“กิตติรัตน์” ยันแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป่านกหวีดลงมือทำทันที ต้นเดือน ก.พ.นี้ พร้อมตั้งกองทุนประกันภัย 5 แสนล้าน สร้างความเชื่อมั่น เพราะรัฐทำเองคิดเบี้ยประกันแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช้การคำนวณจากความตกอกตกใจของเหยื่อน้ำท่วม เผย งานแรกในตำแหน่ง รมว.คลัง เร่งผลักดัน พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมดินหน้าสานต่องานจาก “ธีระชัย” ย้ำ ไม่ได้ซดเกาเหลาตามที่เป็นข่าว แจงผลหารือ ส.แบงก์ ยอมเก็บค่าต๋งแบงก์รัฐส่งกองทุนฟื้นฟูฯ เห็นพ้อง “ดร.โกร่ง” ลดถือหุ้น “ปตท.-ทีจี” ลดแบกหนี้ให้ รสก.เพราะหนี้สาธารณะที่แท้จริง ควรเกิดขึ้นจากการก่อหนี้ของ รบ.ตามนโยบายกระตุ้น ศก.เท่านั้น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศด้านการบริหารจัดการน้ำท่วม โดยยืนยันว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องของงบประมาณและรายละเอียดของแผนฯ ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มการก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นี้
ส่วนการซ่อมแซมประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำจะดำเนินการทันทีหลังได้รับงบประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน คือ การจัดตั้งกองทุนประกันภัย ซึ่งอยู่ระหว่างรอ 1 ใน 4 พ.ร.ก.การเงิน ให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
“หลังจากรัฐบาลมีแผนลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำแล้ว เชื่อว่า จะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น โดยวงเงินประกันภัยทั้งระบบ คาดว่า จะอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรทุนประเดิมจำนวน 5 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นรัฐบาลจะทยอยจะระดมทุนภายในประเทศเองโดยไม่รอการระดมทุนจากภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย”
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลตั้งกองทุนประกันภัยขึ้นมาเองจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นมาอีก และรัฐบาลสามารถกำหนดเบี้ยประกันอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่คิดคำนวณจากความตกอกตกใจเหมือนบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ
สำหรับงานเร่งด่วนหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น รมว.คลัง นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ลำดับแรกเป็นเรื่องการผลักดันออก พ.ร.ก.การเงิน ทั้ง 4 ฉบับให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และเดินหน้าสานต่องานจาก รมว.คลัง คนเดิม ซึ่งไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกันตามที่เป็นข่าว
ส่วนข้อเสนอเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ได้หารือกับประธานสมาคมธนาคารแล้วก็เห็นด้วย ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นรายละเอียดที่ไม่จำเป็นต้องไปตื่นตระหนก เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนั้นจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ต้องการให้รัฐบาลบริหารจัดการหุ้นของรัฐวิสาหกิจโดยผ่านกองทุนวายุภักษ์ แทนกระทรวงการคลัง ทั้งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศได้นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ โดยอาจจะโอนหุ้นไปให้กองทุนวายุภักษ์ถือครองแทน
“กรณีดังกล่าวจะเป็นผลทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับที่ถูกต้อง เพราะหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ไม่ควรนับเป็นหนี้สาธารณะ และถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่ก็จะพยายามทำให้ได้ภายในปีนี้ เพราะหนี้สาธารณะที่แท้จริง ควรเกิดขึ้นจากการก่อหนี้ของรัฐบาลตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเป็นการก่อหนี้ตามนโยบายการขาดดุลงบประมาณ” นายกิตติรัตน์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย