xs
xsm
sm
md
lg

จี้ปูพูดความจริง“ฟลัดเวย์” 8 แสนครัวเรือนยังไม่ได้เงินช่วยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 ก.พ.55)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel เกี่ยวกับแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำฯ ของรัฐบาล ว่า ตนได้อ่านรายละเอียดแล้ว และเห็นว่าโดยหลักก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้เสนอมาอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้อยากเห็นเป็นรูปธรรม เพราะจะเป็นตัวเร่งความเชื่อมั่น
ส่วนเรื่องการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมที่อาจสร้างเขื่อน หรือสร้างกำแพงนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากที่ตนได้คุยกับภาคเอกชนพบว่า เป็นการทำเพื่อปกป้องทรัพย์สิน แต่หากเกิดน้ำท่วมจริง โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ก็ทำงานไม่ได้ เพราะคนงานในโรงงานอาศัยอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่ดี อีกทั้งการทำลักษณะนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่ตัวหลักคือแผนบริหารจัดการระบายน้ำที่เป็นภาพรวมของรัฐบาล

**จี้นายกฯพูดความจริงสร้างฟลัดเวย์
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯให้สัมภาษณ์ถึง แผนการจัดการน้ำซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเตือนมาตลอดและยังยอมรับว่า การสร้างฟลัดเวย์ (ทางน้ำผ่าน)หรือ ที่รองรับน้ำ(แก้มลิง) ยังไม่สามารถระบุได้จะใช้พื้นที่บริเวณใด แต่พื้นที่ที่จะสามารถใช้รับน้ำได้ก็ไม่กล้าเปิดเผยความจริงเพราะกลัว ประชาชนแตกตื่นว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่ประเทศไทยมีนายกฯมีความคิดอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่คนที่เป็นถึงนายกฯไม่กล้าเปิดเผยความจริงให้กับประชาชนเพราะกลัวประชาชนแตกตื่น ตกลงท่านไม่รู้หรือว่าท่านไม่มี หรือมีแล้วไม่บอกกันแน่ คนเป็นนายกฯต้องกลัาตัดสินใจกล้าที่จะเลือกทางที่ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติจะได้เดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ทำงานเหมือนเล่นซ่อนหา และขณะนี้จังหวัดที่ถูกเอ่ยออกมาคือ จ.พิษณุโลก พิจิตร และภาคกลางใครจะอยู่เป็นสุข เพราะไม่มีใครรู้ว่า จังหวัดใดจะถูกใช้เป็นฟลัดเวย์
ส่วนกรณีแนวคิด ดอยตุงโมเดล ของนายกฯ ตนเป็นห่วงแนวคิดและการทำงานของนายกฯคือ 1.ไม่บอกประชาชนว่าแก้มลิงหรือพื้นที่รับน้ำจะอยู่ตรงไหน 2.ท่านบอกว่าพื้นที่ที่มีน้ำท่วมทุ่งอยู่จริงๆแล้วเป็นพื้นที่ที่ต้องการเก็บน้ำไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตลกที่สุด 3.ท่านบอกว่ารัฐบาลสั่งเร่งให้สำรวจการให้เงินเยียวยาให้เสร็จโดยเร็ว แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอาจเข้าใจผิดว่า เป็นการปิดยื่นรับคำร้อง 4.นายกฯพยายามจะบอกว่าการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 5 พัน บาทของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้อาจจะช้าแต่ก็ยังเร็วกว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตนอยากจะเรียนว่า ท่านไปเอาข้อมูลมาจากไหนเพราะรัฐบาลชุดที่แล้วจ่ายเงิน 5 พันบาทให้กับประชาชนในบางพื้นที่ที่น้ำยังไม่ลดเลยด้วยซ้ำไป เราดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ของท่านช้ามา 4-5เดือนแล้ว

