ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สถานะทางการเงินของรัฐบาลอยู่ในสภาวะที่ “ไม่มีกระแสเงินสดมาลงทุน” เนื่องจากภาระหนี้สินในอดีต
โดยเฉพาะหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท และหนี้สาธารณะของรัฐบาล
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่มีเงินสำหรับไปใช้ตามนโยบายประชานิยมเร่ขายฝันได้
ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ การโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับผิดชอบ
จนต้องมีการออกพระราชกำหนดรวม 4 ฉบับ
ประเด็นที่สำคัญคือ การบังคับให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินให้แก่สถาบันคุ้มครองเงินฝากมากกว่าเดิม 0.4 %
จนถูกสมาคมธนาคารไทยคัดค้าน เพราะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น
“หนี้นี้ควรถือเป็นภาระของประเทศที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือแก้ไข ซึ่งสมาชิกต่างก็เต็มใจร่วมมืออย่างดี แต่กำหนดให้ธนาคารรับภาระเพียงฝ่ายเดียว สมาคมเห็นว่าไม่ยุติธรรม และจะเป็นผลเสียกับประเทศในระยะยาว” นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย
กล่าว
นายธวัชชัย ให้เหตุผลถึงความไม่ยุติธรรมว่า หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น เป็นผลจากการดำเนินนโยบายของทางการ ในขณะที่ธนาคารที่เปิดดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีส่วนสร้างความเสียหาย ที่สำคัญธนาคารส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่เปิดดำเนินการอยู่ต่างก็แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง การเรียกเก็บเงินจากธนาคารด้วยเหตุผลเป็นผู้ ก่อหนี้ หรือได้รับประโยชน์จากหนี้จึงไม่จริงและไม่ยุติธรรม
การแก้ไขปัญหาหนี้เหล่านั้น ยังไม่เพียงพอสำหรับ “สายตามันวาว” ในงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล
“วีรพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ก็อยากใช้เงินนับแสนล้านบาทภายใต้การอนุมัติของ กยอ. ได้เสนอแนวคิดใช้กองทุนวายุภักษ์ไประดมทุนจากประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำไปใช้ซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่กระทรวงการคลังถือเกินร้อยละ 50 เพื่อให้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 และพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ประมาณกันว่า ซื้อสัก 2 % เพียงเพื่อให้พ้นนิยามความเป็น “รัฐวิสาหกิจ”
การกระทำดังกล่าวจะมีผลทำให้หนี้ของ ปตท. ที่มีอยู่ 7 แสนล้านบาท จะไม่รวมเป็นหนี้สาธารณะ ขณะที่หนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 2 แสนล้านบาท
วีระพงษ์ อ้างว่าเป็นการช่วยลดภาระหนี้สาธารณะร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
แต่ภาษาบัญชีเขาเรียกว่า “ตกแต่งบัญชี” นั่นคือ คำวิจารณ์อย่างรุนแรงของ “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรมว.คลัง นักเรียนทุนทางบัญชีของแบงก์ชาติ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันหนี้รัฐวิสาหกิจมีอยู่ประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ที่รัฐค้ำประกัน 5.41 แสนล้านบาท หนี้สินรัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน 5.17 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น ปตท. และการบินไทย
