่าไหร่จะจ่ายได้ภายในวันที่เท่าไหร่

ข้อ 2 ในขณะที่ยังพูดถึงสารพัดโครงการปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดว่ามีคูคลองส่งน้ำ คลองชลประทาน ประตูระบายน้ำกี่แห่งที่ยังไม่ซ่อมแซม และใช้เวลาเท่าไหร่ มีคนมาฟ้องว่าประตูน้ำบางโฉมศรี จ.สิงห์บุรียังไม่ได้ซ่อม ในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้วมีประตูระบายน้ำใช้ไม่ได้ถึง 11 แห่งโดยที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ.ไม่ทราบ ใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่าจะซ่อม ข้อ 3 มีโครงสร้างประตูระบายน้ำและการระบายน้ำให้สัมพันธ์กันอย่างไร เพราะอ้างว่ามีซิงเกิ้ลคอมมานแต่ระบบการประสานการบริหารจัดการในแต่ละจุดจะสร้างขึ้นมาอย่างไร เพราะในช่วงน้ำท่วมตนไปบริเวณประตูระบายน้ำ ผู้ดูแลไม่รู้ว่านโยบายคืออะไร และไม่รู้ว่าต้นน้ำและปลายทางจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ต้องเปลี่ยนตรงนี้ต้องให้มีการเชื่อมระบบประสานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและการเปิดปิดประตูน้ำจะเชื่อมโยงกันอย่างไร

ข้อ 4 ระบบการพยากรณ์แบบจำลองและการเตือนภัย เป็นสิ่งที่คนต้องการทราบ เพราะเข้าใจว่าป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องบอกล่วงหน้าให้แม่นยำในระดับหนึ่ง ระบบนี้เมื่อไหร่จะเสร็จ เพราะตามแผนของรัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน หรือ กยน.บอกว่า สิ้นเดือนมกราคม แบบจำลองจะเสร็จ วันนี้อยู่ที่ไหน นายกฯ เดินทางไปบอกกับประชาชนได้หรือไม่ว่าระบบเตือนภัยอยู่ตรงไหน ตนคุยกับเอกอัครราชทูตท่านหนึ่งพบว่า มีปัญหามากเพราะรัฐบาลแจ้งไปยังสถานทูตหลายครั้งไม่เหมือนกัน เช้าบอกไม่มีปัญหาบ่ายบอกท่วมแน่ จนกระทั่งทูตท่านนั้นต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อรัฐบาลแจ้งว่าน้ำจะท่วม ทูตท่านนั้นก็ไม่เชื่อแต่ไปตรวจสอบกับประชาชนที่อยู่ริมคลองใกล้เคียงแทน และสุดท้ายน้ำก็ไม่ท่วมตามที่รัฐบาลแจ้ง ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการบริหารของรัฐบาล

ข้อ 5 พื้นที่แก้มลิงบอกได้หรือยังว่าอยู่ตรงไหน เพราะถ้าบอกไม่ได้วันที่น้ำมาจริงก็จะจัดการไม่ได้ ตนแปลกใจที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะกลัวมวลชนต่อต้าน จึงอยากถามว่าถ้าวันที่น้ำมามวลชนจะไม่ต่อต้านหรือ หากไม่มีการบอกล่วงหน้า ดังนั้นรัฐบาลต้องกล้าที่จะบอกความจริงและรับฟังความเห็นประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อให้ชาวบ้านเกิดการยอมรับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหามวลชนจนแก้ไม่ได้ ตนกลัวแต่ว่ารัฐบาลจะบอกว่าฟลัดเวย์อยู่ตรงไหนให้รอดูตอนท่วม คือ รู้พร้อมประชาชน ไม่ได้รู้ล่วงหน้าเพื่อแก้ปัญหา นายกฯ ต้องคุยตั้งแต่พิษณุโลกถึงนครสวรรค์ว่าจะตกลงกติกาอย่างไร ข้อ 6 โครงการระยะกลางและยาว ต้องบอกได้ว่าแต่ละพื้นที่ว่าจะมีโครงการอ่างเก็บน้ำ เขื่อน อย่างไร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคือ ข้อ 7 ที่ผ่านมา ไม่มีหน่วยงานกลางช่วยประสานงานกับจิตอาสา ทำให้เกิดปัญหาการช่วยเหลือซ้ำซ้อน บางพื้นที่ชาวบ้านมีคอลเล็คชั่นถุงยังชีพได้ทุกประเภท แต่อีกหลายพื้นที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เป็นเพราะไม่มีหน่วยงานไหนคอยประสานในเรื่องนี้ นายกฯ ควรจะจัดทำรูปแบบให้ชัดเจน ซึ่งตนเคยเสนอให้มีองค์การต่างหากทำเรื่องนี้นอกระบบราชการดูแลเรื่องถุงยังชีพประสานภาคเอกชนและกลุ่มอาสา, ข้อ 8 ระบบการอพยพไม่มีแบบสากล ใช้วิธีว่าน้ำมาใกล้แล้วให้ออกมาจากบ้านแต่ไม่รู้จะให้ประชาชนไปที่ไหน และเกิดปัญหาประชาชนออกบ้างไม่ออกบ้าง เนื่องจากไม่มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บางพื้นที่ต้องบังคับอพยพ เพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือและจัดศูนย์อพยพให้ ลดภาระของเจ้าหนาที่ ต้องมีการตั้งบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำเรื่องนี้