**ปชป.เผย 8 แสนครัวเรือนยังไม่ได้เงิน
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรังและในฐานะรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเงากล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม 5 พันบาทของรัฐบาลว่า ตามที่ครม.ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 5 พันบาทให้กับกทม.ประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท แต่เงินเยียวยา 5 พันบาทในขณะนี้ยังมีปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาอีก 64 จังหวัด เพราะยังมีครัวเรือนที่ตกค้างไม่ได้รับเงินถึง 5 แสนกว่าครัวเรือน ส่วนกทม.ประมาณ 3 แสนกว่าครัวเรือน แต่การจ่ายเงินในเขตกทม.ก็อาจจะมีความล่าช้าเพราะมีความแตกต่างในการตรวจสอบสภาพบ้านเรือน แต่สิ่งที่มติครม.ผิดพลาดคือ มีการกำหนดกำหนดระยะเวลาจ่ายเงินเยียวยาในเขตกทม.ให้แล้วเสร็จ 45 วัน และต่างจังหวัดระยะเวลา 60 วัน แต่ทั้งสองช่วงนั้นขณะนี้เกินมาแล้ว
ส่วนที่นางฐิติมา ฉายแสง ออกมาแถลงว่า คำว่า 45-60 หมายถึงช่วงเวลาเร่งรัดที่ต้องการจ่ายให้เสร็จแต่ถ้าไม่ทันสามารถเพิ่มได้นั้น เป็นการพูดหลังจากที่ไม่สามารจ่ายให้แล้วเสร็จได้ เรากำลังจะตั้งข้อสังเกตว่าระบบการจ่ายเงิน 5 พันบาท เราได้ตั้งระบบการจ่ายเงินไว้ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ตนเป็นคนรับผิดชอบและคิดวิธีการจ่าย น้ำท่วมต้นปี 54 เราสามารถจ่ายเงิน 5 พันบาทให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่รัฐบาลชุดนี้มีการพยายามขยายเวลาจ่ายเงินให้พื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมซึ่งเป็นพวกเดียวกับตัวเอง และการจ่ายเงินบางที่มีการรอนักการเมืองของรัฐบาลเข้าไปจ่าย และชะลอการจ่ายไปก่อน แต่ที่แน่ๆคือ มีการพยายามหยิบยกประเด็นกทม.มาโจมตีกทม.เป็นประเด็นการเมืองที่สอดรับกับการที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ในช่วง 1 ปีข้างหน้า
"รัฐบาลต้องตั้งสติให้ถูก อย่าเอาการจ่ายเงินมาเยียวยา 5 บาทมาเป็นประเด็นการเมือง แต่ต้องเร่งจ่ายเงินชดเชย ซึ่งเรื่องใหญ่จ่ายเงินเยียวยาคือ การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคใต้ในช่วงต้นปี 2555 เฉพาะนครศรีธรรมราชจังหวัดเดียว 5 หมื่นกว่าครัวเรือนยังไม่รวมในงบที่รัฐบาลเยียวยาที่อนุมัติช่วงปลายปีที่แล้ว และขณะนี้ จ.นครศรีธรรมราชกำลังขอแต่รัฐบาลยังไม่อนุมัติ แต่สิ่งที่คนในพื้นที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดน้ำท่วมภาคใต้จึงไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทเหมือนที่อื่น ทั้งที่เรื่องถูกส่งมาที่กระทรวงมหาดไทยนานแล้ว"นายสาทิตย์กล่าว
นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันมีบ้านพังทั้งหลังจากอุทกภัยช่วงต้นปี 54 ประมาณ 30 หลัง ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วจ่าย 2.4 แสนบาทต่อหลัง และรัฐบาลนี้เคยรับปากว่าจะจ่ายจำนวนเดียวกัน แต่เหตุใดบ้านที่ถูกน้ำท่วมในภาคใต้ช่วงต้นปี 55 ขอเงิน2.4แสนบาท รัฐบาลปฏิเสธ ดังนั้นตนจึงอยากถามรัฐบาลว่ารัฐบาลใช้ประเด็นทางการเมืองและความสองมาตรฐานในการตัดสินใจจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เงินในกองทุนประสบภัยหมดแล้ว นายสาทิตย์ กล่าวว่า ไม่จริง เพราะเงินในกองทุนยังเหลือหลายร้อยล้านบาท ไม่มีเหตุผลเลย ทำไมรัฐบาลถึงปฏิบัติกับฐานเสียงตัวเองและที่ไม่เลือกตัวเองแตกต่างกัน