โดยปตท.มีหนี้ 2.52 แสนล้านบาท การบินไทยมีหนี้ 1.32 แสนล้านบาท รวมทั้งสองแห่งแล้วมีหนี้สิน 3.7 แสนล้านบาท ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้น พ.ย. 2554 อยู่ที่ 4.30 ล้านล้านบาท หรือ 40.54 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากเดือนก่อน 3.31 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3.08 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5.70 พันล้านบาท เป็นหนี้ รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.57 พันล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินรัฐบาลค้ำประกัน 1.54 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 401 ล้านบาท หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ลดลง 3.04 หมื่นล้านบาท
“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รมว.คลัง คนใหม่ ตีปีกยอมรับข้อเสนอของ ดร.วีรพงษ์ ทันที เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลนับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งด้วย
“ แม้ว่ามาตรฐานสากลให้นับหนี้รัฐวิสาหกิจเป็นหนี้สาธารณะ แต่เห็นว่าหนี้สาธารณะ ควรนับเฉพาะหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อการขาดดุลงบประมาณ หรือลงทุนเท่านั้น ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจ ไม่ควรนับ เพราะไทยยังมีรัฐวิสาหกิจจำนวนมากไม่เหมือนต่างประเทศที่มีรัฐวิสาหกิจน้อย”
ข้อแก้ต่างของกิตติรัตน์ ที่หวังสร้างประโยชน์ให้รัฐบาลฝ่ายเดียว
วีรพงษ์ ตอบโต้คำวิจารณ์ของธีระชัย ที่ระบุว่า การขายหุ้น รสก. อาจเป็นการซุกหนี้ และอาจเกิดวิกฤติแบบประเทศกรีซว่า “คงเข้าใจผิด เพราะกรณีกรีซ และไทยคนละกรณีกัน พวกศิษย์เก่าแบงก์ชาติ ก็มีความคิดคับแคบแบบนี้ ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวโลกภายนอก”
นั่นทำให้ “ธีระชัย” เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตอกย้ำเรื่องนี้ว่า “เรียนจบด้านบัญชี และเป็นชาร์เตอร์แอคเคาน์แตนท์ ในอังกฤษ ตามหลักการบัญชีสากลที่เรียนมานั้น เขาย้ำให้แสดงตัวเลขตามความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด โดยให้ยึดเนื้อหาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนรูปแบบกฎหมาย หรือข้อความในสัญญานั้นสำคัญเป็นรอง ซึ่งพูดง่ายๆ คือ เขาให้แสดงข้อมูลในบัญชีตามจริง ไม่ใช่เปิดให้ทำข้อตกลงกันหลอกๆ แล้วก็มั่วตัวเลข
“ แม้ลดหุ้นเหลือ 49 % แต่หากรวมกับกองทุนวายุภักษ์แล้วยังเกิน 50 % อยู่ กรณีเช่นนี้ในข้อเท็จจริง จะทำให้อำนาจในการควบคุมของรัฐบาลลดลงไปจริงๆ หรือเปล่า หลอกตัวเอง หรือหลอกคนอื่น ซึ่งภาพต่อบุคคลภายนอก รวมถึงความรับผิดชอบก็ยังจะเหมือนเดิม”
ธีระชัย ตอกย้ำการแต่งบัญชีหลอกคนดูว่า “ตามหลักบัญชีสากลหนี้สาธารณะจะยังไม่ลดลง เว้นแต่การขายหุ้นออกไปให้แก่บุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอย่างแท้จริง แต่แนวทางนี้นักบัญชีเขาเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า การตกแต่งบัญชี หรือภาษาอังกฤษว่า window dressing คือการทำให้หน้าต่างที่แสดงสินค้าดูสวยหรู แต่เป็นการบังหน้าปัญหาที่เละเทะ ที่ซ่อนอยู่ภายในร้าน ซึ่งตัวอย่างของกรีซก็เห็นแล้วว่า หากพยายามซ่อนตัวเลขหนี้สาธารณะ และภายหลังถูกจับได้ ก็จะไม่มีใครเชื่อถือเครดิตของประเทศอีกต่อไป เป็นอันตรายอย่างมาก ขอเตือนไว้ ”
ที่สำคัญ “จักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้ความเห็นแย้งข้อเสนอของวีรพงษ์ ว่า “หากให้คลังขายหุ้นออกไป 2 % จริง ก็ไม่มีผลให้หนี้สาธารณะลดลงมากนัก เพราะหนี้ ปตท. และการบินไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นภาระต่องบประมาณอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน”
