xs
xsm
sm
md
lg

“ธงทอง” คาดจ่ายม็อบชัดสัปดาห์หน้า แย้มชะลอพวกติดคดี รับข้อมูลปี 48 ไม่ครบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(ภาพจากแฟ้ม)
อนุฯ เยียวยาม็อบ รับข้อมูลผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 48-50 ไม่ครบถ้วน จ่อเช็กผู้บาดเจ็บ พิการติดคดีหรือไม่ แย้มอาจชะลอจ่ายหากคดียังไม่สิ้นสุด เชื่อหลักเกณฑ์จ่ายเงินชัดสัปดาห์หน้า


วันนี้ (6 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น. นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมตรี ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น ซึ่งเป็นการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) แถลงภายหลังการประชุมว่า จากการที่มอบหมายการทำงานให้คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ได้แก่ 1. คณะของนางสุวนา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่เก็บข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมว่าใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่าไหร่ 2. คณะของนางระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหน้าที่คิดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินและตรวจสอบรายละเอียดของผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา และคณะที่ 3 ของนายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ คณะกรรมการ ปคอป.มีหน้าที่ดูรายละเอียดของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

นายธงทองกล่าวต่อว่า จากการรายงานของคณะทำงานชุดที่ 1 ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลจากปลายปี 2548 ยังมีความกะท่อนกะแท่นอยู่พอสมควร โดยมีการเก็บข้อมูลและมีการเยียวยาไปแล้วบ้างด้วยมาตรการของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 แต่ขณะนี้ยังขาดข้อมูลบางอย่างที่เราต้องไปค้นต่อ คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเสียชีวิตจำนวนเท่าไหร่ บาดเจ็บทุพพลภาพเท่าไหร่ และบุคคลเหล่านั้นมีสถานะทางคดีหรือเปล่า เนื่องจากเป็นข้อถกเถียงในเวลาการทำงานของเราที่สังคมมีข้อวิพากษ์อยู่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและทุพลภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องตรวจสอบว่ามีสถานะทางคดีอยู่ หรือถูกตรวจสอบอะไรหรือไม่ และคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งทางคณะกรรมการได้เน้นย้ำให้มีการค้นหาข้อมูลโดยเร็ว เพื่อความชัดเจน

นายธงทองกล่าวต่อว่า ส่วนคณะที่ 2 เป็นผู้ที่วางหลักเกณฑ์ได้ระบุว่าอยากจะทำงานร่วมกับชุดที่ 1 อย่างใกล้ชิด ตนจึงให้เวลาภายในสัปดาห์นี้ เร่งติดตามข้อมูลทุกอย่าง ซึ่งในวันนี้ได้รับความกรุณาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข รวบรวมเก็บข้อมูลมารวมกัน อย่างน้อยข้อมูลตั้งแต่ปี 51-55 น่าจะได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกันมีความสมบูรณ์มากที่สุด ส่วนปี 48-50 นั้น แม้ยังไม่ครบก็ไม่เป็นไร เราอยากจะเห็นกลุ่มที่เป็นประชากรกลุ่มสำคัญที่มีจำนวนมากที่สุด และดูสถานะของเรื่องทั้งหมดว่ามีใครเป็นอะไรอย่างไรบ้างมีมิติทางคดีเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร

นายธงทองกล่าวว่า และในวันจันทร์ที่ 13 ก.พ.นี้ ประธานคณะทำงานที่ 1 และ 2 จะนัดคุยกันนอกรอบเพื่อการทำงานที่ใกล้ชิดมากขึ้น และจะนำข้อหารือมาเสนอในที่ประชุมของคณะกรรมการซึ่งจะประชุมกันอีกครั้งในช่วงเช้า ของวันอังคารที่ 14 ก.พ.นี้ โดยเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ต่างจังหวัดพอดี ซึ่งจะทำให้เรามีเวลาว่างในการทำงานได้เต็มที่ และจะมีเวลาให้คณะทำงานใช้เวลา 1 สัปดาห์จากนี้ไป ตนคิดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียววยาที่ชัดเจนในสัปดาห์หน้า เพื่อที่จะรายงานกลับไปทางปคอป.ต่อไป อย่างไรก็ตาม เราอยากทำงานให้มีลักษณะที่ได้ข้อมูลครบมากกว่าตาบอดคลำช้าง ไม่ทราบเลยว่าใครมีสถานะทางคดีอยู่อย่างไร มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้จากตัวเลขข้างต้นของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุพลภาพจากทุกฝ่าย ขณะนี้มีจำนวน 2,000 ราย และตนคิดว่าไม่ใช่ทั้ง 2,000 ราย ที่มีสถานะทางคดีหรือเกี่ยวข้องทางคดีอาญาทั้งหมด จึงต้องขอเวลาหาข้อมูลที่ชัดเจน

นายธงทองกล่าวต่อว่า สำหรับการพูดคุยในคณะกรรมการที่มีความชัดเจน คือ เรื่องของคำว่า การชดเชย กับการเยียวยา คณะกรรมการของเราไม่ใช่การพิจารณาเรื่องของการกระทำละเมิดปกติตามมาตรา 420 ประมวลแพ่ง แต่คำนวณตามเกณฑ์การเยียวยาของภาครัฐ จึงอยู่ในกรอบความคิดการทำงานของคณะอนุกรรมการ ภายใต้มติของ ครม.ที่ให้หลักเกณฑ์มา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าบุคคลที่มีคดีอยู่จะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ นายธงทองกล่าวว่า จะต้องทราบข้อเท็จจริงก่อน และจะมีการหารือกันในคณะกรรมการ ว่าการเยียวยาจะมีวิธีการอย่างไรหรือไม่เช่น ถ้าสถานะทางคดียังไม่มีข้อยุติ ในข้ออภิปรายก็อาจจะระบุว่ายังไม่จ่ายให้รอไว้ก่อน แต่ก็อย่าลืมว่าสถานะทางคดีถ้าถูกฟ้องก็ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายศาลจะตัดสินให้เป็นคนผิดเสมอไป หากในระหว่างการรอคำตัดสินเขามีความเดือดร้อนมาก จนวันสุดท้ายศาลตัดสินว่าเขาไม่ผิด ความเดือดร้อนตรงนี้จะทำให้เขาทวีความรุนแรงมากขึ้น เราควรจะตัดสินอย่างไร หรือในเรื่องฐานข้อหาที่ฟ้องอาจฟ้องข้อหารุนแรงแต่ไม่ง่ายต่อการพิสูจน์ คนเหล่านั้นก็จะได้รับผลหนัก ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงต้องขอเวลาเก็บข้อมูลและพิสูจน์ก่อน ส่วนการเริ่มจ่ายเงินนั้นตนคาดว่าสัปดาห์หน้าการเก็บข้อมูลต่างๆ หน้าจะจบ และภายในสัปดาห์หน้าปลายอาทิตย์น่าจะได้ข้อสรุปรายงานปคอป.ได้

เมื่อถามว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ที่คณะ ปคอป.แนะนำว่าอาจจะต้องมีการใช้เกณฑ์ของภาคใต้ด้วย เพราะขณะนี้หลักเกณฑ์ของเหยื่อทางการเมืองกับภาคใต้ยังแตกต่างกันมาก นายธงทองกล่าวว่า ตนคงตอบในส่วนนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในกรอบหน้าที่ของอนุกรรมการชุดนี้ที่จะให้ความเห็น เราได้รับโจทย์มาในเรื่องนี้อย่างเดียว ไม่ได้รับโจทย์ให้ดูทุกเหตุการณ์ในประเทศไทย ส่วนตัวเลขโดยรวมทุกเหตุการณ์คาดว่าผู้เสียชีวิตจะไม่เกิน 100 ราย

เมื่อถามว่าจะให้โอกาสผู้ที่เสียหายมาให้ข้อมูลหรือไม่ นายธงทองกล่าวว่า คงไม่เป็นไร เพราะมีข้อมูลที่อยู่ในภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว น่าจะชัดเจน ส่วนกรณีผู้ที่ได้รับเงินชดเชยไปบ้างแล้ว จากมติ ครม.ก็จะมีการหักจำนวนนั้นออกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น