**กษ.เร่งระบายน้ำเขื่อนเสร็จ1พ.ค.
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง กรณีที่นายกรัฐมนตรีให้เร่งระบายน้ำในเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ให้เหลือน้ำร้อยละ 45 ของความจุอ่าง ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออก โดยให้ถึงระดับควบคุมภายในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าว่าจะระบายน้ำให้สอดคล้องกับ 10 หน่วยงานที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ได้รับมอบหมายให้จัดหาพื้นที่รับน้ำ สำหรับบริหารจัดการน้ำส่วนเกินนั้น ทางกระทรวงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมตั้งแต่เขื่อนหลัก จนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

**เร่งหาพื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่
นายธีระกล่าวว่า สำหับการหาพื้นที่รับน้ำนอง จำนวน 2 ล้านไร่ในทุ่งเจ้าพระยาตั้งแต่พื้นที่เหนือเขื่อนจนถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเร่งวางมาตรการรับน้ำหลากในฤดูฝนได้ทันในปีนี้ เพราะหากปีนี้มีปริมาณฝนมากใกล้เคียงปี 54หรือเท่าปี 54 เพราะจะต้องมีน้ำที่ต้องปล่อยระบายออกจากเขื่อนหลักหากมีฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีอธิพลต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก หากมีพื้นที่รับน้ำนองจะทำให้น้ำไหลบ่าเข้าพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างลดปริมาณลงได้
ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหาพื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่แล้ว โดยมีนายเจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน คณะทำงานจะลงพื้นที่ในเดือน ก.พ. นี้ และพูดคุยหารือกับชาวนาอย่างตรงไปตรงมาให้พักการทำนาในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. และสอบถามความเห็นจากเกษตรกรเรื่องการชดเชย ก่อนสรุปเสนอ กยน.ได้ภายในเดือนมีนาคม เพื่อให้ที่ประชุมกำหนดพื้นที่เป้าหมายและกรอบวงเงินการช่วยเหลือที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ชาวนาจะต้องเริ่มลงมือปลูกข้าวนาปีและนาปรังเร็วกว่าทุกปีในเดือน มิ.ย. เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จสิ้นก่อนฤดูน้ำหลากมาจากภาคเหนือลดความเสียหายจากอุทกภัย

**กรมชลฯคาดลดการท่วมขังครึ่งหนึ่ง
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปี 2555 เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเก็บกักน้ำหลัก และแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ได้ประชุมวางแผนการบริหารน้ำเขื่อนหลักโดย ทั้งนี้ จะเสนอแผนเข้าที่ประชุม กยน.ให้รับทราบ ในวันที่ 3 ก.พ. นี้ ตามแผนดังกล่าวจะตั้งสมมติฐานปริมาณน้ำฝนเท่ากับปีที่แล้ว และหากการบริหารจัดการทำได้ตามแผน จะทำให้สามารถลดการท่วมขังลงไปได้ครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดกังวลและเป็นอุปสรรค คือเรื่องของพื้นที่น้ำนอง เพราะมาตรการการบริหารจัดการน้ำ ลดการท่วมขังในพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่เมือง อาจทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ทุ่งรับน้ำเร็วขึ้นจากปีที่แล้วเริ่มท่วมในเดือน มิ.ย.- ก.ค. แต่ปีนี้อาจจะเร็วขึ้น หรือเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. ก็จะมีน้ำท่วมขังแล้ว แต่มีพื้นที่ที่ไม่มากนัก