นอกจากนั้น ธีระชัย ยังแผลงฤทธิ์แสดงทักษะทางตัวเลขบัญชี บ่งบอกให้สังคมเห็นว่า “ความเร่งด่วนของร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ” ไม่จริง
ธีระชัย ได้เขียนบทความลงในเฟสบุ๊ก ในหัวข้อ “วินัยการคลัง กับการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะ” ว่า มีคนถามผมว่า การที่ผมไม่เห็นด้วยกับขบวนการโยกหนี้สาธารณะนั้น แสดงว่าผมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ผมเห็นด้วยว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องกู้เงิน เพื่อใช้พัฒนาระบบบริหารน้ำและระบบขนส่ง เพราะการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่ม หากใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์จริงๆ หากไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และหากทำให้ประเทศมีความสามารถในการหารายได้ที่ยั่งยืนมั่นคงมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ ขอย้ำว่าตนไม่ขัดข้อง หากรัฐบาลจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ หากจะเป็นกรณีที่ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นการโอนอำนาจผูกขาดของรัฐวิสาหกิจไปให้แก่เอกชนเฉพาะกลุ่ม แต่ประเด็นที่ตนต้องการชี้ ก็คือ ขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะของไทยซึ่งมีประมาณร้อยละ 42 ของรายได้ประชาชาตินั้น ไม่สูงเท่าใด ระดับหนี้ที่สูงคือร้อยละ 60 ดังนั้น ในวันนี้ รัฐบาลยังจะสามารถกู้ได้อีกเกือบ 2 ล้านล้านบาท โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นในตลาดเงินตลาดทุน ไม่มีความจำเป็นต้องไปซ่อนตัวเลขให้ดูต่ำกว่าจริง ก็ยังสามารถกู้ได้ไม่ยาก
ต่อมาธีระชัย ยังเขียนบทความลงในเฟสบุ๊กอีกว่า "อัตราส่วนภาระหนี้ 9.33 % เป็นผลจากพระราชกำหนดหรือเปล่า" โดยมีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า
ปัญหาเรื่องนี้ คือในการพิจารณาร่างพระราชกำหนด เกี่ยวกับหนี้กองทุนฟื้นฟูนั้น รองนายก (นายกิตติรัตน์ ) แจ้งครม.ว่า อัตราภาระหนี้ต่องบประมาณเท่ากับร้อยละ 12 จึงห่างจากเพดานร้อยละ 15 ไม่มากนัก ซึ่งถ้าข้อมูลเป็นดังนี้จริง ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วน
“แต่ภายหลัง ก่อนผมพ้นตำแหน่ง 1 วัน ผมพบว่าอัตราส่วนดังกล่าวไม่ใช่ร้อยละ 12 แต่เป็นเพียงร้อยละ 9.33 จึงทำให้เหตุผลความเร่งด่วนหมดไป อย่างไรก็ตาม รองนายก (นายกิตติรัตน์) อาจจะมีประเด็นอื่นๆ ที่ยังมีเหตุผลความเร่งด่วนอยู่อีกก็ได้นะครับ”
กิตติรัตน์ ถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่เข้าใจในส่วนนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง แต่ยอมรับว่าอาจเป็นเพราะไม่ได้สื่อสารกัน
แต่คนที่ทำให้ข้อขัดแย้งเชิงตัวเลขระหว่าง 9.33 % กับ 12 % ลดดีกรีลง คือ “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)
เขาบอกว่า “หากดูเฉพาะงบประมาณในปี 2555 สัดส่วนการชำระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 9.33 % โดยเป็นการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ 2.22 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่นายธีระชัยโพสต์ในเฟซบุ๊ก แต่ในการอ้างอิงตัวเลขที่จะใช้กู้เงินนั้น ต้องใช้ค่าเฉลี่ยช่วง 10 ปีย้อนหลัง ซึ่งอยู่ในระดับ 12-13 % เป็นไปตามที่นายกิตติรัตน์ ใช้อ้างอิง”
เอาเป็นว่าถูกทั้งสองฝ่าย แล้วความจำเป็นในการเรื่อง “เร่งด่วน” ที่จะต้องออกเป็นพระราชกำหนดนั้น
ยังจะเร่งด่วนอยู่หรือไม่ ???
ศาลเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณา !!