xs
xsm
sm
md
lg

เอาอยู่!"ปู"คุมน้ำ เอกชนเซ็งตั้งซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.ตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) นายกฯ เป็นประธาน กยน. เป็นแค่ที่ปรึกษา "มาร์ค" หวั่นเหลวซ้ำรอย ศปภ. ขณะที่เอกชนเซ็ง จะตั้งให้ซ้ำซ้อนทำไม ที่มีอยู่ทำไมไม่ทำให้ดี "ปู"ควงครม.ตะลอนทัวร์ลุ่มน้ำ 13-17 ก.พ.นี้ ยังอุบพื้นที่รับน้ำ หวั่นเจอต้าน เพื่อไทยหาทางลง หาก 2 พ.ร.ก.กู้ไม่ผ่าน เตรียมดันเป็นพ.ร.บ.เข้าสภา 3 วาระรวด

นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 ก.พ.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) เพื่อกำหนดนโยบายในการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นที่ปรึกษา และให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการอื่นๆ ตามนโยบายของกนอช. รวมทั้งกำกับดูและและติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานนโยบายและบริการจัดการน้ำและอุทกภัย (สนอช.) ปฏิบัติหน้าที่ให้กับกบอ.

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ กบอ. สามารถแก้ไขปัญหา อุปสรรค ในการแก้ไขปัญหาน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับร่างระเบียบระเบียบนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติดังกล่าว ระบุว่า เสนอให้มีองค์กรหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ในฐานะศูนย์กลางหลักในการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับอุทกภัยทั้งระบบ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน การสั่งการ และการแก้ไขปัญหา เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความสอดคล้องในการอำนวยการบริหารจัดการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง นำไปปฏิบัติในทุกพื้นที่ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

***ตั้ง"พยุงศักดิ์"ดูกองทุนประกันภัย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ โดยมีนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการ กยน. นายจักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นายอารีพงษ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นกรรมการ มีหน้าที่พิจารณาแนวทางในการระดมทุน คือ การกู้เงินจากภาครัฐและการออกพันธบัตรให้กับสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ภายใต้งบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยยืนยันว่า มีงบประมาณเพียงพอต่อการประกันภัย

ส่วนกรณีที่ตนเองไม่ร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนฯ นี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการชี้นำมากเกินไป เพราะตนมีหน้าที่ดูแลคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และให้ความคิดเห็นเชิงนโยบายอยู่แล้ว

**หวั่น กนอช. เหลวซ้ำรอย ศปภ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีครม.มีมติตั้ง กนอช. โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ความจริง นายกฯ สามารถใช้อำนาจกฏหมายตามปกติ คือ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฏหมายพิเศษในบางเรื่อง เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ได้อยู่แล้ว หากมีความเข็ดขาดพอสมควรในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และไม่คิดว่า การมีคณะกรรมการขึ้นมาโดยมีนายกฯ เป็นประธาน จะเป็นคำตอบ เพราะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ก็เหมือนกับเป็นคณะกรรมการที่นายกฯ เป็นประธานอยู่แล้ว

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการจัดระบบ เวลาเกิดสถานการณ์ขึ้นมา แล้วปล่อยให้แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่โดยขาดเอกภาพ ผู้นำรัฐบาลมีหน้าที่กำหนดให้ทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน ยังไม่เคยเห็นกรณีนายกฯ ขาดอำนาจ แต่ที่ผ่านมาการมี ศปภ.ไม่ได้ช่วยสร้างเอกภาพในการทำงาน เพราะต่างคนต่างทำงาน และยังมีปัญหา โดยที่ศปภ.ไม่มีความชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์การกระบายน้ำคืออะไร ตลอดเวลาที่น้ำท่วมปีที่แล้ว คนฟังข้อมูลจากนักวิชาการอิสระ การรับการช่วยเหลือในส่วนของศปภ. ก็มีการเมืองแทรกแซง รัฐบาลต้องสรุปบทเรียน เพราะปัญหาอยู่ที่วิธีการบริหารด้วย เพราะการปรับปรุงโครงสร้าง ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ว่า การมีคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาจะเป็นคำตอบ ซึ่งคงต้องดูรายละอียดว่าเป็นอย่างไร"นายอภิสิทธิ์กล่าว