**ยงยุทธมั่นใจน้ำไม่ท่วมเหมือนปี54
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงตรวจพื้นที่ต้นน้ำ จนถึงพื้นที่ปลายน้ำ ตั้งแต่จ.นครสวรรค์ ไล่ลงมาตามเส้นทางน้ำท่วมครั้งก่อน ตั้งแต่จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยเมื่อมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยานั้น จะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมตรวจสอบความพร้อมด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นแม่งานใหญ่ในการเตรียมความพร้อม เพื่อนำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่ทาง กยน.อนุมัติงบประมาณไปก่อนหน้านี้ ซึ่งบางส่วนก็ได้ปรับปรุงระบบการจัดการเรียบร้อยแล้ว ขณะที่บางโครงการยังคงประกวดราคา จัดหา หรือเริ่มดำเนินการก่อสร้างอยู่ ซึ่งคณะของนายกรัฐมนตรี จะติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานให้รวดเร็วให้ทันกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากนี้
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ในปีนี้ น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน เนื่องจากทุกหน่วยงานมีประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมการจัดการร่วมกับประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งเท่าที่ได้ตรวจสอบไปยังจังหวัดต่าง ๆ ก็ตั้งใจทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้

**ประยุทธ์สั่งเตรียมแผนรับมืออนาคต
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในการ ประชุมว่า ผู้บัญชาการทหารบกสั่งการให้ทุกหน่วยงานของกองทัพบก ศึกษาข้อมูล และนำบทเรียนจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา จัดเตรียมเป็นแผนรองรับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยครอบคลุมทั้งการช่วยเหลือประชาชน การบริหารสิ่งของ การบริหารจัดการน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันกองทัพบกพร้อมสนับสนุนหน่วยทหารช่างเฉพาะกิจในการขุดลอกคูคลอง เพื่อป้องกันอุทกภัย ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กทม.

**กทม.ปัดจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมช้า
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกทม. กล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม 5,000 บาท ว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ใน 30 เขตแรก ซึ่งครม.ได้อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2554 จำนวน 621,355 ครัวเรือน รวมเป็นเงิน 3,106,775,000 บาท โดยให้ระยะเวลาในการดำเนินการยื่นคำร้อง นับจากวันที่ครม.อนุมัติ 45 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 31 ธ.ค.2554 แต่กทม.ได้ขอขยายเวลาเพิ่มเติมออกไป เป็นวันที่ 31 ม.ค.2555 เพื่อช่วยเหลือประชาชน 30 เขตแรก ให้มายื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้ง
ส่วนปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเงินเยียวยาน่าจะมี 3 สาเหตุ 1.ครม.ได้ขยายเวลาการยื่นคำร้อง จากเดิม 31 ธ.ค.2554 เป็น 31 ม.ค.2555 2.ครม.มีการอนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม ใน 30 เขตจาก 621,355 ครัวเรือน เพิ่มอีก 260,197 ครัวเรือน รวมทั้งมีการประกาศจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มอีก 12 เขต และ 3.ตามมติ ครม.การอนุมัติเงินเยียวยาจะต้องผ่านคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ได้ตรวจสอบก่อนนำเข้าครม. ซึ่งพบว่า กฟย.เพิ่งมีการประชุมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กทม.ได้รวบรวมเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย(ปภ.) แล้ว โดยยืนยันว่ากทม.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าวทั้งสิ้น
"กทม. ทำงานเต็มที่ แต่มีกระแสข่าวว่ามีการโอนเงินมาให้ผู้ว่าฯกทม.เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้มีการเบิกจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามเมื่อครบวันที่ 31 ม.ค.2555 เป็นวันที่ครบยื่นคำร้องใน 30 เขต ส่วนอีก 12 เขตที่เหลือ จะนับจากวันที่ 31 ม.ค.2555 ออกไปอีก 45 วัน โดยจากนี้ไปกทม.จะดำเนินการทำเรื่องขอเงินค่าซ่อมแซมบ้าน รายละไม่เกิน 20,000 บาท ต่อไป" นายวสันต์ กล่าว

**รับวินิจฉัย8สส.พท.-ปชป.จุ้นถุงยังชีพ
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และพวกรวม 83 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรมส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลง เพราะก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีการถุงยังชีพที่จ.พิษณุโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังพิจารณากรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ นายอภิสิทธิ์ และ ส.ส. 153 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของ 8 ส.ส. พรรคเพื่อไทย ให้สิ้นสุดลง เพราะใช้ตำแหน่งหน้าที่ ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีใช้ตำแหน่ง ส.ส. เข้าเป็นกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าทั้งสองคำร้อง มี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส. ทั้งหมด เข้าชื่อครบถ้วน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น