อดีต รมว.คลังยืนยันไม่ขัดข้องลดหุ้นรัฐวิสาหกิจ แต่หนี้สาธารณะยังไม่สูง กู้ได้ถึง 2 ล้านล้านไม่กระทบความเชื่อมั่น ไม่จำเป็นต้องตกแต่งหนี้สาธารณะให้ต่ำ กังขาแนวคิด “โกร่ง ต้มยำกุ้ง” ใช้กองทุนวายุภักษ์ซื้อหุ้น “ปตท.-การบินไทย” ให้พ้นรัฐวิสาหกิจ เปรียบโอนในครอบครัว แนะให้ยอมรับมีหนี้มาก ชี้วินัยการคลังละเอียดอ่อน หวั่นใช้การเมืองนำจะกลายเป็นอาร์เจนตินา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (21 ม.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala หัวข้อ วินัยการคลัง กับการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะ โดยกล่าวว่า มีคนถามตนว่าการที่ตนไม่เห็นด้วยกับขบวนการโยกหนี้สาธารณะนั้น แสดงว่าตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ตนเห็นด้วยว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องกู้เงิน เพื่อใช้พัฒนาระบบบริหารน้ำและระบบขนส่ง เพราะการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่ม หากใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์จริงๆ หากไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และหากทำให้ประเทศมีความสามารถในการหารายได้ที่ยั่งยืนมั่นคงมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ ขอย้ำว่าตนไม่ขัดข้องหากรัฐบาลจะลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ หากจะเป็นกรณีที่ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นการโอนอำนาจผูกขาดของรัฐวิสาหกิจไปให้แก่เอกชนเฉพาะกลุ่ม แต่ประเด็นที่ตนต้องการชี้ ก็คือ ขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะของไทยซึ่งมีประมาณร้อยละ 42 ของรายได้ประชาชาตินั้น ไม่สูงเท่าใด ระดับหนี้ที่สูงคือร้อยละ 60 ดังนั้น ในวันนี้ รัฐบาลยังจะสามารถกู้ได้อีกเกือบ 2 ล้านล้านบาท โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นในตลาดเงินตลาดทุน ไม่มีความจำเป็นต้องไปซ่อนตัวเลขให้ดูต่ำกว่าจริง ก็ยังสามารถกู้ได้ไม่ยาก
“ถ้าอย่างนั้น ทำไม่จึงมีความพยายามที่จะสำแดงตัวเลขหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง ผมเองไม่อยากกล่าวหาผู้ใดว่าคิดร้ายกับประเทศ แต่การที่ตัวเลขหนี้สาธารณะต่ำลงนั้น ย่อมจะมีผลทำให้รัฐบาลไม่มีแรงกดดันที่จะต้องหารายได้ และไม่มีแรงกดดันที่จะต้องขึ้นอัตราภาษี เพราะหากสำแดงตัวเลขหนี้สาธารณะตามเดิม ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลก็จะต้องขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หรือรายได้อื่นๆ ซึ่งย่อมจะทำให้พรรคการเมืองนั้นเสียคะแนน แต่หากสำแดงตัวเลขที่ต่ำลง รัฐบาลก็จะสามารถใช้นโยบายประชานิยมไปได้อีกเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนมีการกินการใช้ที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่พอเพียง ไม่ประหยัด สำคัญผิดว่าเราร่ำรวยกันแล้ว สำคัญผิดว่ายังไม่จำเป็นต้องเริ่มเก็บเงินมาเพื่อชำระหนี้” นายธีระชัยกล่าว
อดีต รมว.คลังกล่าวว่า วิธีการสำแดงหนี้สาธารณะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) มีการกำหนดคู่มือไว้ เรียกว่า Government Finance Statistics Manual 2001 ซึ่งระบุว่าหนี้สาธารณะ (Public Sector Debt) ประกอบด้วยหนี้ของรัฐบาล (General Government) และหนี้ขององค์กรสาธารณะ (Public Corporations) ซึ่งในประเทศไทย ได้มีการออก พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองหรือนักวิชาการบิดเบือนในการสำแดงหนี้สาธารณะ มาตรา 4 จึงได้กำหนดให้หนี้สาธารณะ หมายความว่า หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้ แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน
แต่เนื่องจากมาตรา 4 ได้กำหนดด้วยว่า รัฐวิสาหกิจ หมายความว่าบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่หน่วยงานของรัฐ มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ โดยให้คำนวณเฉพาะทุนตามสัดส่วนที่เป็นของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น จึงทำให้เกิดมีช่องว่างคิดว่า ถ้าโอนหุ้นไปให้กองทุนวายุภักษ์ จนกระทรวงการคลังถือต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็จะหลุดออกไปจากกฎหมายนี้ จะทำให้หนี้ของการบินไทยและ ปตท ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ หนี้สาธารณะจะลดลงเป็นระดับแสนล้าน ทำให้ตัวเลขหนี้ลดลงฉับพลัน ไม่ต้องชำระหนี้กันจริงๆ เช่นเดียวกับแนวคิดที่ต้องการจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
“แต่อย่าลืมว่ากองทุนวายุภักษ์นั้นมีกระทรวงการคลังควบคุมอยู่ การโอนหุ้นจึงเข้าลักษณะเป็นการโอนจากตั้วเฮีย (พี่ชายคนโต) ไปให้เสี่ยวเจ๊ (พี่สาวคนเล็ก) มันเป็นการโอนกันภายในครอบครัว ผมอาจจะหัวโบราณสักหน่อย แต่อยากจะแนะนำให้ทำแบบตรงไปตรงมาดีกว่าครับ หากมีหนี้มาก ก็ยอมรับว่ามาก และขอร้องให้ประชาชนก้มหน้าก้มตาช่วยกันหาเงินมาใช้หนี้ เรื่องวินัยการเงินการคลังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และต้องอิงวิชาการที่บริสุทธ์เป็นสำคัญ แต่หากเอาการเมืองนำ ระวังนะครับ วันหนึ่งจะต้องร้องเพลง Don’t cry for me Argentina กันทั้งประเทศ” นายธีระชัยกล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เสนอแนวคิดใช้กองทุนวายุภักษ์ไประดมทุนจากประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำไปใช้ซื้อหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่กระทรวงการคลังถือเกินร้อยละ 50 เพื่อให้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 และพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ มีผลทำให้หนี้ของ ปตท.ที่มีอยู่ 7 แสนล้านบาทจะไม่รวมเป็นหนี้สาธารณะ ขณะเดียวกันมีแนวคิดที่จะซื้อหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จากกระทรวงการคลังให้เหลือไม่เกินร้อยละ 49 เช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีหนี้อยู่ 2 แสนล้านบาท นายวีระพงษ์อ้างว่าเป็นการช่วยลดภาระหนี้สาธารณะร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP เพื่อขอกู้เงินมาพัฒนาประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น โดยเตรียมหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในการประชุม กยอ.อีกครั้งครั้งหน้า โดยที่ก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ประกาศว่าจะเดินหน้าดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้