***เอกชนเซ็งตั้งคณะทำงานใหม่ซ้ำซ้อน

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รัฐบาลไม่ต้องตั้งอะไรเพิ่มเติม ในปัจจุบันให้เร่งทำแผนจัดการน้ำโดยเร็วน่าจะเป็นสิ่งที่ดีสุด เพราะขณะนี้รัฐบาลออกแผนและมาตรการต่างๆ มามาก แต่ทางปฏิบัติยังไม่เห็นรูปธรรม โดยเฉพาะแผนการจัดการระบบคู คลองต่างๆ ที่จะระบายน้ำ ขณะที่การทำงานของเอกชนนั้นได้ล้ำหน้ารัฐไปมากแล้ว

“ถ้าการตั้งคณะทำงานน้ำเพิ่มเข้ามาแล้ว มาช่วยกันน้ำได้ ผมก็ยินดีนะ เพราะถ้าไม่ทำกันตอนนี้ก็คงไม่ทันแล้ว น้ำจะมาอีก 4-5 เดือนนี้ แต่เรายังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมจากรัฐเลย”นายนิพิฐกล่าว

ทั้งนี้ ส่วนของเอกชน ล่าสุดผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ประสบภาวะน้ำท่วม ก็เร่งดำเนินการสร้างคันกั้นน้ำรอบนิคมฯ กันแล้ว ซึ่งนวนครเองเริ่มนำเครื่อจักรเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างคันกั้นน้ำ ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาทโดยจะเริ่มก่อสร้าง 15 ก.พ. โดยเบื้องต้นก็ต้องควักเงินจ่ายเองก่อน เพราะยังต้องรอขั้นตอนจากราชการในการขอกู้เงินจากธนาคารออมสิน

** "ปู"นำครม.ทัวร์ลุ่มน้ำ13-17 ก.พ.

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงลำดับการลงพื้นที่ของรัฐมนตรี ในการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ ว่า มีการซ้ำซ้อนกับรัฐมนตรีคนใดหรือไม่ หรือต้องการจะเปลี่ยนไปจังหวัดไหนหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการที่นายกฯ จะออกเดินทางไปพบพี่น้องประชาชน ตะลอนทัวร์

ทั้งนี้ ในการหารือในเรื่องนี้ นายกฯ แย้งว่า ไม่อยากให้ใช้คำว่า ตะลอนทัวร์ แต่อยากให้ใช้ชื่อว่า "ทัวร์สร้างความสุข สร้างความหวัง" พร้อมทั้งแจ้งครม.ว่า อยากให้รัฐมนตรีนั่งรถตู้ หรือร่วมขบวนกัน ส่วนผู้ติดตาม ควรจะไปล่วงหน้า หรือตามหลังไป ไม่ควรจะร่วมคณะเยอะจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรได้

** เจอชาวบ้านทวงเงิน 5 พันบาทแน่

นายนิวัติธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการที่ยังไม่มีรายละเอียดว่า ขณะนี้มีงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่ยังไม่ได้ลงไปในรายละเอียด ซึ่งมีเวลาอีกไม่กี่วันที่นายกฯ จะลงพื้นที่ เพราะฉะนั้น กรอบวงเงินงบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ตอนนี้มีการอนุมัติไปแล้ว 7 หมื่นกว่าล้านบาท ขาดอยู่ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีแต่หัวโครงการ แต่ไม่มีรายละเอียด

