xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ค้านแปรรูป ปตท.เปิดช่องทุนครอบงำ ย้อนรัฐรายรับไม่พอยังมุบมิบกู้เงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง (แฟ้มภาพ)
อดีตรัฐมนตรีคลัง ค้าน “กิตติรัตน์” แปรรูป ปตท.ชี้ กลายเป็นธุรกิจผูกขาดให้เอกชนคิดทำกำไร เปิดช่องให้ทุนเข้าครอบงำบนความเดือดร้อนประชาชน ส่วนการบินไทยหนุนอ้างเคยปูทางเอาไว้ แต่ไม่หวังช่วยลดหนี้สาธารณะ ทั้งที่ยังกู้ได้อีก 2 ล้านล้าน ย้อนศรรัฐบาลเคยโจมตี ปชป.มาวันนี้บากหน้ากู้เงิน ทั้งที่รายรับไม่พอใช้หนี้ มุมมิบเหมือนออก พ.ร.ก.ฝากถาม “ยิ่งลักษณ์” โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ ครม.ชุดแรกมีไว้ทำอะไร อัดทุ่มงบมหาศาลลงไปเปล่าประโยชน์ จี้ยอมรับบริหารน้ำผิดพลาดก่อนนักลงทุนชิ่งหนี

วันนี้ (19 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ประกาศที่จะแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นของเอกชนภายในปีนี้ ว่า ในส่วนหลักการ การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นตนสนับสนุน แต่กรณี ปตท.เป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจผูกขาดในอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกครอบครัว คือ พลังงานทุกประเภท เพราะฉะนั้นการจะโอนอำนาจผูกขาดจากมือของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชน ไปให้เอกชนที่คิดทำกำไรอย่างเดียว เป็นเรื่องที่อันตรายต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งตนคิดว่ารัฐบาลต้องชี้แจงว่าจะปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างไร ที่อ้างว่าทำเพื่อลดหนี้สาธารณะเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะปัญหาหนี้สาธารณะในปัจจุบัน รัฐบาลก็รู้ดีว่ายังกู้เงินเพิ่มได้ตามความต้องการ ตามความจำเป็น สามารถกู้ได้อีก 2 ล้านล้านบาท โดยไม่กระทบวินัยการคลัง จึงไม่ทราบว่ารัฐบาลมีแผนจะกู้เท่าไหร่ และจะนำเงินไปทำอะไร

“ที่น่าเป็นห่วง คือ รัฐบาลได้ปล่อยเสรีให้ราคาก๊าซลอยตัว ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับ ปตท.และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรทางธุรกิจกับ ปตท.สอดคล้องกับการอนุมัติให้กระทรวงการคลังขายหุ้นให้เอกชน ชี้ ให้เห็นว่าเริ่มเข้าสู่การเปิดโอกาสให้ ปตท ทำกำไร บนความทุกข์ยากของประชาชนเต็มที่ เป็นประเด็นที่ผมมีความกังวล และเชื่อว่าเรื่องหนี้สาธารณะเป็นเพียงข้ออ้าง แต่การดำเนินการของรัฐบาลทั้งหมด เหมือนกับเป็นการเปิดช่องทางเพื่อให้ทุนเข้าไปครอบงำธุรกิจผูกขาดของ ปตท.มากกว่า จึงถือว่าอันตรายมาก และจะมีปัญหาประโยชน์ทับซ้อนตามมา ระหว่างอำนาจการเมืองกับอำนาจทุน ที่จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับ ปตท ผมขอย้ำว่าแม้จะแปรรูป ปตท เป็นของเอกชน หนี้ก็ยังอยู่ เพียงแต่หนี้ไม่ได้นับเป็นหนี้ของรัฐบาล แต่ก็ยังคงอยู่เป็นหนี้ของประเทศอยู่ดี” นายกรณ์ กล่าว