ข้อ 9 เรื่องธุรกิจรัฐบาลไม่มีความชัดเจน โดยในส่วนนิคมอุตสาหกรรมจะมีการสร้างเขื่อนป้องกัน แต่ก็ยังมีปัญหาว่าการสร้างเขื่อนทำได้แค่ปกป้องทรัพย์สิน ไม่สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ ในขณะที่ชุมชนจมน้ำอยู่นอกนิคม จะเกิดปัญหา ส.ส.นำชาวบ้านไปทุบเขื่อนของนิคมฯ หรือไม่ อีกทั้งนิคมฯ ไม่มีรายได้จ่ายเงินค่าก่อสร้าง ทำให้บางโรงงานสร้างกำแพงของตัวเอง ในขณะที่รัฐบาลไม่เข้าไปดูแล และแม้แต่นิคมที่เริ่มสร้างเขื่อนแล้วก็ยังต้องใช้เวลา 2 ปี จึงไม่ใช่คำตอบที่จะแก้ปัญหาปีนี้ รวมถึงต้องมีคำตอบเรื่องกองทุนประกันภัยด้วยว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร

ข้อ 10 ช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ เจอนิทานปล่อยน้ำจากเขื่อนให้ท่วมประเทศ โดยมีทีวีดาวเทียมบิดเบือนข้อมูลว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์เก็บน้ำในเขื่อน ซึ่งตนได้คุยกับตัวแทนของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ มีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาของแต่ละประเทศที่ประสบอุทกภัยในช่วงเดียวกัน ที่น่าสนใจ คือ ประเทศลาว มีการตัดสินใจปล่อยน้ำหมดเขื่อนแบบควบคุมและบังคับให้ประชาชนที่อยู่ตามทางน้ำผ่านอพยพออก ผลก็คือ ไม่มีคนเสียชีวิต ควบคุมบริหารจัดการได้ ต่อมาเขื่อนก็รับน้ำกลับไปตามปกติ โดยการตัดสินใจของทางการลาวเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่าการปล่อยน้ำควรทำในช่วงสิงหาคมและกันยายน แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ทำ

“ในขณะนี้ก็เริ่มเล่านิทานเรื่องใหม่ว่าถ้าน้ำท่วมปีนี้เป็นความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะส่ง พ.ร.ก.กู้เงินตีความจนไม่มีเงินมาทำโครงการแก้ปัญหา ผมก็บอกว่าให้นายกฯ บอกทุกโครงการที่จำเป็นต้องใช้เงินทันทีมาให้ผมดู หากจำเป็นจริงผมยินดีถอนชื่อจากการตีความ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะความจริงรัฐบาลยังมีเงินที่ยังไม่อนุมัติถึง 1.5 แสนล้าน ที่อนุม้ติไปแล้วก็ยังไม่ลงมือดำเนินการ ส่วนอีก 3.5 แสนล้านที่จะกู้ใหม่ เป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 56 เสร็จ ปี 59 ไม่ใช่แก้ปัญหาน้ำในปีนี้ ผมจึงไม่อยากให้มีการเล่านิทานกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์เหมือนปีที่แล้ว ถ้านายกฯ ทำไม่ได้ผมจะสอนให้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้โดยไม่ต้องกู้ และอาทิตย์หน้าจะมาตรวจการบ้านว่ารัฐบาลตอบโจทย์ 10 ข้อที่ตนตั้งคำถามได้หรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น