"เมื่อนายกฯ ลงพื้นที่ ก็จะมีคนเข้ามาถามเรื่องพวกนี้ เราต้องสามารถอธิบายได้ ถ้าตรงไหน อยู่ในเส้นทางที่จะไป แล้วงบฯไม่ชัดเจน ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะที่เราไปต้องมีการอธิบายความกับเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งก่อนที่จะปรับ ควรจะมีการปรับเปลี่ยนก่อนที่จะเจอปัญหา ณ หน้างาน และอีกปัญหาที่อาจจะพบ คือ การอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาฟื้นฟู ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 5 พันบาท สำหรับกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ทางรัฐบาลอนุมัติได้แค่เพียง 50% เชื่อว่าจะมีคนมาพบ ถามถึงเงิน 5 พันบาท เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งรัดและอนุมัติจ่ายออกไป"นายนิวัติธำรงกล่าว

** ยังอุบพื้นที่รับน้ำหวั่นถูกต้าน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการลงพื้นที่ทัวร์ลุ่มน้ำ ช่วงวันที่ 13-17 ก.พ. ว่า จะมีคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อประชุมเตรียมงาน และจะมีอีกส่วนหนึ่งติดตามคณะลงพื้นที่

ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำ เรื่องการชดเชย เยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่รับน้ำและแก้มลิงนั้น ขณะนี้ได้วางกรอบแล้ว ทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก แต่เป็นการรู้คร่าวๆ แต่สิ่งที่เราอยากได้แน่นอน คือ แผนที่ ที่ กยน. วางไว้กับส่วนของจังหวัดนั้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เราก็จะเลือกบริเวณนั้น

เมื่อถามว่า จะมีการจ่ายค่าชดเชย อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ค่าชดเชย จะแจ้งภายหลัง แต่ขออนุญาต เชิงรายละเอียดคงไม่ขอประกาศทั้งหมด แต่ยืนยันว่า เรามีมาตรการดูแล ชดเชย โดยเราจะค่อยๆ ชี้แจงเป็นเรื่องๆ ไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน เพราะเราจะนำแผนทั้งหมดไปคุยในแต่ละจังหวัด

"เราไม่ขอประกาศก่อน ขอกราบเรียนว่า บางครั้งเราต้องขอเข้าไปคุยกับมวลชนก่อน ให้เกิดความเข้าใจ และคุยกันให้รู้เรื่อง เพราะบางครั้งการประกาศไปแล้ว จะเกิดความเข้าใจผิด แล้วเราไปหารือจะกลายเป็นว่ามีผลกระทบ เราจึงขอลงพื้นที่ไปทำงานก่อน ขอกราบเรียนว่าเราแผนมีอยู่แล้ว"นายกรัฐมนตรีกล่าว

** แฉวาระซ่อนเร้น"เขื่อนแก่งเสือเต้น"

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเดินสายทัวร์นกขมิ้น ของนายกฯ ใน 25จังหวัด จะมีการพูดคุยในเรื่องแผนระยะสั้นเท่านั้น เพราะยังไม่มีแผนระยะยาว อีกทั้งนายเสรี ศุภราทิตย์ กรรมการ กยน. ก็บอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดพื้นที่รับน้ำ การลงพื้นที่เป็นเพียงการดูหน้างานเท่านั้น อีกทั้ง กยน. มีการตกลงกันลับๆ ในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงเห็นว่าเป็นการจงใจปิดบังความลับกับประชาชน

***กทม.ประชุมวางแผนขุดลอกคูคลอง

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ กทม. นายจุมพล สําเภาพล รองปลัดกทม. นายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ได้เรียกผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต มาประชุมวางแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในวาระแผนงานขุดลอกคูคลอง

นายวัลลภกล่าวว่า ได้มีการมอบแนวทางให้สำนักงานเขตและสำนักการระบายน้ำ เร่งรัดขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ และการกำจัดวัชพืชให้เสร็จภายในเดือนพ.ค. เพื่อรองรับน้ำฝนและปริมาณที่จะไหลเข้ากรุงเทพฯ โดยคลองหลักที่เร่งดำเนินการ ต้องมีคลองที่มีความเชื่อมโยงกับระบบระบายน้ำหลัก และเป็นคลองที่เป็นแก้มลิงได้ โดยหลัง 10 ก.พ.นี้ กทม.จะมีข้อมูลและแผนงานทั้งหมดว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบพื้นที่ใด เพื่อจะทำให้กทม.กำหนดแผนงานได้ชัดเจนว่าจะเร่งทำพื้นที่ใดก่อน และยังได้สั่งการสำนักงานเขตทั้งหมด จัดทำแผนกำจัดวัชพืชในคูคลองที่เสี่ยงกับการขวางทางน้ำภายใน 14 ก.พ.นี้ด้วย

"คิดว่าระบบการป้องกันน้ำท่วมของ กทม. มีประสิทธิภาพในการรับมือดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขุดลอกคูคลองและการเปิดทางน้ำไหลจะทำให้คลองต่างๆ ลึกและกว้างขึ้น ซึ่ง กทม.ก็มีความมั่นใจ เนื่องจากเครื่องสูบน้ำของ กทม. มีความพร้อมถึง 90% ที่เหลืออีก 10% อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง โดยเรื่องที่น่าห่วง คือ พื้นที่ที่ยังขุดลอกคลองไม่ได้ เนื่องจากติดบ้านเรือนประชาชนที่ลุกล้ำคลอง ก็จะมีการปล่อยให้เป็นพื้นที่ฟันหลอไว้ก่อน โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบในสัปดาห์หน้า"นายวัลลภกล่าว

***ทอท.ทุ่ม50ล้านทำรั้วกั้นดอนเมือง

ว่าที่เรืออากาศโทอนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ปีนี้ แม้จะมีปริมาณน้ำหลากเข้ามายังกทม.มาก แต่ยืนยันว่า ทอท.จะไม่ยอมให้น้ำไหลเข้ามายังสนามบินดอนเมือง จนต้องปิดทำการบินอย่างเด็ดขาด เพราะในปีนี้ ทอท.ได้เตรียมงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ในการเข้ามาทำรั้วสูงกว่า 3 เมตร รอบสนามบินสูงทั้ง 3 ทิศทาง รวมถึงจะปรับระบบ และวางแผนการระบายน้ำภายในสนามบินดอนเมืองใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้นทาง ทอท.จะยกระดับถนนด้านทิศเหนือ ของสนามบิน คือ ถนนจันทรุเบกษา และถนนธูปะเตมีย์ ให้มีความสูงขึ้นกว่า 3.50 เมตร เพื่อเป็นแนวป้องกันสนามบินได้อีกทางหนึ่ง

***"เด็จพี่"ปูดปรับ2พ.ร.ก.กู้เป็นพ.ร.บ.

วันเดียวกันนี้ ที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมส.ส.ของพรรค เพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองประจำสัปดาห์ โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุมว่า เรื่องที่สมาชิกและ ส.ส.ของพรรคมีความกังวล คือ เรื่องที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ พ.ร.ก. 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการโอนหนี้ และการกู้เงิน หากพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ออกมาไม่ทัน จะทำให้รัฐบาลไม่งบประมาณไปดำเนินการปกป้องภัยภิบัติจากน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้ รวมทั้งเงินที่จะไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายบริหารจะต้องหาทางแก้ไข หาก พ.ร.ก.ออกมาไม่ทัน ทุกอย่างเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องรอผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงกรณีถ้าหาก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ถูกตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกพรรคฝ่ายค้าน และกระแสสังคม ออกมาเคลื่อนไหว กดดันให้รัฐบาลลาออก หากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ที่จะตัดสินใจ แต่เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ลาออก และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลาออก

"หากพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับไม่ผ่านจริงๆ รัฐบาลได้เตรียมแผนไว้แล้ว โดยจะนำเสนอออกเป็นร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่สภา โดยผ่านความเห็นชอบ 3 วาระรวดทันที"นายพร้อมพงศ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น