อดีตรัฐมนตรีคลัง ยังกล่าวถึงการแปรรูปการบินไทยให้เป็นของเอกชน ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ปูทางเอาไว้ เพราะการบินไทยมีความจำเป็นต้องแข่งขันกับบริษัทสายการบินทั้งใน และต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งในสมัยที่ตนเป็น รมว.คลัง ได้มีการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ให้ยอมรับเงื่อนไขในกรณีที่รัฐถือหุ้นไม่เกินครึ่งหนึ่ง ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเจ้าหนี้ เพราะมีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดแล้ว พร้อมที่จะรับสภาพการเป็นบริษัทเอกชน และการบินไทยไม่ได้เป็นธุรกิจผูกขาดเหมือน ปตท.ที่กระทบกับประชาชนโดยตรง แต่เมื่อรัฐจะให้เป็นบริษัทเอกชน ก็ต้องพิจารณาเรื่องเส้นทางการบินของการบินไทย ที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศและประโยชน์ของสังคม แต่ไม่ทำกำไรจะคงไว้อย่างไร แต่เมื่อการบินไทยเป็นบริษัทเอกชนก็ต้องทำใจว่า การตกลงเพื่อประโยชน์ในภาพใหญ่ของประเทศอาจทำได้ยากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมมาตรการรองรับการสูญเสียโอกาสในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลดเพดานปริมาณหนี้สาธารณะจากการแปรรูปการบินไทย และ ปตท.จะทำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ นายกรณ์ กล่าวว่า ความจริงเกือบไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะวงเงินกู้ที่เหลืออยู่ 2 ล้านล้านบาท เกินกว่าความจำเป็นที่ต้องกู้อยู่แล้ว ส่วนภาระต่องบประมาณของทั้งสองหน่วยงานไม่มี เพราะมีรายได้ชำระดอกเบี้ยของตนเอง ไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐ ซึ่งตนคิดว่ารัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ทำไมการบริหารประเทศจึงคิดแต่เรื่องของการกู้ ทั้งๆ ที่ใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นหลักโจมตีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด แต่วันนี้กลับอ้างความจำเป็นเรื่องการกู้ยืม มาเป็นเหตุผลอธิบายทุกอย่างที่ทำในวันนี้ อีกทั้งปัญหาในต่างประเทศก็เกิดจากวิกฤตหนี้สาธารณะ เพราะรายรับของรัฐบาลไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระหนี้ ซึ่งเป็นบทเรียนที่รัฐบาลควรจะได้พิจารณา ไม่ใช่คิดว่าจะกู้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้ที่จะมาชำระหนี้สะสม

ส่วนกรณีที่ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ออกมาเตือนว่าอาจจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกซ้ำรอยปี 2552 นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในภาวะเปราะบาง ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เพราะในยุโรปมีแนวโน้มว่าอัตราการขยายตัวจะติดลบ ในขณะที่จีนและอินเดียก็ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสหรัฐฯและญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้นตัว จึงถือว่าเป็นสภาวะที่เปราะบาง ดังนั้น ไทยต้องรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในเอาไว้ เพราะเป็นประเทศเล็ก ต้องมีหลักฐานยืนยันความมั่นคงที่ชัดเจนให้คู่ค้าเห็น เช่น เงินทุนสำรอง ระดับหนี้ ต้องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ จะทำตัวเหมือนเป็นประเทศใหญ่ มือใหญ่ หน้าใหญ่ กู้ได้ใช้เยอะ จะเป็นภัยอันตรายในอนาคต เพราะมีแต่แนวคิดใช้จ่ายโดยไม่สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

“รัฐบาลยังบอกไม่ได้ว่าการใช้เงินจะทำให้เกิดการคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร มุบมิบทำเหมือนกับการออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน เพราะหากไม่มีวาระซ่อนเร้นก็ไม่มีอะไรต้องปิดบัง แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อเท็จจริงต่อสาธารณะชน เหมือนตั้งใจให้คนไทยถูกมัดมือชก เป็นกากรระทำที่ขาดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ไม่ยอมรับการตรวจสอบ สกัดการเข้าไปมีส่วนร่วมของ ธปท.และสภา ซึ่งผมคิดว่าวิธีการทำงานเช่นนี้ จะทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอลง และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และมีคนเตือนมาโดยตลอด แต่รัฐบาลก็ยังดึงดันทำ จะอ้างว่าตัวเองมาจากเสียงข้างมาก ไม่ใช่คำตอบและเหตุผลเพียงพอ อีกทั้งจะใช้เสียงข้างมากมาสร้างความชอบธรรมกับทุกอย่างไม่ได้ เพราะเสียงข้างมากก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อรักษาความเป็นนิติรัฐ ไม่เช่นนั้นสังคมอยู่ไม่ได้ และ 15 ล้านก็ไม่ใช่เสียงข้างมากของประเทศ เป็นเสียงข้างมากในสภาเท่านั้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเคารพกฎเกณฑ์และกฎหมาย” นายกรณ์กล่าว

นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังกล่าวถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ เพื่อเข้าสู่โหมดฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า นายกฯ ต้องตอบคำถามว่าแล้ว ครม. ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจชุดแรกมีไว้ทำอะไร เพราะช่วงตั้งรัฐบาลก็ประกาศว่าชุดนี้จะเข้ามาทำหน้าที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน แต่วันนี้กลับมาอ้างว่าชุดที่สองจะมาทำหน้าที่นี้แทน แล้วชุดแรกตั้งมาทำไม ประเทศชาติเสียหาย เพราะชุดแรกไปแล้วเท่าไหร่ ตนคิดว่าไม่ว่าใครจะเข้ามา ขอให้ตั้งใจทำงาน แก้ปัญหาให้ประชาชน การที่ นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า ต่างชาติไม่มั่นใจ เพราะแผนบริหารจัดการน้ำไม่ชัดเจนนั้น สะท้อนว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณมหาศาลแค่ไหน แต่ถ้าไม่ยอมรับความจริงว่าปัญหาวิกฤตน้ำท่วมเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการ ก็ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้ เงินมหาศาลที่ทุ่มลงไปก็เปล่าประโยชน์ และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับแรกก่อนที่จะสายเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น